Head GISDTDA

สถิติจุดความร้อนย้อนหลัง 5 ปี

     เวลานี่ช่างเดินไวจริงๆ ครับ เผลอได้ไม่นานเราก็เข้ามาในสัปดาห์ที่ 3 ของเดือนมีนาคมกันแล้ว ตลอดเวลาที่ผ่านมาเกิดข่าวและประเด็นต่างๆ ที่น่าสนใจมากมาย แต่..! จะมีใครสังเกตไหมครับว่าปีนี้ประเทศของเราพบจุดความร้อนน้อยกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก ทั้งๆ ที่ในช่วงเดือนมีนาคมซึ่งเป็นเดือนของการเริ่มต้นฤดูร้อน ไฟป่าและหมอกควันมันก็ควรจะมีเยอะเหมือนๆ ที่ผ่านมาสิ ฉะนั้นวันนี้ผมจะขอกลับมาพูดถึงเรื่องของจุดความร้อนและไฟป่ากันอีกรอบ เพราะว่าแอดมินไปเจอตัวเลขสถิติย้อนหลังของจุดความร้อนภายในประเทศที่ค่อนข้างน่าสนใจ เลยอยากนำมาเสนอให้กับแฟนเพจทุกคนได้รับรู้กันไปด้วย
.

     ข้อมูลที่ว่านั้นเป็นตัวเลขของจุดความร้อนย้อนหลัง 5 ปี ตั้งแต่ปี พ.ศ.2560 ถึง 2564 ในช่วงเดือนมกราคม ถึง พฤษภาคมซึ่งเป็นเดือนสุดท้ายของฤดูร้อน ในเบื้องต้นอย่างแรกที่น่ายินดีก็คือจุดความร้อนในประเทศไทยมีจำนวนลดลงหลังจากที่เคยขึ้นไปทำจุดสูงสุดในปี 2562 ที่ 205,373 จุดทั่วประเทศ ตามด้วย 205,288 จุด ในปี 2563 และลดลงมาเหลือ 101,869 จุด ในปี 2564   
.
     จุดที่น่าสนใจดังที่ได้เกริ่นไปข้างต้น คือในปีปัจจุบัน พ.ศ.2565 นับตั้งแต่ต้นปีถึงวันที่ 15 มีนาคม ไทยพบจุดความร้อนทั่วประเทศ 31,082 จุด คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 39.12 ของจำนวนจุดความร้อนปี 2564 ในช่วงระยะเวลาเดียวกัน ซึ่งน้อยกว่าปีที่ผ่านมาถึง 48,359 จุด ส่วนสาเหตุที่ Hotspot มีจำนวนลดลงสามารถวิเคราะห์ได้ดังนี้

.
     ประการแรก การมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยและสามารถนำมาใช้งานให้ตรงกับความต้องการจนเกิดประโยชน์สูงสุด หากมองย้อนกลับไปสมัยก่อนเรายังไม่อาจคาดเดาได้ว่าจะเกิดไฟป่าขึ้นที่ไหน เมื่อไหร่ แต่ในปัจจุบันสามารถที่จะคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงไฟป่าล่วงหน้าได้ด้วยข้อมูลเชิงพื้นที่ในอดีต เช่น ข้อมูลจุดความร้อน ดัชนีความแตกต่างของความชื้น ความถี่ในการเผาไหม้ และข้อมูลอุตุนิยมวิทยา ผลที่ได้คือการทราบว่าพื้นที่ใดบ้างจะมีความเสี่ยงที่อาจเกิดไฟป่า ทำให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องสามารถนำไปวางแผน ป้องกัน หรือหากมีไฟป่าเกิดขึ้นก็สามารถคลี่คลายสถานการณ์และได้รับการแก้ไขอย่างทันท่วงที บรรเทาความรุนแรงและลดระยะเวลาของการลุกลามได้มากยิ่งขึ้น
.

     ประการที่สอง การลดลงของจุด Hotspot เกิดจากความร่วมมือจากหลายภาคส่วนทั้งหน่วยงานภาครัฐเอง หน่วยงานเอกชน กลุ่มอาสาสมัครต่างๆ และภาคประชาชน ที่ร่วมกันดูแล ป้องกัน แก้ไข และเฝ้าระวังภัยพิบัติไฟป่า ไม่ว่าจะเป็นการให้องค์ความรู้และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องถึงสาเหตุและผลกระทบที่จะเกิดขึ้นตามมา หากเราดูข้อมูลจุดความร้อนของประเทศเพื่อนบ้านจะพบว่ามีจำนวนสูงขึ้นต่อเนื่องนับตั้งแต่ต้นปี บางวันเคยพบมากถึงเกือบ 6 พันจุดในสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา แต่ในขณะที่ประเทศไทยพบจุดความร้อนแตะที่ระดับหนึ่งพันจุดเพียงแค่ 2 วันเท่านั้น นั่นอาจหมายความได้ว่าประเทศไทยมีการบริหารจัดการภายในที่ดีกว่าประเทศเพื่อนบ้าน
.
     ประการสุดท้าย การได้รับอิทธิพลจากลานีญา (La Niña) ลานีญานั้นเป็นชื่อของปรากฎการณ์ทางธรรมชาติอย่างหนึ่ง โดยเกิดจากความผันผวนของกระแสอากาศโลกบริเวณเส้นศูนย์สูตรเหนือมหาสมุทรแปซิฟิก สภาวะลานีญาจะทำให้ประเทศไทยมีฝนตกมากกว่าปกติ ซึ่งที่ผ่านมาลักษณะอากาศในช่วงต้นปีจะค่อนข้างแปรปรวนและมีฝนตกเป็นระยะๆ อาจจะหนักบ้างเบาบ้างสลับกันไป ส่งผลให้จุดความร้อนในพื้นที่เสี่ยงต่างๆ ลดน้อยลงไปด้วย ทั้งๆ ที่เดือนมีนาคมของทุกปีจะเป็นเดือนที่คาดว่าน่าจะเกิดจุดความร้อนมากที่สุดในรอบปี เนื่องจากเป็นช่วงต้นของการเข้าสู่ฤดูร้อน ความแห้งแล้งจะทำให้เชื้อเพลิงต่างๆ ติดไฟและลุกลามง่ายขึ้น แต่เมื่อได้รับน้ำและความชื้นจากฝนทำให้เชื้อเพลิงเหล่านั้นไม่สามารถลุกไหม้ได้
.

     โดยในทุกๆ ปีพื้นที่ที่พบจุด Hotspot มากที่สุดนั้นยังหนีไม่พ้นบริเวณภาคเหนือ ในจังหวัดลำปาง แม่ฮ่องสอน ตาก และเชียงใหม่ ตามลำดับ เนื่องด้วยสภาพภูมิประเทศของภาคเหนือและวิถีชีวิตของชาวบ้านที่มีความเชื่อว่าการเผาจะทำให้พืชบางชนิดเจริญเติบโตได้ดี สามารถที่จะเก็บไปจำหน่ายหรือบริโภคภายในครัวเรือนได้มากขึ้น หรือจะเป็นการเผาเพื่อเคลียพื้นที่สำหรับการเข้าไปล่าสัตว์ ยกตัวอย่างเช่น หมูป่าที่มักจะออกมาเล็มหญ้าอ่อนหลังเกิดไฟไหม้ หรือการเผาไร่เพื่อจัดการพื้นที่ก่อนและหลังเก็บเกี่ยวจนทำให้เกิดการลุกลามเข้าไปในพื้นที่ป่า สาเหตุเหล่านี้จึงสามารถตอบคำถามได้ว่าทำไมจุดความร้อนที่เกิดขึ้นมักพบในพื้นที่ป่าอนุรักษ์และป่าสงวนฯ
.
     ส่วนภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีจุดความร้อนสะสมรองลงมา ส่วนใหญ่จะพบมากในจังหวัดสกลนคร ชัยภูมิ และนครราชสีมา เป็นที่ทราบกันดีว่าลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ราบและพื้นที่ส่วนมากถูกใช้ในการปลูกข้าว ข้าวโพด และอ้อย ทำให้จุดความร้อนมักจะเกิดมากในพื้นที่เกษตร เมื่อถึงฤดูในการเก็บเกี่ยวผลผลิตหากเป็นไร่อ้อยก็มักจะเผาเพื่อให้ง่ายต่อการเก็บเกี่ยว หรือในกรณีของข้าวและข้าวโพดจุดความร้อนที่เกิดขึ้นจะอยู่ในลักษณะของการเผาหลังเก็บเกี่ยวผลผลิต เพราะเป็นการจัดการกับเศษซากตอซังที่สะดวกและรวดเร็วสำหรับการเตรียมพื้นที่เพาะปลูกในรอบฤดูกาลต่อไป
.
     ไม่ว่าการเผาจะเกิดขึ้นจากสาเหตุหรือพื้นที่ใดก็ตามแต่ เมื่อเกิดแล้วย่อมสร้างความเสียหายให้กับระบบต่างๆ ของประเทศ ทั้งเศรษฐกิจ สังคม นิเวศและสิ่งแวดล้อม เพราะไม่ใช่แค่ความเสียหายจากไฟเท่านั้น สิ่งที่ตามมาคือมลพิษ เขม่าควัน ที่จะกลายเป็นฝุ่นละอองขนาดเล็ก ส่งผลกระทบเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันทั้งหมด และถ้าหากจุดความร้อนลดน้อยลงตามที่คาดหวังนั้นคงจะเป็นสัญญาณที่ดี แต่หากไม่ใช่นี่อาจเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของฤดูกาลไฟป่าหมอกควันอย่างที่ไทยเผชิญมาโดยตลอดระยะเวลาหลายปีก็เป็นได้
.
     อย่างไรก็ตาม ในอนาคตอันใกล้นี้ ช่วงปลายปี 2565 ถึงต้นปี 2566 ประเทศไทยกำลังจะได้ใช้ระบบ THEOS-2 อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่ง 1 ในภารกิจสำคัญของระบบดังกล่าว คือการสำรวจ วิเคราะห์ และติดตามสถานการณ์ภัยพิบัติไฟป่าหมอกควัน และอื่นๆ ที่เกิดขึ้นหรือคาดว่าจะเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงทีและแม่นยำ เพื่อการสนับสนุนข้อมูลสำคัญให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำข้อมูลไปใช้วางแผน ป้องกัน บรรเทา แก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพและตรงจุดมากยิ่งขึ้น
#จิสด้า #gistda #จิสด้าก้าวสู่ปีที่22 #THEOS2 #ไฟป่า #จุดความร้อน #Hotspot #ข้อมูลย้อนหลัง #จุดความร้อนสะสม #พื้นที่เสี่ยง #ลานีญา #ลำปาง #แม่ฮ่องสอน #ตาก #เชียงใหม่ #สกลนคร #ชัยภูมิ #นครราชสีมา #มองโลกมองเรา #มองไปกับเป็ด

Phapawich Mahamart 16/3/2565 2
Share :