Head GISDTDA

GISTDA จับมือ กสทช. เดินหน้ารับฟังความคิดเห็นด้านการใช้ประโยชน์จากดาวเทียมวงโคจรต่ำ

GISTDA จับมือ กสทช. เดินหน้ารับฟังความคิดเห็นด้านการใช้ประโยชน์จากดาวเทียมวงโคจรต่ำ
.
เมื่อวันที่ 25 กรกฎาคม 2566 ที่ผ่านมา GISTDA ร่วมกับกองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมเพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ กทปส. ภายใต้ สำนักงานกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. ร่วมจัดประชุมรับฟังความเห็นเฉพาะกลุ่ม (Focus Group) ด้านการใช้ประโยชน์จากดาวเทียมวงโคจรต่ำ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์และพัฒนาองค์ความรู้ที่เกี่ยวข้องกับการใช้ประโยชน์จากดาวเทียมวงโคจรต่ำ โดยมีหน่วยงานภาครัฐและเอกชนเข้าร่วม ณ ห้องลาดพร้าว1-3 โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว กรุงเทพฯ 
.
การจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้เป็นครั้งที่ 4 แล้ว ซึ่งต่อเนื่องมาจากช่วงเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ครั้งนี้จะมี 2 เรื่องที่สำคัญคือ การนำเสนอ หัวข้อ “แนวทางการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมด้วยดาวเทียมสื่อสารวงโคจรต่ำ” โดย ศ.ดร. มิตรชัย จงเชี่ยวชำนาญ หัวหน้าทีมวิจัยด้านเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมอวกาศ และการเสวนาในหัวข้อ “ประเทศไทยกับการศึกษาและการสื่อสารทางไกลผ่านดาวเทียมวงโคจรต่ำ” โดยได้รับเกียรติจาก ศ.ดร. มิตรชัย จงเชี่ยวชำนาญ หัวหน้าทีมวิจัยด้านเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมอวกาศ คุณเกริก วิไลมาลย์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหาร บริษัท ชิพ เอ็กซ์เปิร์ท เทคโนโลยี จำกัด คุณชัยวัฒน์ จันธิมา บรรณาธิการโทรทัศน์ชุมชนพะเยาทีวีและหัวหน้าทีมวิจัยโครงการนำร่องสตูดิโอเคลื่อนที่โทรทัศน์ชุมชน  โดยมี ดร.ดำรงค์ฤทธิ์ เนียมหมวด รองผู้อำนวยการ GISTDA เป็นผู้ดำเนินรายการ
.
ข้อสรุปจากการประชุมรับฟังความเห็นเฉพาะกลุ่ม ด้านการใช้ประโยชน์จากดาวเทียมวงโคจรต่ำ GISTDA จะนำไปวิเคราะห์และจัดทำข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย แนวทางการอนุญาตกำกับดูแลและแนวทางการส่งเสริมการแข่งขันที่เหมาะสมในการให้บริการดาวเทียมประเภทวงโคจรไม่ประจำที่ หรือ NGSO ของประเทศไทย และนโยบายการส่งเสริมการเกิดระบบนิเวศเศรษฐกิจอวกาศด้านดาวเทียมของประเทศไทยต่อไป
.
 #ดาวเทียมเล็กน่าสนใจอย่างไร?
ดาวเทียมเล็กประเภทวงโคจรไม่ประจำที่ หรือ Non-Geostationary Satellite Orbit (NGSO) เป็นดาวเทียมที่มีน้ำหนักไม่เกิน 500 กิโลกรัม โคจรในวงโคจรต่ำ (Low Earth Orbit) และวงโคจรปานกลาง (Medium Earth Orbit) ประเภทการใช้งานมีรูปแบบที่หลากหลาย เช่น ดาวเทียมสำรวจทรัพยากร ดาวเทียมนำร่อง ดาวเทียมอุตุนิยมวิทยา ดาวเทียมเพื่อการทดลองทางวิทยาศาสตร์ ดาวเทียมให้บริการอินเทอร์เน็ตบรอดแบนด์ และอินเตอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (Internet of Things-IoT) ดาวเทียมให้บริการวิเคราะห์ข้อมูล (Data Analytics) เป็นต้น ดาวเทียมเล็กมีต้นทุนในการพัฒนาที่ต่ำลง ทำให้ผู้ประกอบการสามารถเข้าถึงการพัฒนาและใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น ทำให้เกิดการต่อยอดพัฒนาประสิทธิภาพการใช้งานร่วมกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมภาคพื้นดินได้มากขึ้น ดึงดูดกลุ่มนักลงทุนและผู้ประกอบการ Start-Up ให้เกิดการลงทุนและพัฒนาบริการดาวเทียมเชิงพาณิชย์ในรูปแบบใหม่มากขึ้น ประโยชน์ที่เห็นได้อย่างเด่นชัดคือ 
 มีการรับส่งข้อมูลได้รวดเร็วขึ้น การสื่อสารไม่ขาดตอนมีความต่อเนื่องในทุกพื้นที่บนโลกและตลอดเวลา แม้ในที่ที่ห่างไกลโดยเฉพาะอุปกรณ์เคลื่อนที่ระยะทางไกล เช่น เครื่องบิน เรือขนส่งสินค้า
 อุปกรณ์รับ-ส่งสัญญาณมีขนาดเล็กลง เหมาะสำหรับอุปกรณ์สื่อสารแบบเคลื่อนที่
 ประชาชนทุกคนสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ตได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลหรือยากต่อการเข้าถึงการสื่อสารในพื้นที่ประสบภัยพิบัติไม่ล่ม คนในเมืองก็จะมีตัวเลือกช่องทางเข้าสู่อินเทอร์เน็ตเพิ่มขึ้น ส่งข้อมูลขนาดใหญ่ได้เร็วยิ่งขึ้น ทำให้สามารถเข้าถึงการศึกษา ความรู้ อาชีพ และโอกาสต่างๆ ได้อย่างเท่าเทียม
 กลุ่มผู้ประกอบการสามารถประยุกต์ใช้อุปกรณ์รับ-ส่งสัญญาณที่เล็กลงนั้นเกิดเป็นนวัตกรรมใหม่ เช่น อุปกรณ์อัจฉริยะควบคุมระยะไกล การควบคุมเครื่องจักรในโรงงาน
 การพัฒนาเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ ทำให้การสื่อสารกับอุปกรณ์เซนเซอร์ตรวจวัดต่างๆทำงานได้รวดเร็ว แม่นยำ นำไปสู่การได้มาซึ่งข้อมูลที่มีความถูกต้องสูงมากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะเมื่อมีการทำงานร่วมกัน


 

Nattakarn Sirirat 25/7/2566 0
Share :