Head GISDTDA

จิสด้าร่วม สวทช. คัดสุดยอดงานวิจัยไปอวกาศ ปี 2

    ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 7 สทอภ. ศูนย์ราชการเฉลิมพระเกียรติ อาคารบี แจ้งวัฒนะ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ จิสด้า ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือ สวทช. ผนึกกำลังค้นหางานวิจัยที่จะส่งไปทดลองในอวกาศและสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง หรือ National Space Exploration ปี 2

หลังจากปิดรับสมัครมีผู้สนใจส่งหัวข้องานวิจัยเพื่อส่งไปทดลองในอวกาศเข้ามาเป็นจำนวนมาก ซึ่งคณะกรรมการได้ทำการคัดเลือกและกลั่นกรองจากการนำเสนอผลงานที่ทุกทีมส่งเข้ามาจนได้สุดยอด 6 ทีมสุดท้ายที่ผ่านเข้ารอบได้แก่ 

ทีมที่ 1 “การศึกษาการเปลี่ยนแปลงของเหลวจากกระบอกฉีดยาในระบบหมุนเวียนเลือดจำลองในสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง” จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา

ทีมที่ 2 “ระบบพยุงชีพที่ยั่งยืนจากไข่น้ำสำหรับการสำรวจอวกาศในอนาคต” จากมหาวิทยาลัยมหิดล, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี, มหาวิทยาลัยแม่โจ้, ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวอุบลราชธานี

ทีมที่ 3 “การผลิตแก๊สชีวภาพภายใต้สภาวะไร้น้ำหนักและการวิเคราะห์ประชากรจุลินทรีย์” จากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, คณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและการเกษตร มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา

ทีมที่ 4 “ประสิทธิภาพในการป้องกันการทำลาย DNA จากรังสีเอ็กส์ (x-ray) ของโปรตีน Dsup (Damage Suppressor Protein)” จากโรงเรียนปรินส์รอยแยลส์วิทยาลัย เชียงใหม่

ทีมที่ 5 “ผลของสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงต่อการผลิตกรดแกมมาพอลิกลูตามิกโดยแบคทีเรีย Bacillus subtilis” จากจากสถาบันเทคโนโลยีนิวเคลียร์แห่งชาติ, มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี, ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน

และทีมที่ 6 “การติดเชื้อ Cryptosporidium sppในหนูทดลองภายในสถานีอวกาศ” จากคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออกและภาควิชาโปรโตซัว คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล

โดยทั้ง 6 ทีมมีความสามารถและความเก่งไม่แพ้กัน โดยเฉพาะรูปแบบการนำเสนองานวิจัยที่เป็นไปอย่างสร้างสรรค์และมีไอเดียในทุกขั้นตอน พร้อมการยกตัวอย่างโมเดลที่น่าสนใจและเสมือนจริง สามารถตอบข้อซักถามจากคณะกรรมการได้ดี ซึ่งถือว่าแต่ละทีมทำการบ้านมาดีและต่างงัดไม้เด็ดงานวิจัยของตนเองมาโชว์อย่างเต็มที่

  โดยทีมที่ผ่านเข้ารอบในปีนี้และมีโอกาสที่จะส่งงานวิจัยไปทดลองในอวกาศมีอยู่ 2 ทีมด้วยกัน คือ งานวิจัยของทีมที่ 2 เรื่อง ระบบพยุงชีพที่ยั่งยืนจากไข่น้ำสำหรับการสำรวจอวกาศในอนาคตและงานวิจัยของทีมที่ 5 “ผลของสภาวะไร้แรงโน้มถ่วงต่อการผลิตกรดแกมมาพอลิกลูตามิกโดยแบคทีเรีย Bacillus subtilis” ซึ่งทั้ง 2 ทีมจะได้รับสิทธิในการทดลองงานวิจัยต่อไป เพื่อยกระดับพัฒนานวัตกรรมด้านงานวิจัยอวกาศสู่มาตรฐานสากล

Admin 6/9/2561 0
Share :