Head GISDTDA

SPACE Update : ข้อมูลดาวเทียมเพื่อการบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ตอนที่ 1: ติดตามสถานการณ์แหล่งน้ำด้วยข้อมูลดาวเทียม

 

เราคงเคยได้ยินกันมาตั้งแต่ตอนเด็ก ๆ ใช่ไหมครับว่าโลกของเราประกอบไปด้วยน้ำกว่า 70% และยิ่งในช่วงที่ฝนตกหนักและบ่อยขนาดนี้อาจทำให้เผลอคิดว่าทรัพยากรน้ำเป็นสิ่งที่ไม่มีวันหมดไป ซึ่งเป็นเรื่องที่ผิดครับ

 

เพราะไม่ใช่แหล่งน้ำทุกแหล่งบนโลกที่จะสามารถนำมาใช้อุปโภคบริโภคได้ ดังนั้นการจัดสรรทรัพยากรน้ำจึงเป็นเรื่องจำเป็นมาก ๆ เลยครับ โดยหนึ่งในวิธีที่จะใช้จัดการทรัพยากรน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพคือการใช้ข้อมูลจากดาวเทียมนั่นเอง

 

ข้อมูลจากดาวเทียมสามารถติดตามสถานการณ์ของน้ำต้นทุนจากแหล่งน้ำในเรื่องที่ตั้ง ประเภทของแหล่งน้ำโดยใช้ได้ทั้งระบบเชิงแสง (Optical) หรือระบบ SAR (Synthetic Aperture Radar: การถ่ายภาพด้วยคลื่นวิทยุ ซึ่งมีจุดเด่นคือสามารถบันทึกภาพได้ทุกสภาพอากาศ เช่น มีเมฆมาก และถ่ายได้ทั้งกลางวันและกลางคืน)

 

สำหรับข้อมูลจากระบบ SAR หลังจากใช้เทคนิคการประมวลผลของข้อมูลภาพร่วมกับการใช้ข้อมูลเซ็นเซอร์วัดระดับน้ำแล้วจะรู้ระดับน้ำในแหล่งน้ำต่าง ๆ และความสามารถในการกักเก็บน้ำเพื่อประเมินถึงปริมาณน้ำในแต่ละช่วงเวลาของปีเพื่อจะได้ทราบถึงการเปลี่ยนแปลงในแต่ละช่วงเวลาซึ่งข้อมูลนี้มีความสำคัญมากสำหรับนำไปใช้ประโยชน์ต่อการวางแผนจัดสรรทรัพยากรน้ำต่อไป

 

นอกจากนั้นข้อมูลจาก THEOS-2 ยังยกระดับข้อมูลที่สามารถตรวจจับได้ด้วยความสามารถของมันที่ให้ข้อมูลความละเอียดสูงในระดับ 50 เซนติเมตร ทำให้สามารถตรวจจับได้ถึงแหล่งน้ำที่มีวัชพืชหนาแน่น ซึ่งอาจจะทำให้เกิดแหล่งน้ำเน่าเสียอันเนื่องจากการทับถมของวัชพืชที่ตาย เมื่อมีข้อมูลของแหล่งน้ำประเภทนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะสามารถวางแผนอนุรักษ์น้ำให้สะอาดปราศจากมลพิษเพื่อเพิ่มแหล่งน้ำต้นทุนได้อีกทางหนึ่ง

 

การตรวจสอบข้อมูลของแหล่งน้ำ การคำนวณปริมาณน้ำของแหล่งน้ำต้นทุน และการตรวจสอบแหล่งน้ำที่สามารถบำบัดเพื่อเพิ่มจำนวนและคุณภาพของแหล่งน้ำต้นทุนคือจุดเริ่มต้นของการจัดการทรัพยากรน้ำโดยใช้ข้อมูลจากดาวเทียมครับ ในบทความถัดไปเรามีข้อมูลเพิ่มเติมว่าหลังจากคำนวณปริมาณน้ำที่มีอยู่แล้วข้อมูลจากดาวเทียมจะสามารถนำข้อมูลส่วนไหนมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการทรัพยากรน้ำได้อีก แฟนเพจทุกท่านรอติดตามกันได้เลยครับ

 

ขอบคุณข้อมูลจาก นายกัมปนาท ดีอุดมจันทร์ หัวหน้าฝ่ายทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อม และภัยพิบัติ

amorn.pet 25/8/2565 0
Share :