ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างประเทศที่มากขึ้น เวทีระหว่างประเทศด้านอวกาศที่ใหญ่ที่สุดของสหประชาชาติก็หนีไม่พ้นอิทธิพลของ Geopolitics ข้อริเริ่มด้านอวกาศหลายโครงการถูกตั้งคำถามว่าเป็นไปเพื่อการพัฒนาวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและส่งเสริมเศรษฐกิจ หรือเป็นเครื่องมือเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมืองระหว่างประเทศ คณะอนุกรรมการด้านวิทยาศาสตร์และเทคนิค หรือ Scientific and Technical Subcommittee of COPUOS (STSC) ของคณะกรรมการว่าด้วยการใช้อวกาศส่วนนอกในทางสันติแห่งสหประชาชาติ (COPUOS) ซึ่งเป็นกลุ่มสำคัญในการผลักดันให้เกิดสนธิสัญญาด้านอวกาศทั้ง 5 ฉบับ และกำหนดแนวปฏิบัติสากลของวงการอวกาศโลก เช่น Guidelines for the Long-term Sustainability of Outer Space Activities ได้มีการประชุม เมื่อวันที่ 29 ม.ค. – 9 ก.พ. ที่ผ่านมา ณ กรุงเวียนนา ออสเตรีย ที่ประชุมตระหนักว่าโดเมนอวกาศในปัจจุบันกำลังเผชิญกับข้อท้าทายใหม่ๆ หลายอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ผู้แทนประเทศไทย โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ได้เข้าร่วมการประชุมและสรุปประเด็นด้านอวกาศที่เกี่ยวกับอิทธิพลทางการเมืองระหว่างประเทศ ซึ่งประเทศไทยควรจับตามองและติดตามพัฒนาการต่อไปหลังจากนี้ ดังนี้
1. การแบ่งขั้วทางการเมืองระหว่างประเทศทำให้ประเทศที่มีศักยภาพทางอวกาศสูง ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐอเมริกา จีน รัสเซีย สหภาพยุโรป อินเดีย หรือ ญี่ปุ่น ให้ความสำคัญกับการเร่งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านอวกาศของตนเอง เพื่อลดการพึ่งพาประเทศอื่นให้ได้มากที่สุดและเสริมสร้างความมั่นคงทางอวกาศให้กับประเทศของตน ทั้งด้านระบบนำทางด้วยดาวเทียม (GNSS) การด้านการเฝ้าระวังและบริหารจัดการการจราจรทางอวกาศ (SSA and STM) สภาพอวกาศ (space weather) การสื่อสารผ่านดาวเทียม และการสำรวจทรัพยากรโลก นอกจากนี้ยังมีบางประเทศแสดงความกังวลต่อการที่ดาวเทียมสำรวจโลกจากต่างประเทศ โดยเฉพาะบริษัทเอกชน ถ่ายภาพในอาณาเขตประเทศของตนและเผยแพร่สู่สาธารณะโดยที่ไม่ได้รับความยินยอมก่อน
2. ดาวเทียมสื่อสารประเภท large constellation ในวงโคจรต่ำที่เป็นความก้าวหน้าสำคัญของธุรกิจการสื่อสารและโทรคมนาคม ถูกมองว่าเป็นเครื่องมือสำคัญที่มีส่วนช่วยเหลือในการทำสงคราม ซึ่งขัดต่อหลักการของสหประชาชาติที่ภารกิจอวกาศควรมีวัตถุประสงค์เพื่อสันติเท่านั้น นอกจากนี้ดาวเทียมประเภท constellation ยังส่งผลกระทบเชิงการต่อการสำรวจทางดาราศาสตร์ทั้งในเรื่องของการสะท้อนแสงอาทิตย์และการปล่อยความถี่คลื่นวิทยุรบกวน เวที STSC ได้มีการผลักดัน agenda เพื่อให้เกิดการหารือระหว่าง 2 วงการว่าจะสร้างและดำเนินการ large satellite constellation อย่างไรให้ส่งผลกระทบทางลบต่อการสำรวจทางดาราศาสตร์น้อยที่สุด
3. การสำรวจดวงจันทร์ ซึ่งเป็นพื้นที่รอการสำรวจเพื่อค้นพบองค์ความรู้ใหม่ๆ ในแง่มุมของวิทยาศาสตร์ เป็นพื้นที่ showcase เทคโนโลยีสำรวจอวกาศที่ก้าวหน้าในมุมมองภาคธุรกิจ ในขณะที่สำหรับด้านการเมือง การสำรวจดวงจันทร์ก่อให้เกิดการถกเถียงเรื่องการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรในอวกาศและการสร้างหลักเกณฑ์ข้อตกลงร่วมกันในการทำภารกิจบนพื้นผิวดวงจันทร์ โรมาเนียได้เสนอที่ประชุมให้ตั้ง Action Team on Lunar Activities Consultation (ATLAC) เพื่อเป็นพื้นหารือร่วมกันในประเด็นที่เกี่ยวกับจุดลงจอดบนดวงจันทร์ การจราจรในบริเวณระหว่างโลกกับดวงจันทร์ การใช้ทรัพยากรบนดวงจันทร์ รวมถึงการปกป้องผลประโยชน์และแหล่งประวัติศาสตร์ของการสำรวจพื้นผิวดวงจันทร์ เป็นที่น่าสังเกตว่าขอบเขตการทำงานที่มีการเสนอนี้ บางส่วนสอดคล้องกับเนื้อหาของ Artemis Accords ซึ่งหากขอบเขตการทำงานดังกล่าวนี้ได้รับการเห็นชอบจาก COPUOS อาจเป็นไปได้ว่าเจตนารมย์การสำรวจอวกาศส่วนหนึ่งที่ริเริ่มโดยสหรัฐอเมริกานี้อาจเข้าสู่พื้นที่การทำงานของสหประชาชาติ
แน่นอนว่าการนำปัญหาความขัดแย้งทางการเมืองเข้ามาในเวทีวิทยาศาตร์จะทำให้บรรยากาศในการประชุมใน 1-2 ปีนี้ เน้นบทบาททางการทูตมากกว่าเชิงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อย่างไรก็ตาม การยอมรับภารกิจอวกาศมีขาหนึ่งที่เป็นเรื่องของความมั่นคงเป็นเรื่องที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ควรยึดหลักการว่าเวทีนี้ควรเป็นพื้นที่สำหรับการสร้างสรรค์ความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีร่วมกัน เพราะไม่ว่าจะมีการแบ่งขั้วทางการเมืองระหว่างประเทศอย่างไร หรือความขัดแย้งมีมากน้อยแค่ไหน ทุกคนต่างอยู่ร่วมกันในโลกและอวกาศที่ใช้หลักการทางวิทยาศาสตร์อันเดียวกันเสมอ
ถึงแม้ว่าผลลัพธ์ต่างๆ จากเวที STSC ของ COPUOS จะออกมาในรูปของสนธิสัญญาที่สามารถเลือกให้สัตยาบันตามความสมัครใจ บรรดาแนวปฏิบัติที่ไม่ได้มีการบังคับ หรือข้อเสนอที่ไม่ได้มีผลผูกพันทางกฎหมาย แต่สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นจุดเริ่มต้นของกฎและกติกาด้านอวกาศระดับโลกที่ต่อไปไม่ว่าหน่วยงานรัฐหรือเอกชนทั่วโลกต้องปฏิบัติตาม ในส่วนของประเทศไทย พรบ. กิจการอวกาศแห่งชาติ จะเป็นกลไกที่จำเป็นในการส่งเสริมกำกับภารกิจอวกาศในประเทศไทยหรือกระทำโดยหน่วยงานไทยให้สอดคล้องกับกฎหมายอวกาศระดับนานาชาติและเป็นไปตามแนวปฏิบัติสากล นอกจากนี้ แผนแม่บทอวกาศแห่งชาติยังจะเป็นกุญแจสำคัญในการระบุผลประโยชน์ที่ไทยต้องการในเวทีอวกาศโลก เพื่อเป็นแนวทางให้เกิดการผลักดันให้มีการกำหนดกฎกติกาใดๆ ในเวทีระหว่างประเทศให้เป็นประโยชน์กับประเทศไทย เพื่อให้ประเทศไทยได้ใช้ประโยชน์จากอวกาศเป็นเครื่องมือหนึ่งในการพัฒนาประเทศและสร้างธุรกิจใหม่ๆ เช่นเดียวกับที่ประเทศอื่นๆ
สำหรับในโพสถัดไป จะมีการพูดถึงข้อท้าทายด้านขยะอวกาศและความพยายามในการแก้ปัญหาร่วมกันของทุกประเทศ ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญมากในเวที STSC ของ COPUOS ในครั้งนี้ ติดตามกันนะคะ
#GISTDA #อว #COPUOS #STSC #STSCCOPOUS2024 #ScientificandTechnicalSubcommittee #อวกาศกับอิทธิพลของการเมืองระหว่างประเทศ