เมื่อการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติกำลังท้าทายมนุษยชาติความยั่งยืนจึงเป็นทางรอด
ในโลกที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม นานาประเทศต่างเร่งศึกษาวิจัยและหาทางแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นจากความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้ โดยประเด็นหลักๆ ที่ยึดโยงไว้เป็นหมุดหมายคือเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน
องค์การสหประชาชาติได้นิยามคำว่า "การพัฒนาอย่างยั่งยืน" หมายถึง รูปแบบของการพัฒนาที่สนองความต้องการของคนในรุ่นปัจจุบันโดยไม่กระทบกระเทือนความสามารถของคนรุ่นต่อไปในการที่จะสนองตอบความต้องการของตนเอง จากคำนิยามดังกล่าวจะเห็นได้ว่า การพัฒนาอย่างยั่งยืนครอบคลุมทั้้งประชากรในปัจจุบันตลอดจนประชากรในอนาคต ดังนั้น กิจกรรมใดๆ ที่เกิดขึ้นในคนรุ่นปัจจุบัน ต้องเป็นกิจกรรมที่คำนึงถึงคนรุ่นต่อไปด้วย
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในปัจจุบันกำลังส่งผลกระทบโดยตรงต่อวิถีชีวิตของประชากรโลก ทั้งเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกที่นำไปสู่สภาพอากาศที่แปรปรวนอย่างสุดขั้วในหลายพื้นที่ อุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลต่อการเกิดฤดูกาล และการเพิ่มสูงขึ้นของระดับน้ำทะเลกำลังส่งผลต่อพื้นที่ชายฝั่งทั่วโลก ดังนั้น การแก้ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่าย เพื่อศึกษา วิจัย และสร้างองค์ความรู้ให้เกิดวิธีการที่จะสามารถนำไปแก้ปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน
GISTDA และสถาบันการศึกษา 7 แห่ง ได้แก่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยนเรศวร มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยขอนแก่น และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี ได้ร่วมมือกันจัดตั้งภาคีวิจัยโลกอนาคตแห่งประเทศไทย (Future Earth Thailand Consortium) ภายใต้ Earth Space System Frontier Research Thailand โดยได้ตระหนักถึงความสำคัญของการเสริมสร้างความสามารถในการส่งเสริมผลักดันบุคลากรและเครือข่ายผ่านงานวิจัยขั้นแนวหน้า (Frontier Research) เพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก ธรรมชาติ และภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต เช่น การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและภัยพิบัติ อาหารและพลังงาน และพัฒนาสังคมเมืองยั่งยืน โดยความร่วมมืองานวิจัยขั้นแนวหน้าของ Future Earth Thailand Consortium จะมุ่งเน้นไปที่การเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่คาดว่าจะเกิดขึ้นที่จะขึ้นในอนาคตภายใต้ Earth Space System หรือ ESS หัวข้อที่ได้รับการพิจารณาเป็นความเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติที่จะส่งผลกระทบต่อคุณภาพสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของคนในสังคมที่มีแนวโน้มจะเกิดขึ้นในอนาคต ประกอบด้วย
- อุทกภัยและภัยแล้ง
- ความเสื่อมโทรมของที่ดินและป่าไม้
- โรคระบาดอุบัติใหม่
- มลพิษทางอากาศ
- บลูคาร์บอน หรือคาร์บอนที่ดูดซับโดยระบบนิเวศทางทะเล
- ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มขึ้น และการทุดตัวของแผ่นดิน
- คลื่นความร้อน
- ขยะในมหาสมุทร และความเป็นกรดในทะเล
- คลื่นพายุซัดฝั่ง
- แผ่นดินไหว และสึนามิ
ดร.สิทธิพร ชาญนำสิน ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเทคโนโลยีอวกาศ (Space Technology Research Center: S-TREC) เล่าให้ฟังว่า "ปัจจุบัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในโครงการทั้งหมดได้ประชุมหารือเพื่อเฟ้นหาหัวข้อวิจัยเร่งด่วนที่เกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นในประเทศไทย" และเสริมว่า "มี 2 หัวข้อที่ GISTDA ได้เข้าไปมีบทบาท คือเป็นทั้งผู้ร่วมวิจัยและผู้สนับสนุนข้อมูลด้านเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ โดย การสร้างระบบเกษตรอัจฉริยะขนาดพื้นที่รวม 100,000 ไร่ ภายในระยะเวลา 5 ปี และการแก้ไข 25 ปัญหาทางสิ่งแวดล้อมได้สำเร็จ" ซึ่งบทบาทของ GISTDA ในการวิจัยและการประยุกต์ใช้องค์ความรู้เรื่องเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศในครั้งนี้ คือการสนับสนุนการสร้างแพลตฟอร์ม และระบบเซนเซอร์ โดยรับหน้าที่เป็นทีมผู้จัดการโครงการ และสนับสนุนงานวิจัยในบางส่วน เนื่องจากหน้าที่หลักในการศึกษาวิจัยมีหน่วยงานจากภาคการศึกษาเป็นผู้รับผิดชอบหลัก
โดยผลลัพธ์และความสำเร็จของโครงการที่เกิดขึ้นต้องเป็นแนวทางปฏิบัติได้จริง สามารถวัดผลเป็นรูปธรรมได้ และองค์ความรู้ต่างๆ ที่เกิดขึ้นต้องถ่ายทอดไปยังเกษตรกรที่เป็นประชาชน ดังนั้น GISTDA คาดว่า ในอนาคตการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับภาคเกษตรของไทยจะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่พร้อมรับมือกับภัยพิบัติในอนาคต นอกจากนี้ เกษตรกรมีศักยภาพมากขึ้นที่จะเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขัน และมีผลผลิตที่มีคุณภาพดีขึ้นภายใต้สภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป
หัวข้อที่สองที่เป็นการวิจัยเร่งด่วนคือเรื่อง การแก้ไขปัญหา 25 ประเด็นที่เป็นปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมของไทย เช่น ปัญหาสิ่งแวดล้อมในทะเลสาบสงขลา ความกังวลเกี่ยวกับกรุงเทพมหานครฯ ที่จะถูกน้ำทะเลท่วมในอนาคต และปัญหาหมอกควัน หรือ PM2.5 ทั่วประเทศ เป็นต้นซึ่งในส่วนนี้ GISTDA ได้เตรียมแผนการพัฒนาระบบฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) โดยเก็บรวบรวมข้อมูลทางด้านเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศไว้เป็นข้อมูลส่วนกลาง เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่หน่วยงานอื่นๆ เข้ามาใช้บริการข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการศึกษาวิจัยในประเด็นต่างๆ ได้ ทั้งในปัจจุบัน และที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลบางส่วน GISTDA จำเป็นต้องขอความร่วมมือและการสนับสนุนจากหน่วยงานอื่นๆ เช่น ข้อมูลทางด้านสภาพอากาศจากกรมอุตินิยมวิทยา ข้อมูลประชากรจากสำนักงานสถิติ และข้อมูลอื่นๆ ที่ GISTDA ไม่ได้เป็นผู้จัดทำ แต่จะพยายามดึงข้อมูลเหล่านั้นมาไว้ที่ฐานข้อมูลกลาง และให้ทุกหน่วยงานพันธมิตรสามารถเข้าถึงได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาวิจัย และช่วยลดระยะเวลาในการสืบค้นข้อมูลต่างๆ เพื่อให้เกิดองค์ความรู้และวิธีการแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว
ดร.สิทธิพร เน้นย้ำว่า “ทุกงานวิจัยภายใต้ภาคีวิจัยโลกอนาคตแห่งประเทศไทยต้องเป็นงานวิจัยที่สามารถปฏิบัติและแก้ไขปัญหาได้จริง ดังนั้น ผลประโยชน์ที่เกิดขึ้นจากทุกงานวิจัยจะเกิดขึ้นทันทีต่อเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม และนำไปสู่แนวทางปฏิบัติที่ขยายวงกว้างและครอบคลุมประเด็นต่างๆ มากขึ้น”
นอกจากนี้ GISTDA ได้ให้ความสำคัญกับการศึกษาวิจัยเรื่องเทคโนโลยีอวกาศ โดย GISTDA ร่วมเป็นภาคีสำหรับสำคัญ ได้แก่ Thai Space Consortium (TSC) Space Safety and Security Consortium (3S) และ National Space Experiment Consortium เพื่อพัฒนานวัตกรรมทางอวกาศที่จะส่งเสริมความก้าวหน้าของไทยในอนาคต การศึกษาวิจัยเรื่องความมั่นคงและความปลอดภัยทางด้านอวกาศ และการทดลองที่เกี่ยวข้องกับอวกาศ โดยความคืบหน้าเรื่องความมั่นคงและความปลอดภัยทางด้านอวกาศ เป็นประเด็นที่ GISTDA ให้ความสนใจและศึกษามาอย่างยาวนาน โดยเฉพาะประเด็นเรื่องการจัดการขยะอวกาศที่ปัจจุบันในระดับนานาชาติให้ความสำคัญ เร่งดำเนินการสร้างองค์ความรู้ วิจัยพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อป้องกัน บรรเทา และร่วมไปถึงภัยสภาพอวกาศ (Space weather) ภัยเหล่านี้ล้วนสร้างผลกระทบต่อการดำเนินชีวิตของมวลมนุษยชาติ
ปัจจุบัน GISTDA ได้พัฒนาระบบการจัดจราจรอวกาศที่มีขีดความสามารถเกี่ยวกับการเตือนภัยและเฝ้าระวังการจราจรในอวกาศ เนื่องจากปัจจุบันมีจำนวนดาวเทียมของหลายประเทศโคจรอยู่รอบโลกเป็นจำนวนมาก และยังเสี่ยงต่อการชนกับวัตถุอวกาศอื่นๆ ซึ่งสร้างความเสียหายต่อดาวเทียมได้ โดยปัจจุบัน ระบบการจัดการจราจรของดาวเทียมได้ใช้งานกับดาวเทียมไทยโชตเป็นระยะเวลา 2 ปี ซึ่งเป็นระบบที่มีมาตรฐานและความแม่นยำเทียบเท่ากับซอฟต์แวร์จากต่างประเทศ ทำให้ประเทศไทยสามารถลดค่าใช้จ่ายในเรื่องนี้ไปได้ ทั้งนี้ นอกจากจะดำเนินการพัฒนาและวิจัยเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานด้านอวกาศแล้ว ที่ผ่านมา GISTDA ยังได้สนับสนุนงานวิจัยที่ต้องใช้เทคโนโลยีอวกาศของภาคการศึกษา เช่น การศึกษาวิจัยเรื่องการตกผลึกโปรตีนในอวกาศเพื่อพัฒนายาต้านโรคมาลาเรีย ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และการศึกษาเรื่องการเจริญของไข่น้ำในภาวะสุญญากาศ ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล เป็นต้น
โครงการต่างๆ เหล่านี้ที่เกิดขึ้นภายในโครงการ ESS ล้วนเป็นโครงการที่เกิดประโยชน์ในแง่ของการสร้างองค์ความรู้ใหม่นำไปสู่การต่อยอดและพัฒนานวัตกรรมแห่งความยั่งยืน โดยอยู่ภายใต้แนวคิดการพัฒนาความยั่งยืน ตามที่องค์การสหประชาชาติได้ระบุไว้ และนอกจากองค์ความรู้ที่เกิดขึ้นแล้ว จากการดำเนินงานต่างๆ ยังได้ผลผลิตเป็นบุคลากรที่มีศักยภาพ และมีแนวความคิดเรื่องความยั่งยืน ที่จะนำความรู้และความสามารถถ่ายทอดต่อไปในอนาคต
#GISTDA #ESS #ความเปลี่ยนแปลง #การพัฒนา #เศรษฐกิจ #สังคม #สิ่งแวดล้อม #อวกาศ #พัฒนา #ต่อยอด
This website uses cookies. Our website creates and utilizes cookie data in order for your visit to be smooth, efficient, and private. Please read our cookie policy and GISTDA's personal data protection policy for further detail.
This website uses cookies. Our website creates and utilizes cookie data in order for your visit to be smooth, efficient, and private. Please read our cookie policy and GISTDA's personal data protection policy for further detail.