Head GISDTDA

SPACE Update : After Launch การฝึกซ้อมขั้นตอนการควบคุมดาวเทียมหลังการปล่อยตัว

   เมื่อดาวเทียมผ่านการทดสอบระบบการทำงานทั้งหมดและสภาพแวดล้อมในอวกาศแล้วขั้นตอนต่อไปคือการตรวจสอบระบบการสั่งการและระบบการดาวน์โหลดข้อมูลเพย์โหลดดาวเทียมของ Ground Operation เพื่อให้มั่นใจว่าเมื่อดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรแล้ว ภาคพื้นดินจะยังควบคุม สั่งการ และติดต่อกับดาวเทียมได้อยู่

   สวัสดีครับลูกเพจทุกท่าน วันนี้เรายังอยู่กับการตรวจสอบดาวเทียม THEOS-2A ครับ เราต้องตรวจสอบทุกอย่างให้ละเอียดรอบคอบจึงมีขั้นตอนที่หลากหลายอย่างที่ได้เล่ามาในสองบทความก่อน

   สำหรับบทความนี้เป็นเรื่องของการซ้อมขั้นตอนที่เรียกว่า LEOP (the Launch and Early Orbit Phase) และ Commissioning ครับ

   LEOP (the Launch and Early Orbit Phase) เป็นขั้นตอนที่วิศวกรควบคุมดาวเทียม (Ground System Engineer) จะติดต่อกับดาวเทียมหลังจากที่มันแยกตัวออกจากจรวด ซึ่งหากพลาดขั้นตอนนี้ไปอาจทำให้ไม่สามารถสื่อสารกับดาวเทียมได้อีก จากนั้นจึงทำงานร่วมกับวิศวกรระบบควบคุมการทรงตัวของดาวเทียม (Attitude and Orbit Control System (AOCS) Engineer) เพื่อสั่งการระบบควบคุมการทรงตัวให้ดาวเทียมเปลี่ยนการทรงตัวจากสถานะโหมดหมุนเคว้งอย่างอิสระไร้การควบคุม (Random tumbling mode) เข้าสู่สถานะ โหมดที่ดาวเทียมจะรักษาการทรงตัว (Coarse Pointing Mode (CPM))โดยหันเพย์โหลดกล้องถ่ายภาพ (Imaging Payload) เข้าหาจุดศูนย์กลางของโลกอยู่ตลอดเวลา ซึ่งเป็นสภาพที่ดาวเทียมพร้อมทำงานและปลอดภัยในอวกาศ

 

จากนั้นสถานีภาคพื้นดินจะส่งคำสั่งควบคุมต่าง ๆ ให้ดาวเทียมเพื่อตรวจเช็คสถานะเบื้องต้น

(Health Checks) ก่อนสั่งให้ดาวเทียมเข้าสู่สถานะ Nominal Mode (NOM) หรือ

โหมดที่ดาวเทียมจะรักษาการทรงตัวด้วยความแม่นยำสูงซึ่งออกแบบมาเพื่อการถ่ายภาพ

บนพื้นโลกและการถ่ายโอนข้อมูลจากดาวเทียมสู่สถานีภาคพื้น (Satellite downlink operation)

โดยดาวเทียมจะอยู่ในโหมด NOM ก่อนเข้าสู่กระบวนการ Commissioning

 

   ในส่วนของกระบวนการ Commissioning ดาวเทียมนั้น เป็นการทดสอบว่าประสิทธิภาพของดาวเทียมตรงตามความต้องการของเราไหม เช่น การส่งชุดคำสั่งเพื่อติดตามสถานะของดาวเทียม ทำการปรับเทียบกล้องถ่ายภาพที่เป็นเพลย์โหลดหลัก ปรับเทียบระบบควบคุมการทรงตัวของดาวเทียม ดาวเทียมต้องรับและส่งสัญญาณตามที่กำหนดได้ โดยทีม Ground Operation จะทำงานร่วมกับวิศวกรดาวเทียมในส่วนนี้เพื่อซักซ้อมให้มั่นใจว่า ดาวเทียมจะขึ้นไปได้อย่างปลอดภัยและทำงานได้จริง หากเกิดข้อผิดพลาดจะต้องทำการแก้ไขให้เรียบร้อยก่อนที่จะส่งมอบดาวเทียมให้กับทีมรับสัญญาณและวางแผนภาพถ่ายดาวเทียม (Operator) ต่อไป

สำหรับการปล่อยดาวเทียมดวงหนึ่งความละเอียดรอบคอบเป็นหนึ่งในปัจจัยสำคัญที่จะทิ้งไปไม่ได้เลยครับ เราจึงต้องทดสอบทุกอย่างที่ทำได้ให้ดาวเทียมอยู่ในสภาพที่ดีสุดเพื่อที่ THEOS-2A จะทำหน้าที่ได้อย่างสมบูรณ์เป็นประโยชน์แก่คนไทยทุกคนครับ

__________

ขอบคุณข้อมูลจากคุณภะนัฏชัย บุญนิธิ คุณวสันต์ สุวรรณหงส์ และคุณชิดชนก

ชัยชื่นชอบ วิศวกร THEOS-2A

amorn.pet 23/9/2022 0
Share :