Head GISDTDA

งานวิจัย “ระบบการจัดการจราจรอวกาศ” สู่การบูรณาการร่วมของหน่วยงานรัฐและมหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นการพัฒนากำลังคนด้านอวกาศ สอดรับ พรบ.กิจการอวกาศของประเทศ

ปัจจุบัน สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ภายใต้กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม โดยศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมอวกาศด้านกลศาสตร์วงโคจร หรือ AstroLab มีการวิจัยและพัฒนาด้านเทคโนโลยีอวกาศ อยู่ 4 ด้านหลักๆ คือ การวิจัยและศึกษาพลวัตของการบินในอวกาศ หรือ Space flight dynamics, การวิจัยพัฒนาด้านซอฟต์แวร์ควบคุมการปฏิบัติการดาวเทียมขนาดเล็ก หรือ Onboard flight software for small satellite (ขนาดน้อยกว่า 1,200 kg), การวิจัยที่มุ่งเน้นความปลอดภัยและบรรเทาภัยจากขยะอวกาศหรืออุกกาบาตที่กระทบต่อมวลมนุษยชาติ หรือ Space debris and asteroid mitigationและการศึกษาวิจัยทางด้านพยากรณ์สภาพอวกาศ หรือ Space weather forecast โดยจะยกตัวอย่างงานวิจัยทางด้าน space debris and asteroid mitigation ที่น่าสนใจมากๆ และเห็นเป็นรูปธรรมชัดเจน คือ “ระบบการจัดการจราจรอวกาศ หรือ เซอร์คอน (ZIRCON)” ระบบที่ใช้สำหรับการติดตามความเสี่ยงการชนของดาวเทียมไทยโชต รวมถึงดาวเทียม THEOS-2 และแจ้งเตือนภัยวัตถุอวกาศที่จะตกมายังพื้นโลก พร้อมการคาดการณ์ผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับประเทศไทยได้แม่นยำเทียบเท่ากับการวิเคราะห์ของ Space Data Association หรือ SDA ซึ่งเป็นบริษัทต่างชาติที่ให้บริการแจ้งเตือนการชนให้กับหน่วยงานอวกาศระดับนานชาติอย่าง NASA, DLR, AIRBUS และ Inmarsat เป็นต้น 

ด้วยจำนวนขยะอวกาศที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องและการเตรียมความพร้อมเพื่อให้บริการดาวเทียมสัญชาติไทยในอนาคต GISTDA จึงได้วิจัยและพัฒนาอัลกอริทึม เพื่อนำมาตรวจสอบเพิ่มความเร็วในการวิเคราะห์ความเสี่ยงของการชนให้รวดเร็วยิ่งขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ โดยผู้วิจัยหลักของงานนี้ คือ นายพศวีร์ เสียงเย็น นักวิจัยของ GISTDA ซึ่งปัจจุบันกำลังศึกษาปริญญาโท อยู่ที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ ภาควิชาคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ งานวิจัยนี้เป็นการร่วมวิจัยระหว่างนักวิจัย GISTDA และ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มีอาจารย์ที่ปรึกษาโดย ดร.สิทธิพร ชาญนำสิน (หัวหน้าห้องปฏิบัติการกลศาสตร์อวกาศ) และ ดร. ธนาธิป ลิ่มนา (อาจารย์ประจำภาควิชาคอมพิวเตอร์)ตามลำดับ ซึ่งผลจากการวิจัยพบว่า “สามารถพัฒนาและทดสอบเทคนิคให้วิเคราะห์และแจ้งเตือนความเสี่ยงของการชนได้รวดเร็วและแม่นยำมากกว่าที่เป็นอยู่ได้เป็นอย่างดี” และ GISTDA เองก็ได้มีโอกาสนำเสนอผลงานวิจัยนี้ในการประชุมวิชาการระดับนานาชาติ International Electrical Engineering Congress หรือ iEECON 2022 จนได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเลิศ หรือ The Best paper award ของปีนี้มาครองได้สำเร็จ

งานวิจัยนี้ถือเป็นรากฐานที่สำคัญ เพราะนอกเหนือจากองค์ความรู้และนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีอวกาศที่เราได้รับแล้ว สิ่งที่เราได้ควบคู่กันไปด้วยจากงานนี้ก็คือ “การบูรณาการวิจัยร่วมกันระหว่างหน่วยงานรัฐและมหาวิทยาลัย” ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศด้านอวกาศที่หลายภาคส่วนต้องทำงานร่วมกัน เพื่อส่งเสริมให้เกิดการสร้างและพัฒนากำลังคนด้านเทคโนโลยีอวกาศสำหรับรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมอวกาศใหม่ หรือ New space economy ซึ่งจะสอดคล้องกับ พรบ. กิจการอวกาศของประเทศไทยในด้านการวิจัยวิทยาการอวกาศ และการพัฒนาบุคลากรด้านวิทยาการอวกาศ ที่ขณะนี้อยู่ระหว่างการชี้แจงต่อสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา และอีกไม่นานเกินรอก็จะมีการประกาศ พรบ.ฉบับนี้ใช้อย่างเป็นทางการครับ

GISTDA มีความตั้งใจและมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ การสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านอุตสาหกรรมอวกาศ ส่งเสริมและยกระดับผู้ประกอบการเข้าสู่อุตสาหกรรมอวกาศ ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญที่จะผลักดันและขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอวกาศไทยบนพื้นฐานของการนำคุณค่าจากอวกาศมาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมของไทย

phasaphong.tha 14/3/2565 0
Share :