Head GISDTDA

‘เศรษฐกิจอวกาศ’ กับการสร้างจุดเปลี่ยนประเทศไทย

‘เศรษฐกิจอวกาศ’ แหล่งโอกาสที่โลกจับตามอง


   ปัจจุบัน เศรษฐกิจอวกาศ หรือ Space Economy เป็นโอกาสทางธุรกิจแห่งอนาคตที่หลายประเทศกําลังจับตามอง การเติบโตของเศรษฐกิจอวกาศในปัจจุบันได้กลายเป็นระบบโครงสร้างพื้นฐานสําคัญในหลายประเทศ ไม่ว่าจะเป็นการส่งผ่านข้อมูล การให้บริการอินเทอร์เน็ต ระบบนําทางในรถยนต์ สัญญาณโทรศัพท์ ข้อมูลสภาพอากาศ การจัดการและวางแผนฉุกเฉิน และข้อมูลด้านการเกษตร เป็นต้น ในต่างประเทศได้คาดการณ์อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับอวกาศจะมีแนวโน้มสูงถึง 30 ล้านล้านบาท ในปี 2040 โดยในปี 2021 มีการลงทุนในบริษัทสตาร์ทอัพด้านอวกาศมากกว่า 236,000 ล้านบาท (ข้อมูลจากบริษัทวิจัย ยูโรคอนเซาท์)

 

โอกาสของประเทศไทยในเศรษฐกิจอวกาศ

   ปัจจุบันภาพรวมของการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศของประเทศไทยมีความน่าสนใจ มากขึ้นเรื่อย ๆ หลังจากคณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติในหลักการร่างพระราชบัญญัติกิจการอวกาศ เมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 2564 และเริ่มมีนโยบายจากภาครัฐเป็นแนวทาง ยิ่งทําให้ภาคเอกชนและภาคการวิจัยตื่นตัวกันมากขึ้น

   สําหรับประเทศไทย รัฐบาลกําหนดให้อุตสาหกรรมอวกาศเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย (10 S-Curve) ขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคตของประเทศ (New Engine of Growth) ประเทศไทยมีโครงสร้างหน่วยงานที่ร่างนโยบายอวกาศ หน่วยงานด้านสารสนเทศ หน่วยงานวิจัย รวมทั้งการตั้งงบประมาณในส่วนที่รองรับการทํางานด้านอวกาศ ซึ่งความพร้อมของประเทศไทยคงไม่ใช่การสร้างยานอวกาศแข่งกับมหาอํานาจ แต่เป็นการคว้าโอกาสจากเทคโนโลยีใหมรเพื่อสร้างจุดเปลี่ยนของประเทศ ปัจจุบันประเทศไทยมีธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอวกาศและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องกว่า 35,600 กิจการ


ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศได้ประมาณ 56,122 ล้านบาทต่อปี

THEOS-2 กับการสนับสนุนนโยบายเศรษฐกิจอวกาศไทย

   GISTDA หรือสํานักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หนึ่งในผู้ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอวกาศของไทย และผู้ให้บริการด้านภูมิสารสนเทศด้วยเทคโนโลยีอวกาศ จับมือกับหลายภาคส่วน ทั้งภาครัฐและเอกชน รวมถึงภาคการศึกษาทั้งในและนอกประเทศเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ และแลกเปลี่ยนความรู้และประสบการณ์ด้านเทคโนโลยีอวกาศอย่างเป็นรูปธรรมกับผู้ที่อยู่ในสายงานอุตสาหกรรมอวกาศ

   โครงการพัฒนาระบบดาวเทียมสํารวจโลก หรือ THEOS-2 ไม่เพียงแต่ช่วยพัฒนาโครงสร้างอุตสาหกรรมและเศรษฐกิจของประเทศ แต่ยังเป็นการมุ่งพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ของประเทศให้มีทักษะ และองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยี เป็นการลงทุนระยะยาวเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับประเทศไทย เตรียมความพร้อมรองรับเศรษฐกิจอวกาศผ่านการสร้างนิเวศอุตสาหกรรมอวกาศ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมสําคัญที่ขับเคลื่อนกิจการต่าง ๆ ในทุกมิติของสังคมปัจจุบัน สอดรับกับกระแสเศรษฐกิจอวกาศของโลกในอนาคต

   ดังนั้น นอกเหนือจากการพัฒนาเทคโนโลยีและบุคลากรแล้ว การสนับสนุนของภาครัฐ การลงทุนในภาคเอกชน รวมถึงการเข้าใจและเข้าถึงเทคโนโลยีของภาคประชาชน นับเป็นปัจจัยสำคัญสําหรับประเทศไทยในปัจจุบันเพื่อให้สอดคล้องกับกระแสความเป็นไปของโลกและก้าวสู่เศรษฐกิจอวกาศระดับโลกได้

   เทคโนโลยีอวกาศทุกวันนี้ไม่ได้เป็นเรื่องที่ซับซ้อนและไกลตัวอีกต่อไป การคว้าโอกาสจาก ‘เศรษฐกิจอวกาศ’ จะสร้างจุดเปลี่ยนให้ประเทศไทยได้แค่ไหน ขึ้นอยู่กับความพร้อมและความร่วมมือจากหลายภาคส่วนเช่นกัน


อ้างอิง

https://www.nia.or.th/New-Space-Economy 

https://www.ryt9.com/s/iq03/3239089

amorn.pet 3/10/2565 0
Share :