Head GISDTDA

ตามรอย Hotspot PM2.5 ภัยร้ายไม่ไกลตัว

     ฝุ่นเริ่มกลับมาแล้ว! เป็นครั้งแรกสำหรับปี พ.ศ. 2565 ที่พื้นที่ในบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลาง มีคุณภาพอากาศฝุ่นละอองขนาดเล็ก หรือ PM2.5 อยู่ในช่วง 38-50 µg./m3 ซึ่งจัดอยู่ในระดับปานกลาง ทำให้อาจส่งผลกระทบกับผู้ที่มีปัญหาสุขภาพด้านระบบทางเดินหายใจ หรือกลุ่มคนที่ทำกิจกรรมกลางแจ้ง โดยสถานการณ์ดังกล่าวนั้นสอดคล้องกับข้อมูลจุดความร้อน (Hotspot) ที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นปีจนถึงปัจจุบัน
.
     จากสถานการณ์จุดความร้อนที่เกิดขึ้นนับตั้งแต่ปีใหม่ ช่วงวันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 27 มกราคม 2565 มีจุดความร้อนที่เกิดขึ้นภายในประเทศไทย จำนวน 7,244 จุด โดยพบมากสุดในพื้นที่เกษตร 2,925 จุด พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 1,299 จุด พื้นที่เขตสปก. จำนวน 1,280 จุด พื้นที่ชุมชนและอื่นๆ จำนวน 963 จุด พื้นที่ป่าอนุรักษ์ 639 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 138 จุด ตามลำดับ ส่วนจังหวัดที่พบจุดความร้อนมากที่สุดในช่วงเวลาดังกล่าว อันดับที่หนึ่งคือจังหวัดลพบุรี 451 จุด อันดับที่สองเป็นจังหวัดกาฬสินธุ์ 388 จุด และอันดับที่สามจังหวัดขอนแก่น 345 จุด ตามลำดับ
.
     จากข้อมูลจะสังเกตได้ว่าจุดความร้อนที่เกิดขึ้นมากที่สุดในพื้นที่ 3 จังหวัด เป็นพื้นที่เกษตรกรรมอยู่ในบริเวณภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คาดว่าจุดความร้อนเกิดจากการเตรียมพื้นที่ก่อนและหลังเก็บเกี่ยวผลผลิต ซึ่งในช่วงเดือนธันวาคม ถึง เมษายนของทุกปี เป็นฤดูเก็บเกี่ยวอ้อยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และจังหวัดลพบุรี จังหวัดขอนแก่น ติด 3 อันดับแรกที่มีพื้นที่ปลูกอ้อยมากที่สุดในภาคกลางและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมีพื้นที่ปลูก 657,415 ไร่ และ 619,091 ไร่ ตามลำดับ ส่วนจังหวัดกาฬสินธุ์มีพื้นที่ปลูก 437,385 ไร่ (ข้อมูลจาก รายงานสถานการณ์การปลูกอ้อยปีการผลิต 2563/64 สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาล)
.
     ซึ่งที่มาของจุดความร้อนจนถึงปริมาณฝุ่น pm 2.5 ที่เกิดขึ้นในบ้านเรานั้นนอกจากจะเกิดจากมลพิษไอเสียของการเผ้าไหม้เชื้อเพลิงจากยานพาหนะ โรงงานอุตสาหกรรม และการก่อสร้างประเภทต่างๆแล้วนั้น สาเหตุสำคัญอีกประการหนึ่งคือฝุ่นละอองหรือเขม่าที่เกิดจากการเผาในกิจกรรมการเกษตร ยกตัวอย่างเช่น การจุดไฟเผาไร่อ้อย โดยปกติแล้วการเผาไร่อ้อยนั้นมีรูปแบบของการเผา 3 อย่าง คือ 1) การเผาก่อนตัดเพื่อให้สามารถเข้าไปตัดอ้อยได้ง่าย เกษตรกรไม่ต้องเหนื่อยเคลียใบ 2) การเผาเพื่อทำลายซากอ้อยหรือใบอ้อยหลังการตัดอ้อย และ 3) การเผาเพื่อเตรียมดินก่อนที่จะปลูกอ้อยใหม่ในรอบต่อไป นอกจากนี้ ยังมีการเผาในรูปแบบต่างๆอีกด้วย ทั้งเพื่อเตรียมการพื้นที่การเกษตร เผาหาของป่า เป็นต้น
.
     จากข้อมูลดังกล่าวนี้ อาจเป็นสาเหตุที่ว่าทำไมประเทศไทยถึงประสบปัญหาฝุ่นละอองมลพิษต่อเนื่องทุกปี โดยเฉพาะในช่วงเดือน ธันวาคม ถึง เดือนเมษายน เรื่องของจุดความร้อน ไฟป่า หมอกควัน และฝุ่น PM 2.5 จึงเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นในหลายพื้นที่ และในอนาคตประเทศไทยกำลังจะได้ใช้ระบบ THEOS-2 อย่างเต็มรูปแบบ ในช่วงปลายปี พ.ศ.2565 ซึ่ง 1 ในภารกิจสำคัญของระบบนี้คือการสำรวจ วิเคราะห์ และติดตามสถานการณ์ภัยพิบัติต่างๆ ที่เกิดขึ้นหรือคาดว่าจะเกิดขึ้น ได้อย่างทันท่วงทีและแม่นยำ เพื่อการสนับสนุนข้อมูลสำคัญให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำข้อมูลไปใช้วางแผน ป้องกัน บรรเทา และแก้ไขปัญหาได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป

#จิสด้า #gistda #จิสด้าก้าวสู่ปีที่22 #ไฟป่า #หมอกควัน #คุณภาพชีวิต #วิเคราะห์ข้อมูล #มลพิษทางอากาศ #จุดความร้อน #คุณภาพอากาศ #ค่าฝุ่นละออง #ฝุ่นพิษวิกฤติชาติ #รู้สู้ภัยพิบัติ #THEOS2

Phapawich Mahamart 28/1/2565 0
Share :