Head GISDTDA

GISTDA จัดสัมมนารับฟัง (ร่าง) แผนแม่บทภูมิสารสนเทศแห่งชาติ เร่งรัดพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ

การพัฒนาและการประยุกต์ใช้ภูมิสารสนเทศในประเทศไทย ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีการขยายตัวอย่างรวดเร็วและกว้างขวางอย่างมาก มีการลงทุนในการจัดสร้างข้อมูลภูมิสารสนเทศของแต่ละหน่วยงานต่างๆเพิ่มมากขึ้น โดยคุณภาพของข้อมูล รวมถึงความถูกต้องของข้อมูลจะขึ้นอยู่กับงบประมาณ ภารกิจ และการใช้งานข้อมูลของหน่วยงานนั้นๆ ซึ่งที่ผ่านมา ทำให้เกิดปัญหาต่างๆ เช่น การกำหนดระบบพิกัดหลักฐานที่ต่างกัน การใช้เกณฑ์เพื่อกำหนดความถูกต้องของข้อมูลที่ต่างกัน เป็นต้น ซึ่งเป็นสาเหตุหนึ่งของการที่ไม่สามารถนำข้อมูลจากหน่วยงานเจ้าของข้อมูลมาวิเคราะห์ร่วมกันได้ และส่งผลทำให้สูญเสียงบประมาณในการจัดทำข้อมูลขึ้นใหม่ เกิดการใช้งบประมาณ อย่างซ้ำซ้อนในสิ่งเดียวกัน ส่งผลถึงการบริหารจัดการที่ไม่มีประสิทธิภาพมากพอ
     ปัจจุบัน รัฐบาลได้มอบหมายให้ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA ภายใต้การกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และในฐานะผู้ช่วยเลขานุการของคณะกรรมการภูมิสารสนเทศแห่งชาติ เป็นหน่วยงานกลางในการดำเนินการจัดทําแผนแม่บททางด้านภูมิสารสนเทศแห่งชาติ โดย GISTDA ได้ศึกษาและจัดทําแผนแม่บทภูมิสารสนเทศแห่งชาติขึ้นใหม่ให้สอดคล้องตามสภาพการณ์ในยุคปัจจุบัน โดยมุ่งเน้นเพื่อให้ได้แนวนโยบายและกลยุทธ์ที่เหมาะสมในการที่จะทำให้ทุกภาคส่วนในสังคมโดยรวมสามารถใช้ประโยชน์จากภูมิสารสนเทศอย่างแท้จริง โดยมีเป้าหมายเพื่อให้ประเทศไทยมี (ร่าง) แผนแม่บทภูมิสารสนเทศแห่งชาติปี พ.ศ. 2559 และมีการกำหนดกลยุทธ์ที่ชัดเจนและเหมาะสมในการพัฒนางานด้านภูมิสารสนเทศของประเทศไทยสำหรับช่วงปี 2560-2564 รวมถึงมีโครงสร้างพื้นฐานข้อมูลภูมิสารสนเทศ ซึ่งเป็นระบบเครือข่ายเพื่อสนับสนุนการพัฒนาระบบภูมิสารสนเทศของประเทศไทย โดยสามารถเข้าถึงและใช้ข้อมูลเชิงพื้นที่ร่วมกันได้ผ่านระบบ Internet ทั้งนี้ เพื่อให้ประเทศไทยมีเครือข่ายระบบออนไลน์ให้ทุกภาคส่วนใช้สืบค้น เรียกดู และดาวน์โหลดข้อมูลภูมิสารสนเทศพื้นฐานที่สมบูรณ์ ละเอียดถูกต้อง และทันสมัย ในรูปแบบที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อยอดได้ในเชิงพาณิชย์ของภาคธุรกิจ ในกิจการของรัฐ ในการศึกษาค้นคว้าวิจัย
   (ร่าง) แผนแม่บทภูมิสารสนเทศแห่งชาติปี ดังกล่าวประกอบด้วยยุทธศาสตร์ที่สำคัญ 4 ด้าน ประกอบด้วย
   1) ชุดภูมิสารสนเทศพื้นฐาน (Fundamental Geographic Data Set, FGDS)
   2) Spatial Data Clearinghouse
   3) มาตรฐานทางด้านภูมิสารสนเทศ และ
   4) นโยบายทางด้านภูมิสารสนเทศ

Admin 19/8/2559 0
Share :