#Thailand_Space_and_Safety
#ประเทศไทยกับการรับมือกับภัยคุกคามจากห้วงอวกาศ
.
ห้วงอวกาศที่ไร้ซึ่งเขตแดนได้กลายเป็นหนึ่งพื้นที่ภารกิจด้านความมั่นคงของประเทศไปเรียบร้อยแล้วในศตวรรษที่ 21 ผลจากการยกระดับขีดความสามารถของกิจการอวกาศทั่วโลก เพื่อแสวงหาประโยชน์จากทรัพยากรอวกาศมาใช้ในการพัฒนาประเทศ ทำให้ปัจจุบันกว่า 80 ประเทศทั่วโลกมีดาวเทียมเป็นของตัวเองโคจรอยู่บนห้วงอวกาศรวมแล้วกว่า 3,300 ดวง ในขณะที่โครงการ Starlink ของ SpaceX มีแผนว่าจะส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรในปีนี้อีกกว่า 12,000 ดวง และยังไม่นับชิ้นส่วนขยะอวกาศของดาวเทียมที่ปลดระวางและเศษซากจากการชนกันที่ล่องลอยอยู่ในวงโคจรอีกกว่าล้านชิ้น!
.
เทคโนโลยีอวกาศเป็นทั้งเครื่องมือหนึ่งในการแสวงหาประโยชน์เพื่อพัฒนาประเทศในหลายมิติ และมีความหมายเชิงสัญลักษณ์ที่แสดงถึงอำนาจทางการเมือง การพาณิชย์ ความมั่นคงและความปลอดภัย และการทหาร อย่างไรก็ตาม การพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในทศวรรษที่ผ่านมา ส่งผลให้ห้วงอวกาศในวันนี้คับคั่งไปด้วยเทคโนโลยีอวกาศที่ถูกส่งขึ้นไปจำนวนมาก และมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างทวีคูณ รวมถึงชิ้นส่วนขยะอวกาศที่ลอยเคว้งอย่างไร้ทิศทางอยู่ในวงโคจรมานานนับสิบปี เป็นภัยคุกคามทางอวกาศที่ต้องเฝ้าระวัง สร้างความเสี่ยงที่อาจเกิดผลกระทบต่อชีวิตและทรัพย์สิน ตลอดจนความเสียหายที่ไม่อาจประเมิน ทั้งในด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม ตลอดจนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และอาจนำไปสู่ความเสียหายในระดับที่ส่งผลต่อความมั่นคงของโลก เป็นอีกประเด็นความมั่นคงที่ทั่วโลกกำลังให้ความตระหนักเป็นอย่างยิ่ง
.
#ภัยคุกคามจากห้วงอวกาศที่ผ่านมีอะไรบ้าง?
.
การชนกันของดาวเทียมและเศษซากชิ้นส่วนอวกาศครั้งใหญ่ด้วยความเร็วในระดับ Hypervelocity ที่สร้างผลกระทบอย่างรุนแรงในประวัติศาสตร์ที่ผ่านมา คือการชนกันของดาวเทียม Iridium-33 ซึ่งเป็นดาวเทียมสื่อสารของประเทศสหรัฐอเมริกา น้ำหนัก 560 กิโลกรัม และดาวเทียม Kosmos-2251 ซึ่งเป็นซากดาวเทียมที่ปลดระวางแล้วของประเทศรัสเซีย น้ำหนัก 900 กรัม โคจรอยู่ในระดับความสูงที่ใกล้เคียงกัน และชนกันอย่างไม่คาดคิดด้วยความเร็วสูง 11 กิโลเมตร ต่อวินาที แรงปะทะมหาศาลได้ฉีกทึ้งโครงสร้างของดาวเทียมทั้งสองดวงแตกกระจายกลายเป็นชิ้นส่วนขยะอวกาศต่างขนาดกันไป ล่องลอยอยู่ในวงโคจรนับล้านชิ้น! สร้างผลกระทบต่อเนื่องเป็นลูกโซ่มาจนปัจจุบัน
.
ในส่วนของประเทศไทย เมื่อปี 2561 ได้มีการตรวจพบเศษโลหะเนื้อดีกระจายเกลื่อนอยู่ในบริเวณพื้นที่ 4 หมู่บ้าน ในอำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี โดย GISTDA ได้เข้าตรวจสอบวัตถุดังกล่าว และคาดว่าเป็นชิ้นส่วนจรวดที่ใช้ส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรในอวกาศ ซึ่งประเทศไทยมีความเสี่ยงเนื่องจากเป็นพื้นที่ทางผ่านของการนำส่งจรวด จึงอาจเรียกได้ว่า ยิ่งมีความก้าวหน้าทางกิจการอวกาศมากเท่าใด ภัยคุกคามจากอวกาศยิ่งเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน
.
#บทบาทของประเทศไทยในการรับมือกับภัยคุกคามจากห้วงอวกาศ
.
ปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกมีการวางนโยบาย กฎหมาย และการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ ในด้านการติดตามดาวเทียมดาวเทียมและวัตถุอวกาศ (Space Debris) และการติดตามวัตถุใกล้โลก (Near Earth Objects : NEOs) ที่มีโอกาสเสี่ยงในการพุ่งชนโลก เพื่อพัฒนาขีดความสามารถในการเฝ้าระวังทางอวกาศ (Space Situation Awareness) และถอดบทเรียนจากการชนกันครั้งใหญ่ เพื่อวางแผนควบคุมอัตราการเติบโตของชิ้นส่วนขยะอวกาศ กำหนดมาตรฐานของดาวเทียมที่จะถูกส่งขึ้นไป และบริหารจัดการจราจรทางอวกาศให้เกิดความปลอดภัยมากที่สุด
.
ประเทศไทยในฐานะผู้พัฒนาและเจ้าของดาวเทียมสำรวจโลกอย่างไทยโชตที่กำลังเข้าสู่วาระการปลดระวางกลายเป็นชิ้นส่วนขยะอวกาศในอีกไม่ช้า และการเตรียมพร้อมขึ้นสู่ห้วงอวกาศของดาวเทียม THEOS-2 และ THEOS-2A ที่กำลังจะมาถึง เพื่อขึ้นไปโคจรในวงโคจรต่ำที่แออัดคับคั่งอยู่ในปัจจุบันนี้ ประเด็นด้านการจัดการจราจรอวกาศ (Space Traffic Management) และการเฝ้าระวังทางอวกาศ (Space Situational Awareness) จึงเป็นความท้าทายและเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ประเทศไทยให้ความสำคัญอย่างมาก
.
ไม่นานมานี้ GISTDA ร่วมกับ Korea Aerospace Research Institute : KARI และภาคีความปลอดภัยและความมั่นคงทางอวกาศ ได้มีการจัดเสวนา “ความปลอดภัยและความมั่นคงด้านอวกาศ (Thailand Space Safety and Security)” เมื่อวันที่ 16 กันยายน ที่ผ่านมา เพื่อหารือการดำเนินการร่วมกันของทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ซึ่งจะนำไปสู่ข้อเสนอแนะต่อการพัฒนานโยบายและแผนการดำเนินการเฝ้าระวังและการบริหารจัดการจราจรทางอวกาศ ตลอดจนยกระดับขีดความสามารถการเฝ้าระวังภัยจากอวกาศ เพื่อป้องกันและลดผลกระทบด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน
.
#ZIRCON_นำร่องยกระดับการเฝ้าระวังและเตือนภัยทางอวกาศในประเทศไทย
.
GISTDA ได้นำร่องพัฒนาระบบการจัดจราจรทางอวกาศ ที่เรียกว่า “ZIRCON” เพื่อติดตามและแจ้งเตือนการชน ซึ่งระบบมีความสามารถในการวิเคราะห์ข้อมูลสถานการณ์อวกาศ และแจ้งเตือนการพุ่งชนของวัตถุอวกาศกับดาวเทียม THEOS ล่วงหน้าได้ถึง 7 วัน รวมไปถึงสามารถวิเคราะห์ความเสี่ยง แนวทางการปรับวงโคจรเพื่อการประหยัดเชื้อเพลิง ใช้สำหรับบริหารจัดการความเสี่ยง ลดและหลีกเลี่ยงความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับดาวเทียมในความดูแล ทั้งดาวเทียม THEOS และดาวเทียม THEOS-2 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
.
โดยที่ผ่านมาระบบ ZIRCON ได้ปฏิบัติการวิเคราะห์และแจ้งเตือนการพุ่งชนได้อย่างแม่นยำ ตัวอย่างในปี 2564 สามารถคำนวณและแจ้งเตือนความเป็นไปได้ของการพุ่งชนจากวัตถุอวกาศในระยะ 100 เมตร และ 25 เมตร ซึ่งนับว่าเป็นความเสี่ยงที่สูงมาก โดยได้ทำการปรับวงโคจรเพื่อหลีกเลี่ยงวิถีพุ่งชน ปลอดภัยจากการพุ่งชนในที่สุด และระบบ ZIRCON ยังสามารถคาดการณ์การกลับสู่พื้นโลกของจรวดนำส่งที่มีน้ำหนักมากถึง 20 ตัน ซึ่งวัตถุอวกาศดังกล่าวมีเส้นทางการโคจรผ่านประเทศไทยเป็นประจำทุกวัน สร้างความตระหนกให้กับประชาชนไม่น้อย โดยระบบ ZIRCON ได้วิเคราะห์ความเสี่ยงและพบว่า มีโอกาสที่วัตถุอวกาศจะตกลงสู่ประเทศไทยเพียงร้อยละ 0.18 ซึ่งผลลัพธ์เป็นไปตามที่ระบบได้คาดการณ์ ท้ายที่สุดวัตถุอวกาศดังกล่าวได้ตกลงในมหาสมุทรอินเดีย ไม่ก่อให้เกิดความเสียหายแต่อย่างใด
.
นอกจากนี้ ระบบ ZIRCON ยังทำให้ประเทศไทยสามารถบริหารจัดการอวกาศได้ด้วยตนเอง ลดการพึ่งพาต่างประเทศ ตลอดจนเป็นการส่งเสริมให้เกิดการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศภายในประเทศตามนโยบาย National Roadmap ของการวิจัยขั้นแนวหน้าระบบโลกและอวกาศ หรือ Earth Space System Frontier Research : ESS เพื่อยกระดับขีดความสามารถด้านเทคโนโลยีอวกาศของประเทศอีกด้วย
.
GISTDA ยังคงมุ่งมั่นวิจัยและพัฒนาระบบ ZIRCON ให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และมุ่งยกระดับความร่วมมือกับทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ยกระดับความพร้อมในการรับมือกับภัยคุกคามทางอวกาศอย่างทันท่วงที เพื่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนที่ไม่อาจประเมินมูลค่า โดยยึดผลประโยชน์แห่งชาติและความมั่นคงองค์รวมของโลกเป็นสำคัญ
.
Credit : ข้อมูลจำนวนดาวเทียมและแนวโน้มอุตสาหกรรมอวกาศจาก Bank of America Merrill Lynch
.
#จิสด้าก้าวสู่ปีที่22 #จิสด้า #GISTDA #ดาวเทียม #ภัยคุกคามจากห้วงอวกาศ #ภารกิจด้านความมั่นคง #กิจการอวกาศ #ขยะอวกาศ
This website uses cookies. Our website creates and utilizes cookie data in order for your visit to be smooth, efficient, and private. Please read our cookie policy and GISTDA's personal data protection policy for further detail.
This website uses cookies. Our website creates and utilizes cookie data in order for your visit to be smooth, efficient, and private. Please read our cookie policy and GISTDA's personal data protection policy for further detail.