Head GISDTDA

สุดเจ๋ง...ไอเดียการทดลองงานวิจัยในอวกาศได้ผู้ชนะแล้ว พร้อมการปรากฏตัวของหลิว-หยาง

สุดเจ๋ง...ไอเดียการทดลองงานวิจัยในอวกาศได้ผู้ชนะแล้ว
พร้อมการปรากฏตัวของหลิว-หยาง นักบินอวกาศหญิงคนแรกของจีน
ที่จะช่วยสานฝันให้เยาวชนไทยสนใจภารกิจด้านอวกาศ

26 สิงหาคม 2560 ภายในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติประจำปี 2560 ณ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพค เมืองทองธานี - กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า ได้ร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. จัดพิธีมอบรางวัลกิจกรรมการทดลองทางวิทยาศาสตร์อวกาศภายใต้โครงการ National Space Exploration 2017 โดยมีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนกิจกรรมด้านการทดลองวิทยาศาสตร์ในอวกาศและในสภาวะแรงโน้มถ่วงต่ำของไทย อีกทั้งเพื่อสร้างขวัญและกำลังใจให้กับนักวิจัยและเยาวชนที่อุทิศความตั้งใจให้กับกิจกรรมของรัฐ ซึ่งผลงานวิจัยที่ผ่านการคัดเลือกและได้รับโอกาสให้ทดลองในอวกาศ ได้แก่ 1.โครงการวิเคราะห์ปฏิสัมพันธ์ของโปรตีน-สารยับยั้ง และโปรตีน-โปรตีนสำหรับการพัฒนายาต้านมาลาเรีย โดย ดร.ชัยรัตน์ อุทัยพิบูลย์และทีมงาน 2.โครงการอาหารไทยไปอวกาศ โดย นายกฤษณ์ คุนผลินและทีมงาน 3.โครงการชักนำหัวของพืชสร้างหัวภายใต้สภาวะไร้น้ำหนัก โดย ดร. สุริยันตร์ ฉะอุ่มและทีมงาน และ 4.โครงการเครื่องพิมพ์สามมิติเพื่อผลิตอาหารในอวกาศ โดย นายตะวัน ถิ่นถาวรกุล และทีมงาน พร้อมกับการปรากฏตัวครั้งแรกของ Ms. Liu Yang (หลิว หยาง) นักบินอวกาศหญิงคนแรกของสาธารณรัฐประชาชนจีน

ดร.อรรชกา สีบุญเรือง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า เร็วๆนี้ประเทศไทยของเราจะมียุทธศาสตร์อวกาศแห่งชาติ 20 ปี ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีแผนพัฒนาด้านอวกาศระยะยาวที่ชัดเจนและครอบคลุมทั้งด้านการพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ การพัฒนาบุคลากร และการใช้ประโยชน์จากอวกาศ โดยที่ผ่านมากระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้ตระหนักถึงความสำคัญของการสนับสนุนความก้าวหน้าทางด้านอวกาศในหลายๆ ด้าน โดยเฉพาะการพัฒนาด้านเทคโนโลยีอวกาศที่ได้สร้างผลพวงเป็นนวัตกรรมที่มีประโยชน์มากมายให้กับมนุษยชาติ เช่น ดาวเทียมเป็นต้น ดังนั้น การวางแผนด้านอวกาศจึงเป็นการสร้างพื้นฐานที่มั่นคงสำหรับการรับมือต่อการพัฒนาด้านเทคโนโลยีใหม่ๆ นอกจากนี้การเข้าไปมีส่วนร่วมกับประเทศอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างและพัฒนาดาวเทียม ยานสำรวจอวกาศ การทดลองงานวิจัยในอวกาศ หรือสร้างมนุษย์อวกาศตั้งแต่ตอนนี้เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการร่วมแบ่งปันองค์ความรู้ และเทคนิครวมถึงอรรถประโยชน์ต่างๆ ที่ได้รับจากอวกาศที่สามารถนำมาต่อยอดเป็นนวัตกรรมต่างๆ ให้กับประเทศของเราได้ในอนาคต

อย่างไรก็ตาม กิจกรรมการทดลองวิทยาศาสตร์ในอวกาศที่ผ่านมาเพื่อต้องการผลักดันวงการวิจัยไทยให้นักวิจัยไทยของเราได้มีโอกาสสร้างสรรค์ผลงานและองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์เพื่อการทดลองในอวกาศและสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงได้เทียบเท่าประเทศอื่นๆ เพื่อก่อให้เกิดเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ ที่จะนำพาประเทศไทยไปสู่ความเข้มแข็งทางด้านเศรษฐกิจที่มีมูลค่าและยั่งยืน
สำหรับการมอบรางวัลในวันนี้ เรายังได้รับเกียรติจากนักบินอวกาศหญิงคนแรกของสาธารณรัฐประชาชนจีนMs. Liu Yang (คุณหลิว หยาง) มาร่วมแบ่งปันประสบการณ์เกี่ยวกับเส้นทางการเป็นนักบินอวกาศ ภารกิจการทดลองงานวิทยาศาสตร์อวกาศ และการปฏิบัติภารกิจบนสถานีอวกาศเทียนกง รวมถึงการค้นพบต่างๆ ในอวกาศ เพื่อช่วยเสริมสร้างแรงบันดาลใจให้แก่คนไทยทุกคนโดยเฉพาะเยาวชนไทยที่จะเป็นอนาคตของชาติให้สามารถทำความฝันให้เป็นจริงได้ เพื่อร่วมกันผลักดันให้ประเทศไทยมีความก้าวหน้าทางด้านวิทยาศาสตร์อวกาศต่อไป ดร.อรรชกา กล่าว

ทางด้าน ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการจิสด้า กล่าวว่า “กว่าทศวรรษที่ผ่านมา กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยจิสด้า ได้พัฒนาศักยภาพด้านเทคโนโลยีอวกาศให้กับประเทศมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นการศึกษาและพัฒนาระบบรับสัญญาณดาวเทียม  การพัฒนาดาวเทียมทั้งขนาดกลางและขนาดเล็ก  ตลอดจนบทบาทในการเป็น data provider ให้กับหน่วยงานต่างๆ ของประเทศ และวันนี้สิ่งต่างๆ ที่กล่าวมาได้สร้างกลไกและขับเคลื่อนประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ จิสด้าจึงขอนำพาประเทศไปสู่อีกขั้นของกิจการอวกาศไทย นั่นคือ การศึกษา การวิจัย และการสำรวจความรู้ใหม่ๆ ในอวกาศ

โดยจิสด้า ได้ร่วมกับ สวทช. ในการประสานความร่วมมือด้านการศึกษาและวิจัยงานวิทยาศาสตร์อวกาศ ภายใต้โครงการ National Space Exploration หรือ NSE ซึ่งมีวัตถุประสงค์เพื่อการวิจัยและการสำรวจในห้วงอวกาศ  และรวมถึงการสร้างองค์ความรู้จากงานวิจัยที่มีคุณค่าและการพัฒนาต่อยอดให้เป็นนวัตกรรมอวกาศ เพื่อการพัฒนาประเทศ ด้านการศึกษา ด้านสุขภาพอนามัย และด้านการยกระดับงานวิจัยในประเทศ  ตลอดจนการขยายอุตสาหกรรมอวกาศได้ต่อไปในอนาคต  เพื่อให้สอดคล้องและรองรับต่อแผนการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์อวกาศแห่งชาติ 20 ปี ซึ่งในวันนี้จิสด้าได้จัดพิธีมอบรางวัลให้แก่นักวิจัยที่ผ่านการคัดเลือกจากการนำเสนอโครงการวิจัยไปทดลองในอวกาศจำนวน 4 โครงการ และเยาวชนผู้มีส่วนร่วมในกิจกรรมด้านอวกาศของประเทศไทยจำนวน 10 กลุ่ม เพื่อเป็นการสร้างขวัญและกำลังใจให้กับนักวิจัยและเยาวชนที่อุทิศความตั้งใจให้กับกิจกรรมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอวกาศ รวมถึงเพื่อเป็นการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ให้บุคคลทั่วไปรับทราบและเล็งเห็นถึงความสำคัญของเทคโนโลยีอวกาศไทย ซึ่งเป็นการสร้างสังคมให้เป็นสังคมวิทยาศาสตร์  และเกิดการพัฒนาด้านองค์ความรู้ และเศรษฐกิจของประเทศได้อย่างยั่งยืนต่อไป” ผอ.จิสด้ากล่าว

ทางด้าน ดร.อัมรินทร์ พิมพ์หนู หัวหน้าโครงการ National Space Exploration ของจิสด้า กล่าวว่า “ในห้วงอวกาศอันกว้างใหญ่ยังมีสิ่งที่รอการค้นพบและตีแผ่อีกมากมาย ซึ่งรวมไปถึงการวางแนวทางในอนาคตให้กับเยาวชนไทยสู่การเป็นนักบินอวกาศ และโครงการ Thailand Manned Space Program ที่รอการผลักดันจากทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษา ที่ไม่ว่าจะเป็นการเล็งเห็นความสำคัญในการแข่งขันกับนานาประเทศหรือความต้องการยกระดับงานวิจัยและระบบความเป็นอยู่พื้นฐานของคนไทยก็ตาม สิ่งเหล่านี้จะเป็นใบเบิกทางให้คนไทยได้ขึ้นทำการวิจัยและสำรวจอวกาศได้ต่อไปในอนาคต ทั้งนี้ นักวิจัย อาจารย์ และเยาวชนคนไทยทั้งประเทศ จึงเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยผลักดันและขีดเส้นทางไปอวกาศ ไปดวงจันทร์ ไปดาวอังคาร และการสำรวจในห้วงอวกาศลึกของคนไทยได้ต่อไปในอนาคต”

Admin 26/8/2560 0
Share :