Head GISDTDA

GEORIX - พัฒนาความแม่นยำในการตรวจวัดคุณภาพอากาศ

GEORIX_พัฒนาความแม่นยำในการตรวจวัดคุณภาพอากาศ
.
เมื่อไม่นานมานี้ทาง Beyond Gravity ได้ทำการส่งอุปกรณ์ที่เสร็จสมบูรณ์ให้แก่ Maxar Technologies และ Intelsat ที่ตกลงร่วมมือกันรับผิดชอบดูแลภารกิจในชั้นบรรยากาศโทรโพสเฟียร์ให้กับนาซ่า โดย GEORIX ได้ถูกพัฒนาขึ้นให้ติดตั้งเข้ากับดาวเทียม Intelsat-40e ดาวเทียมสื่อสารที่กำลังจะถูกส่งขึ้นโคจรในวงโคจรค้างฟ้าซึ่งสูงขึ้นไปราว 36,000 กิโลเมตรจากพื้นผิวโลก ในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2566 พร้อมด้วยเพย์โหลด TEMPO นี่เป็นครั้งแรกที่ตัวรับสัญญาณนำทางของ Beyond Gravity จะได้ขึ้นโคจรในวงโคจรค้างฟ้า เพื่อช่วยพัฒนาความแม่นยำการระบุตำแหน่งที่ ณ ขณะที่ข้อมูลถูกตรวจวัด
.
TEMPO ย่อมาจาก Tropospheric Emissions: Monitoring of Pollution หรือ ตัวตรวจวัดมลภาวะในชั้นบรรยากาศ เป็นผลผลิตจากความร่วมมือระหว่าง NASA และ Smithsonian Astrophysical Observatory ภายใต้ภารกิจ ESPP: Earth System Science Pathfinder Program ของนาซ่า ที่มีจุดประสงค์หลักเพื่อศึกษาระบบภูมิอากาศโลก รวมไปถึง การกระจายตัวของก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศ การเปลี่ยนแปลงของความเค็มที่พื้นผิวมหาสมุทร และโครงสร้างในแนวตั้งของเมฆ และฝุ่นละออง ทั้งหมดนี้ล้วนช่วยให้นักวิจัยสามารถศึกษา และทำความเข้าใจถึงกระบวนการที่เกิดในชั้นบรรยากาศ รวมไปถึงสภาวะแปรปรวนทางสภาพอากาศของโลกได้ดียิ่งขึ้น
.
นอกจากภารกิจ ESPP ก็ยังมีภารกิจย่อยอื่นๆรวมเข้าไว้ด้วยกัน ทั้งนี้บางภารกิจก็สำเร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว อย่างเช่น GRACE: Gravity Recovery and Climate Experiment ที่ถูกส่งขึ้นไปตั้งแต่เมื่อปีค.ศ. 2002 เพื่อศึกษาข้อมูลการเปลี่ยนแปลงของแหล่งน้ำ และมหาสมุทร และได้หมดอายุการใช้งานไปเมื่อปีค.ศ. 2017 ส่วนตัวอย่างภารกิจอื่นๆที่ยังดำเนินการมาจนถึงปัจจุบันก็มี OCO: Orbiting Carbon Observatory ซึ่งติดตั้งอยู่บนสถานีอวกาศนานาชาติ ใช้ในการตรวจวัดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศเพื่อศึกษาความสัมพันธ์อันเกี่ยวข้องกับการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรโลก ทั้งนี้สามารถเข้าไปติดตามรายละเอียดของภารกิจย่อยอื่นๆของ ESSP ได้ที่ essp.nasa.gov
.
ภารกิจย่อยที่สำคัญ และน่าสนใจ ที่กำลังจะมาถึงในอนาคตอันใกล้ ก็คือ EVI: Earth Venture Instrument เป็นภารกิจที่มุ่งเน้นพัฒนาอุปกรณ์ตรวจวัดองค์ประกอบแต่ละประเภทในชั้นบรรยากาศโลก โดย TEMPO เป็นหนึ่งในภารกิจบุกเบิกของ EVI กลุ่มที่ 1 ในจำนวนทั้งสิ้น 4 กลุ่มภารกิจด้วยกัน
.
TEMPO ยังเป็นเครื่องมือเก็บข้อมูลในช่วงอัลตราไวโอเล็ตและแสงที่ตามองเห็น หรือ UV-visible spectrometer โดยใช้หลักการตรวจวัดแสงอาทิตย์ที่สะท้อนและกระจัดกระจายออกหลังกระทบพื้นผิวโลกและชั้นบรรยากาศโลก เพื่อสร้างฐานข้อมูลองค์ประกอบชั้นบรรยากาศโทรโพสเฟียร์และสารเคมีที่เป็นมลภาวะ โดยรวมแล้ว ข้อมูลหลักๆที่เราต้องการจาก TEMPO มีทั้งปริมาณของโอโซน, ไนโตรเจนออกไซด์, ซัลเฟอร์ไดออกไซด์, ฟอร์มาลดีไฮด์ และไกลออกซาล ซึ่งล้วนเป็นสารเคมีที่เกี่ยวข้องกับการบ่งชี้มลภาวะทางอากาศที่เป็นอันตรายต่อชีวิตมนุษย์ รวมไปถึงปริมาณฝุ่นละออง เมฆ และรังสียูวีบี
.
TEMPO สามารถวัดข้อมูลเหล่านี้จากวงโคจรค้างฟ้าโดยตรงด้วยเทคนิคทางแสงที่กล่าวไว้ข้างต้นหรือโดยทางอ้อมผ่านข้อมูลวงจรโอโซนรายวัน ข้อมูลที่ได้จาก TEMPO นั้นมีความแม่นยำและคุณภาพสูง สามารถนำมาวิเคราะห์ความเสี่ยงของการแพร่กระจายของมลภาวะสู่ประชากรในบริเวณ เพื่อนำไปสู่การพัฒนาแนวทางป้องกันและควบคุมมลภาวะทางอากาศที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น นอกจากนี้ข้อมูลยังมีความเท่าทันสถานการณ์และใกล้เคียงเรียลไทม์ทั้งนี้ก็เพื่อพัฒนาความเที่ยงตรงของการพยากรณ์ และการแจ้งเตือนถึงภัยอันตรายจากมลภาวะแก่ประชากรในบริเวณนั้นๆได้ทันเวลา
.
GEORIX ที่ Beyond Gravity ได้พัฒนาขึ้นจะมีหน้าที่หลักในการช่วย TEMPO ระบุตำแหน่งของวงโคจรขณะที่มันตรวจวัดก๊าซในชั้นบรรยากาศ ข้อมูลที่ TEMPO วัด บวกกับตำแหน่งที่ข้อมูลเหล่านั้นถูกวัด เมื่อรวมกันจะได้เป็นข้อมูลที่มีประโยชน์อย่างมหาศาล ต่อการพยากรณ์คุณภาพอากาศ และการเตือนภัยที่รวดเร็วแม่นยำ
.
ถึงแม้ TEMPO จะเป็นเพียงส่วนหนึ่งของภารกิจใหญ่ยักษ์อย่าง ESSP แต่ก็นับเป็นก้าวใหม่ของเทคโนโลยีดาวเทียมขนาดเล็กที่น่าจับตามอง TEMPO จะช่วยให้มนุษย์เราสามารถเข้าใจ และเข้าถึงข้อมูลอันสำคัญ ที่จะใช้นำไปสู่การพัฒนา และแก้ปัญหามลภาวะทางอากาศของโลกในอนาคต ก่อนที่จะทุกอย่างจะสายเกินแก้
.
ที่มาข้อมูล: beyondgravity.com
.
#จิสด้าก้าวสู่ปีที่22 #จิสด้า #GISTDA #อวกาศ #georix #ตรวจวัดคุณภาพอากาศ #Intelsat #ดาวเทียมสื่อสาร #วงโคจรค้างฟ้า #TEMPO #มลภาวะในชั้นบรรยากาศ #อัลตราไวโอเล็ต

phakpoom.lao 21/1/2023 0
Share :