Head GISDTDA

11 มีนาคม 2567 เวลา 09.33 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปศูนย์ประกอบและทดสอบดาวเทียมแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี

วานนี้ (11 มีนาคม 2567) เวลา 09.33 น. สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินไปศูนย์ประกอบและทดสอบดาวเทียมแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี

ศูนย์แห่งนี้เป็นศูนย์ที่มีมาตรฐานระดับสากลและมีความทันสมัย เพื่อรองรับการพัฒนาชิ้นส่วนอุปกรณ์สำหรับการสร้าง การประกอบ และการทดสอบดาวเทียมที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 10 กิโลกรัมถึง 500 กิโลกรัม และสามารถรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมดาวเทียมของโลกในอนาคต ปัจจุบันศูนย์แห่งนี้ให้บริการทดสอบในอุตสาหกรรมอากาศยานและอวกาศ รวมถึงอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องแก่หน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคการศึกษา ตลอดจนภาคธุรกิจจากต่างประเทศ

โอกาสนี้ทอดพระเนตรนิทรรศการกิจการดาวเทียมและแผนการพัฒนาดาวเทียมของประเทศไทย ซึ่งเริ่มต้นในปี 2525 มีการจัดตั้งสถานีรับสัญญาณดาวเทียมขึ้นที่เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร นับเป็นสถานีรับสัญญาณดาวเทียมแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2551 ประเทศไทยได้นำส่งดาวเทียม THEOS-1 ขึ้นสู่วงโคจร ซึ่งพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อมพระราชทานชื่อว่า “ดาวเทียมไทยโชต” นับเป็นก้าวแรกที่ประเทศไทยเป็นเจ้าของดาวเทียมสำรวจโลก ซึ่งยังคงสามารถปฏิบัติภารกิจในอวกาศให้กับประเทศไทยอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 16 ปี นอกจากนี้ยังจัดแสดงอุปกรณ์สำหรับการพัฒนาต้นแบบดาวเทียม ซึ่งประกอบด้วยเครื่องมือทดสอบสภาวะต่างๆ ของชิ้นส่วนดาวเทียม ได้แก่ การทดสอบการสั่นสะเทือน , การทดสอบอุณหภูมิในสภาวะปกติ , การทดสอบอุณหภูมิในสภาวะสุญญากาศ ,และการทดสอบคุณสมบัติของมวล เป็นต้น

จากนั้น ทรงพระดำเนินไปห้องสะอาดควบคุมอนุภาค หรือคลีน รูม ทรงฟังบรรยายสรุปเรื่องความคืบหน้าการทดสอบระบบดาวเทียม THEOS-2A ซึ่งเป็นดาวเทียมสำรวจโลกที่มีมาตรฐานระดับอินดัสเตรียลเกรดดวงแรกของประเทศไทย ที่วิศวกรชาวไทยกว่า 20 คนร่วมออกแบบและพัฒนา โดยนำชิ้นส่วนวัสดุที่ผลิตขึ้นจากผู้ประกอบการในประเทศไทย ติดตั้งและประกอบบนตัวดาวเทียม THEOS-2A ถือเป็นการส่งเสริมและยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการในประเทศไทยให้ทัดเทียมนานาชาติ ดาวเทียม THEOS-2A จะโคจรในระดับความสูง 520 กิโลเมตรจากพื้นโลก ตัวดาวเทียมมีน้ำหนัก 101.5 กิโลกรัม ความละเอียดภาพ 1.07 เมตร สามารถบันทึกภาพแบบวิดีโอสำหรับการติดตามพื้นที่ และการศึกษาข้อมูลเชิงลึกได้ มีอายุการใช้งานขั้นต่ำ 3 ปี เพื่อปฏิบัติงานตามภารกิจสำคัญของประเทศ ได้แก่ ด้านการจัดทำแผนที่ ด้านการจัดการเกษตร ด้านการจัดการภัยพิบัติ ด้านการจัดการน้ำ ด้านการการจัดการชุมชนเมือง และด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งนี้ จุดเด่นของดาวเทียม THEOS-2A คือ มีระบบเรดาร์ สำหรับการติดตามเรือและเครื่องบินด้วย สำหรับดาวเทียม THEOS-2A มีกำหนดขึ้นสู่อวกาศในช่วงกลางปี 2567 ด้วยจรวดนำส่ง PSLV (พีเอสแอลวี) จากศูนย์อวกาศสาธิต ธาวัน เมืองศรีหริโคตา ประเทศอินเดีย

จากนั้นทอดพระเนตรการดำเนินงานของกาแลคซี่ ซีมูเลชั่น เซ็นเตอร์ และทรงฟังบรรยายสรุปเรื่องการออกแบบและระบบวิศวกรรมดาวเทียม การพัฒนาซอฟแวร์ควบคุมการปฏิบัติการดาวเทียม และการให้บริการทดสอบชิ้นส่วนอากาศยาน ซึ่งเป็นการให้บริการนวัตกรรมที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อยกระดับเทคโนโลยีอากาศยานในประเทศไทย

จากนั้นทอดพระเนตรการสาธิตระบบรถไร้คนขับจากเทคโนโลยีดาวเทียมระบุตำแหน่ง หรือ GNSS ที่ช่วยลดการพึ่งพามนุษย์ในการใช้งาน มีความแม่นยำสูง ประหยัดพลังงาน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้แนวโน้มความต้องการยานยนต์ไร้คนขับจากเทคโนโลยีดาวเทียมระบุตำแหน่ง หรือ GNSS น่าจะมีการผลิตเข้าสู่ตลาดโลกเร็วกว่าที่มีการคาดการณ์ไว้

จากนั้น เสด็จพระราชดำเนินไปยังห้องศูนย์ปฏิบัติการควบคุมดาวเทียมธีออส อาคารพัฒนาและควบคุมระบบดาวเทียม ทอดพระเนตรการดำเนินงานของศูนย์ปฏิบัติการควบคุมและรับสัญญาณดาวเทียมไทยโชตหรือ THEOS-1 ดาวเทียม THEOS-2A ตลอดจนดาวเทียมดวงอื่นๆ ที่ประเทศไทยรับสัญญาณเอง และการดำเนินงานของศูนย์ปฏิบัติการความเป็นเลิศและนวัตกรรมการบินและอวกาศ ที่มุ่งเน้นการวิจัย การพัฒนาวัสดุและโครงสร้างของอากาศยานและอวกาศยาน ตั้งแต่การออกแบบ การผลิต และการทดสอบ ซึ่งเป็นนวัตกรรมที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อยกระดับเทคโนโลยีอากาศยานในประเทศไทย

ต่อจากนั้น ทอดพระเนตรการดำเนินงานของศูนย์วิจัยเทคโนโลยีอวกาศ ที่มีการพัฒนาระบบความมั่นคงและปลอดภัยในการใช้พื้นที่อวกาศ ซึ่งประกอบด้วย ระบบเฝ้าระวังและติดตามวัตถุอวกาศ, ระบบการจัดการจราจรอวกาศ และระบบพยากรณ์สภาพอวกาศ ที่ออกแบบและพัฒนาโดยทีมนักวิจัยของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ รวมถึงการดำเนินโครงการ Liquid Crystal ที่วิจัยและพัฒนาภายใต้ความร่วมมือระหว่างสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ และองค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือนาซา เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีหน้าจอ LCD ของอุปกรณ์เครื่องใช้ต่าง ๆ เช่น จอโทรทัศน์ จอคอมพิวเตอร์ และจอโทรศัพท์มือถือ ให้ใช้ในอวกาศได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยจะทำการส่งอุปกรณ์เพย์โหลดขึ้นทดลองบนสถานีอวกาศนานาชาติในเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2568 เที่ยวบินที่ Space X 32 และจะอยู่บนสถานีอวกาศ 3 เดือน มีนักบินอวกาศนาซาเป็นผู้ทำการทดลอง


ทุกท่านสามารถดาวน์โหลด ภาพและVDO งานรับเสด็จสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารีฯ ผ่านทาง Link : https://drive.google.com/drive/folders/1b-Mzb0Yq5KUur8Pc2eHaqJQ8eXN9ZRC_?usp=sharing 

Nattakarn Sirirat 11/3/2567 559 0
Share :