Head GISDTDA

ภูมิสารสนเทศเพื่อบรรเทาภาวะโลกร้อน

#ภูมิสารสนเทศเพื่อบรรเทาภาวะโลกร้อน
.
รู้หรือไม่ว่าเป็นเวลานานมาแล้วที่ข้อมูลภูมิสารสนเทศโดยเฉพาะข้อมูล GIS ได้ถูกนำมาใช้เพื่อสนับสนุนการลดการปล่อยมลพิษจากการจราจร นับตั้งแต่การกำหนดเส้นทางเพื่อสู่เป้าหมายอย่างปลอดภัยและประหยัดเวลา ช่วยลดการขับที่วกไปวนมาเพื่อลดการเผาผลาญเชื้อเพลง อีกทั้งยังช่วยลดการแออัดบนท้องถนนด้วยแนะนำเส้นทางอื่นไม่ติดขัด รวมไปถึงการกระตุ้นให้คนหันมาปั่นจักรยานหรือเดินกันมากขึ้นโดยใช้ข้อมูล GIS ในแผนที่ออนไลน์บนสมาร์ทโฟนเป็นเครื่องมือช่วยในการนำทางที่สะดวกขึ้นกว่าแต่ก่อน ทั้งหมดนี้นับว่าส่วนของการช่วยลดมลพิษทางอากาศ
.
ตัวอย่างหนึ่งที่ประสบความสำเร็จคือเครือข่ายร้านค้าขนาดใหญ่ในยุโรปที่มีการนำเอาระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) มาเพื่อช่วยบริการจัดการบรรดารถบรรทุกกระจายสินค้า โดยวัตถุประสงค์ก็เพื่อต้องการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ด้วยการสร้างระบบติดตามที่นอกจากจะระบุพิกัดตำแหน่งรถบรรทุกบนแผนที่ แต่ยังรวมถึงการนำข้อมูลจากแหล่งต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการปล่อยมลพิษ เช่น สภาพจราจร ผลกระทบจากความลาดชันของถนน ความเร็ว การรับน้ำหนัก เป็นต้น เข้ามามีส่วนในการวิเคราะห์เพื่อการวางแผนและการตัดสินใจอย่างชาญฉลาด ซึ่งระบบสามารถช่วยคำนวณไอเสียที่ปล่อยออกมาสำหรับเครื่องยนต์ทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นดีเซล์หรือรถยนต์ไฟฟ้าบนการเดินทางในทุกสภาพถนน
.
ด้วยข้อมูลเหล่านี้ทำให้ระบบแผนที่อัจฉริยะสามารถวิเคราะห์สภาพถนนและเส้นทางที่เหมาะสมต่อเครื่องยนต์แต่ละประเภท อีกทั้งให้คำแนะนำการปรับปรุงเครื่องยนต์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในแต่ละสภาพท้องถนน เพื่อลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์และช่วยลดต้นทุน อีกทั้งนโยบายการช่วยลดการปลดปล่อยมลพิษยังช่วยส่งเสริมภาพลักษณ์ของแบรนด์
.
#การจัดการการจราจรอัจฉริยะ
.
อีกหนึ่งตัวอย่างที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของ GIS เพื่อการลดมลพิษในประเทศอังกฤษนั้นคือมอเตอร์เวย์อัจฉริยะ ที่สามารถแนะนำความเร็วที่เหมาะสมตามสภาพคุณภาพอากาศ ณ ปัจจุบัน ซึ่งมีการนำ GIS มาใช้ในการวางแผนสร้างตั้งแต่เริ่มสร้าง ประกอบกับมีการตรวจวัดค่าคุณภาพอากาศบนมอเตอร์เวย์ด้วยเซนเซอร์แบบเรียลไทม์ทำให้ได้ผลลัพท์แสดงผลในรูปแบบของข้อมูล GIS เพื่อเป็นหนึ่งตัวแปรที่ใช้ในการกำหนดความเร็วสูงสุดที่เหมาะสมกับสถานะการณ์ค่ามลพิษในอากาศ ณ ปัจจุบัน 
.
ในขณะที่ในเขต West Midlands ประเทศอังกฤษมีการนำ GIS มาใช้เพื่อติดตามและควบคุมความคล่องตัวของสภาพจราจรแบบเรียลไทม์ โดยฉพาะเหตุการณ์ที่กีดขวางการจราจร เช่น รถเสีย ก็จะมีการส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปเคลียร์สถานการณ์ ณ พิกัดที่ได้รับแจ้งจากระบบควบคุมการจราจรที่เบื้องหลังก็คือเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ
.
ด้วยการรวมรวมข้อมูลการขนส่งและจราจรแบบเรียลไทม์จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องประมาณ 20 หน่วยงานพันธมิตรรวมถึงหน่วยงานท้องถิ่น รถไฟ รถราง ผู้ประกอบการรถโดยสาร เครือข่ายรถไฟและทางหลวงแผ่นดิน นำมาวิเคราะห์ร่วมกันและนำเสนอผ่านแดชบอร์ด จะช่วยทำให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องมีความเข้าใจที่ตรงกันกับเหตุกาณ์ที่เกิดขึ้น ก่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาร่วมกันอย่างเป็นเอกภาพ
.
ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นไม่ใช่แค่เพียงแผนที่บนระบบบริการจัดการการจราจร แต่ทว่าความร่วมมือพัฒนาดังกล่าวทำให้เกิดข้อมูลที่มีค่ามหาศาลที่ช่วยทำให้เกิดความเข้าใจเกี่ยวกับพฤติกรรมการขับขี่ของประชาชนในพื้นที่และยังเป็นระบบที่สนับสนุนให้มีการตัดสินใจอย่างรวดเร็วในกรณีที่มีเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้น 
.
สิ่งเหล่านี้เป็นเพียงหนึ่งในตัวอย่างของแนวโน้มพัฒนาการของเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศในปัจจุบัน เพื่อช่วยบรรเทาต้นเหตุของภาวะโลกร้อนที่ทวีความรุนแรงมากขึ้นทุกวัน การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์หรือก๊าซเรือนกระจกชนิดอื่นๆ จึงเป็นหนทางเลือกหนึ่งที่หลายภาคส่วนกำลังให้ความสนใจ แต่ทว่าปัญหาภาวะโลกร้อนเป็นปัญหาระดับโลกที่ยังคงต้องอาศัยความร่วมมือกันในทุกระดับทั่วโลกที่ต้องดำเนินการไปพร้อมๆกัน และภูมิสารสนเทศก็จะยังคงเป็นเทคโนโลยีหลักที่สนับสนุนในทุกมิติตั้งแต่สร้างความเข้าใจปัญหาจนนำไปสู่การตัดสินใจแก้ปัญหาที่ถูกจุดอย่างเสมอมาและตลอดไป  
.
อ้างอิง geospatialworld.net

phakpoom.lao 25/10/2565 1
Share :