Head GISDTDA

สนช. ร่วมกับจิสด้า จัดแข่งขันประกวดธุรกิจนวัตกรรม UAV Startup รอบ Pithcing ครั้งที่ 1

     ย้อนกลับไปเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ NIA และสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA จัดงาน UAV Startup 2017 เพื่อเปิดโอกาสให้กับบุคคล กลุ่มบุคคล รวมทั้งวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ของไทยในการพัฒนาโครงการนวัตกรรมด้านอากาศยานไร้คนขับ หรือ UAV มุ่งสู่การใช้งานเชิงพาณิชย์อย่างยั่งยืน

     12-13 พฤษภาคม 2560 ณ ศูนย์การประชุมวายุภักดิ์ แจ้งวัฒนะ สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ หรือ NIA ร่วมกับ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA จัดการแข่งขันประกวดธุรกิจนวัตกรรม UAV Startup รอบ Pitching หรือรอบการนำเสนอแนวคิดจากผลงาน ครั้งที่ 1 ซึ่งหลังจากการเปิดรับสมัครไปกว่า 5 เดือน มีผู้สนใจทั้งจากบุคคลของหน่วยงานราชการ และเอกชนต่างๆ ยื่นผลงานเข้าร่วมกว่า 80 ผลงาน โดยภายหลังจากการพิจารณาในเบื้องต้นมีผลงานที่มีความพร้อมที่จะนำเสนอให้คณะกรรมการ และบริษัท รวมถึงผู้ประกอบการ ได้ร่วมพิจารณาและให้ข้อเสนอแนะกว่า 23 ผลงาน อาทิ การใช้โดรนตรวจกลิ่นจากฟากฟ้า การใช้ UAV ตรวจมลพิษในสภาวะแวดล้อม การใช้อากาศยานไร้คนขับเพื่อเพิ่มสมรรถนะการบินและยกน้ำหนักเพื่อภารกิจสำรวจเกษตรอัจฉริยะและเฝ้าระวัง ระบบตรวจจับและแจ้งเตือนการเกิดไฟป่าด้วยอากาศยานไร้คนขับ หรือ การใช้ UAV ตรวจวัดคุณภาพอากาศแบบอัตโนมัติ เป็นต้น นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของผลงานที่ผ่านการเข้ารอบเพื่อนำเสนอแนวคิด ซึ่งหากผลงานใดมีความโดดเด่นและพร้อมในการจะนำไปพัฒนาต่อยอดได้จริง จะได้รับการพิจารณาให้เป็น 1 ใน 9 ผลงานที่จะมีสิทธิ์เข้าสู่การประกวดรอบชิงชนะเลิศในงาน UAV Startup ในช่วงปลายปี 2560 ต่อไป

     การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในส่วนของอุตสาหกรรมอนาคต (New S-curve) ซึ่งก็คืออุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ (Aviation and Logistics) ที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบเพื่อพัฒนาและส่งเสริม รวมถึงยกระดับเศรษฐกิจของประเทศไทยให้เติบโตอย่างก้าวกระโดด โดยมุ่งเน้นการพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อการนำประเทศก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 ทั้งนี้ ที่ผ่านมา GISTDA มีนโยบายที่จะสนับสนุนการบินเพื่อการสำรวจทางอากาศในลักษณะ UAV มาโดยตลอด ซึ่งเทคโนโลยีเหล่านี้ กลายเป็นธุรกิจที่มีการเติบโตและพัฒนาอย่างต่อเนื่องและมีการแข่งขันสูงมากในประเทศ เห็นได้จากบทบาทที่เพิ่มมากขึ้นในงานด้านความมั่นคงทางการทหาร งานสำรวจและการเกษตร งานแผนที่ งานถ่ายภาพ งานด้านกีฬาและสื่อสารมวลชน รวมถึงภารกิจที่สำคัญซึ่งเกี่ยวข้องกับความปลอดภัย UAV ถือเป็นอุตสาหกรรมบนฐานเทคโนโลยีขั้นสูง ดังนั้น การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมจึงต้องอาศัยผู้ประกอบการฐานนวัตกรรม (Innovation-Driven Enterprise) ที่สามารถรังสรรค์นวัตกรรมที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้งาน (end user) การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อผู้ประกอบการรุ่นใหม่ นอกจากจะได้รับความรู้อย่างเต็มที่แล้ว ยังเกิดแรงบันดาลใจในการสร้างธุรกิจให้ก้าวหน้าและสร้างรายได้ด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม อันจะช่วยผลักดันให้เกิดสังคมแห่งผู้ประกอบการ และขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไทยสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน

Admin 13/5/2560 0
Share :