Head GISDTDA

ภูกระดึง…เสน่ห์ที่ไม่เคยจางหาย

#ภูกระดึง…เสน่ห์ที่ไม่เคยจางหาย

ภูกระดึง ประติมากรรมทางธรรมชาติที่ยิ่งใหญ่ กับเส้นทางเดินป่าสุดคลาสสิคและความสวยงามของทิวสนตัดกับสีสันบนท้องฟ้าที่เปลี่ยนไปตามเวลาและฤดูกาล เป็นสิ่งที่เหล่านักท่องเที่ยวหัวใจธรรมชาติยกให้เป็นหนึ่งในภูเขาที่ต้องไป แต่ทว่าเหตุการณ์ไฟป่าที่ผ่านมา เชื่อว่าหลายคนคงกังวลไม่น้อยถึงผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อทั้งผืนป่า สัตว์น้อยใหญ่ และบรรดาเจ้าหน้าที่ร่วมทั้งจิตอาสาที่ร่วมกันดับไฟ แต่ท้ายที่สุดด้วยความร่วมมือร่วมแรงกันอย่างสุดความสามารถก็เป็นผล ทำให้ไฟสงบลงในเวลาต่อมา แน่นอนว่าทุกครั้งที่เกิดเหตุการณ์แบบนี้ นอกจากเราจะช่วยส่งกำลังใจไปช่วยแล้ว อีกสิ่งหนึ่งที่เราสามารถทำได้เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการอนุรักษ์ธรรมชาติก็คือการสร้างความเข้าใจต่อ “ภูกระดึง”


1. สันฐานภูกระดึง – “ภูกระดึง” เป็นภูเขาหินทรายยอดตัด มีที่ราบบนยอดภูเขาเป็นพื้นที่กว้างประมาณ 60 ตารางกิโลเมตร หรือประมาณ 8,522 สนามฟุตบอลขนาดมาตราฐาน มีความสูงอยู่ระหว่าง 1,200 เมตรจากระดับทะเลปานกลาง หรือสูงจากพื้นที่โดยรอบประมาณ 950 เมตร เทียบคร่าวๆก็ประมาณ 3 เท่าของตึกใบหยก-2 ด้วยความสูงระดับนี้จึงทำให้อากาศบนยอดภูเย็นสบายตลอดทั้งปี อุณหภูมิเฉลี่ยทั้งปีอยู่ที่ 26 °C
.
2.ภูกระดึงขุนเขาแหล่งจินตนาการ - มองจากด้านที่ราบหรือด้านข้างภูเขา ภูกระดึงจะมีลักษณะคล้ายกับกระดึงห้อยคอวัว (ภาษาท้องถิ่น แปลว่า กระดิ่ง) สันนิษฐานว่าจากลักษณะรูปร่างดังกล่าวจึงกลายเป็นที่มาของชื่อภูเขาที่ชาวบ้านเรียกขานกัน แต่เมื่อมองจากมุมสูงโดยเฉพาะในภาพถ่ายจากดาวเทียม ภูกระดึงจะมีลักษณะคล้ายรูปหัวใจ ยิ่งเน้นย้ำให้ภูกระดึงเป็นสถานที่สุดแสนโรแมนติกสำหรับคู่รัก
.
บ้างก็มองว่าเป็นรูปใบบอน โดยมีส่วนปลายใบอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ และส่วนเว้าด้านในอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ซึ่งเกิดจากการกัดเซาะโดยธรรมชาติ โดยเฉพาะกระแสน้ำ ที่มีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการเปลี่ยนแปลงรูปร่างของภูเขาลูกนี้ ซึ่งเราจะสามารถมองเห็นทางน้ำไหลจากบนยอดภูสู่พื้นล่างอย่างชัดเจนบนภาพถ่ายจากดาวเทียมผ่านร่องเขาดังกล่าว
.
3.ภูมินามสู่ความเข้าใจ - ตลอดเส้นทางขึ้นสู่ยอดภูกระดึงเราจะเจอกับสาระพัดซำ ไม่ว่าจะ ซำแฮก ซำบอน ซำกกกอก ซำกกหว้า ซำกกไผ่ ซำกกโดน ซำแคร่ เป็นต้น แต่พอขึ้นไปบนยอดภูกลับพบชื่อสถานที่ที่ขึ้นต้นด้วย “ซำ” น้อยมาก ซึ่งคำว่า “ซำ” เป็นภาษาท้องถิ่น หมายถึง พื้นที่ที่มีน้ำซับหรือน้ำใต้ดินผุดขึ้นสู่ผิวดิน และสาเหตุที่ซำทั้งหลายพบเฉพาะตามไหล่เขา ต้องย้อนไปตั้งแต่กำเนิดภูเขาเลย ดังนี้
.
ภูกระดึงเป็นภูเขาหินทรายที่เกิดจากการทับถมของตะกอนเป็นเวลานานกว่าร้อยล้านปีมาแล้ว การทับถมในแต่ละยุคสมัยกินเวลาเป็นหลักล้านปีจึงทำให้ตะกอนค่อยผสานตัวและแข็งกลายเป็นหินในที่สุด ด้วยเวลาที่ต่างกันก็ทำให้องค์ประกอบในหินทรายต่างกันด้วย จึงสามารถแบ่งชั้นหินออกเป็นชั้นๆตามแต่องค์ประกอบของหิน
.
และเมื่อเวลาผ่านไปการกัดเซาะทางธรรมชาติจะเป็นตัวคัดกรองให้เหลือเพียงส่วนที่แข็งแกร่งยืนหยัดเป็นภูเขา ชั้นหินที่อ่อนก็ผุพังไปตามกาลเวลา ชั้นบนสุดก็กลายเป็นพื้นที่ราบบนยอดเขา ทำให้ภูกระดึงเป็นภูเขาโดดยอดตัดอย่างที่เห็นในปัจจุบัน ถ้าใครที่ยังนึกไม่ออก ก็ลองหยิบขนมชั้นแล้วกัดทั้งสองข้าง ลักษณะโครงสร้างภูเขาหินทรายยอดตัดแบบนี้ไม่ได้มีแค่เพียงภูกระดึงเท่านั้น แต่ยังรวมถึงอีกหลายลูกที่อยู่บริเวณใกล้เคียงกัน อาทิเช่น  ภูหลวง ภูเขียว ภูหอ เป็นต้น
.
จะเห็นว่าระหว่างชั้นของหินทรายจะมีแนวแตกตามชั้นหินที่เกิดจากแรงจากการเคลื่อนที่ของเปลือกโลก จากนั้น “น้ำ” ก็จะอาศัยช่องว่างระหว่างหินเหล่านี้ไหลลงสู่แหล่งน้ำใต้ดิน บางส่วนก็ไหลมาตามรอยแยกระหว่างชั้น มาโผล่ด้านข้างของภูเขาหรือไหล่เขา ซึ่งก็คือตำแหน่งของ ซำทั้งหลายตามทางขึ้นของภูกระดึงนั้นเอง
.
และชื่อที่ตามหลัง “ซำ” คาดว่าเป็นชื่อของชนิดพืชที่พบใกล้ๆกับแหล่งน้ำนั้นๆ เช่น ซำบอน ซำกกกอก ซำกกหว้า เป็นต้น ยกเว้น “ซำแฮก” นะครับ เพราะ “แฮก” ก็คือ “แรก” ในภาษาอีสาน เป็นจุดแวะพักจุดแรกบนเส้นทางขึ้นสู่ยอดภูกระดึง ซึ่งในความเป็นจริงกว่าจะปีนมาถึงตรงนี้ได้ ก็ทำเอาหลายคนถึงกับหอบแฮกๆ เลยทำให้เข้าใจผิดว่า ซำแฮก คือ อาการหอบแฮกๆแบบซ้ำๆ
.
4.ความสวยงามที่พึงระวัง - คำต่อมาที่เราพบเจอมากในแผนที่ภูกระดึงก็คือ ”ผา”  แน่นอนว่าก็คือ “หน้าผา” จุดหมายปลายทางที่ทุกคนที่ขึ้นไปบนยอดภูกระดึงแล้วต้องไปนั่งชมพระอาทิตย์อัสดงในยามเย็นหรือไม่ก็ไปนั่งชมแสงแรกแห่งวันในยามเช้า ซึ่งบนภูกระดึงก็หลายผาที่มีพื้นที่เปิดโล่งพอให้เราได้เก็บเกี่ยวบรรยากาศ อาทิเช่น ผานกแอ่น ผาหมากดูก ผาจำศีล ผานาน้อย ผาเหยียบเมฆ เป็นต้น
.
แน่นอนว่า ตำแหน่งของผาเหล่านี้ก็คือบริเวณขอบสุดของที่ราบบนยอดภูกระดึง เพราะฉะนั้นเราควรพึงระวังไว้เสมอหากได้มีโอกาสไปเที่ยวบริเวณดังกล่าว เนื่องจากหน้าผาที่ภูกระดึงนี้ค่อนข้างชัน แม้แต่ในภาพถ่ายจากดาวเทียมยังเห็นเป็นขอบสูงอย่างชัดเจน และเป็นจุดที่อาจจะเกิดการพังทลายของหินสู่ด้านล่างได้ง่าย และที่ผ่านมาก็มีข่าวนักท่องเที่ยวพลัดตกเพราะความประมาทมาแล้ว
.
5.วนศาสตร์ภูกระดึง - เสน่ห์อีกอย่างหนึ่งของภูกระดึง คือ ป่าสองข้างทางจะเปลี่ยนไปตามความสูงของพื้นที่ จาก ป่าเต็งรัง สู่ ป่าเบญจพรรณ ป่าดิบแล้ง ป่าดิบเขา และสุดท้าย ณ ยอดภูกระดึง คือป่าสนเขาและทุ่งหญ้า ในความรู้สึกจริงหากได้เข้าไปเดินป่าบนเส้นทางนั้น ก็จะประมาณว่าจากป่าที่โปร่งโล่ง อากาศร้อนอบอ้าว ค่อยๆเปลี่ยนเป็นป่าเขียวหนาทึบ ที่อุณหภูมิค่อยเย็นลงอย่างช้าๆ เป็นเพราะความชื้นจากต้นไม้ที่ให้เราได้สัมผัสตลอดเส้นทาง
.
ป่าเต็งรัง เป็นป่าที่ขึ้นในพื้นที่ความสูงไม่มากนัก ลักษณะป่าโปร่งโล่ง ส่วนมากจะประกอบไปด้วยกลุ่มต้นไม้ทนแล้งและทนไฟป่าเพราะมีเปลือกหนา ต้นไม้ในป่าเต็งรังเหล่านี้จะพร้อมใจกันผลัดใบในช่วงฤดูแล้งเพื่อรักษาสมดุลน้ำในลำต้น ฉะนั้นถ้าเราไปปีนเขาช่วงหน้าแล้งก็ต้องทนร้อนหน่อยเพราะไม่ค่อยมีร่มเงาให้บังแดดมากนักในป่าประเภทนี้ แต่พอถึงช่วงฤดูฝน ป่าเต็งรังก็จะกลับมามีสีเขียวสดใสของใบอ่อนไปทั่วบริเวณอีกครั้ง สำหรับที่ภูกระดึงก็จะพบป่าเต็งรังได้ตั้งแต่ที่ทำการอุทยานฯ ไปจนถึงประมาณ ซำกกกอก
.
ถัดมาคือป่าเบญจพรรณ ประมาณซำกกกอกถึงซำกกโดน บริเวณนี้สภาพป่าจะค่อยๆเปลี่ยนไปจากโปร่งโล่งกลายเป็นแน่นขึ้นจนรู้สึกร่มรื่นเย็นสบาย บริเวณนี้มีความอุดมสมบูรณ์ และชุ่มชื้นกว่าป่าเต็งรัง จึงมีพืชพื้นล่างหลากหลายชนิดโดยเฉพาะพวกไม้พุ่มและไม้ล้มลุก สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือมีต้นไผ่ขนาดใหญ่ (ตัวชี้วัดป่าเบญจพรรณ) ขึ้นเป็นกลุ่มแซรกปนอยู่ทามกลางต้นไม้สูงใหญ่นานาชนิด
.
ป่าดิบเขา บริเวณนี้อากาศจะชื้นและเย็นจนรู้สึกได้มักมีเมฆหมอกปกคลุม ทั้งนี้เพราะระดับความสูงช่วงนี้จะอยู่ที่ 1,000 เมตรจากระดับทะเลปานกลาง ตามกิ่งก้านของไม่ใหญ่เหล่านี้จะมีมอสและเฟิร์นขนาดเล็กเกาะอาศัยอยู่จนทั่วและตามพื้นที่ป่า ช่วยไม่ให้ชะลอการชะล้างหน้าดินจากน้ำฝน ประมาณซำกกโดนถึงหลังแป
.
และสุดท้าย ป่าสนเขา หรือบริเวณยอดภูกระดึง ด้วยอากาศที่มีความชุ่มชื้นสูงและอุณหภูมิต่ำส่งผลให้ต้นสนได้เติบโตให้เห็นเรียงรายตลอดเส้นทางสู่ศูนย์บริการนักท่องเที่ยว ด้วยต้นสนที่มีรูปร่างสวยงามและโดดเด่นในยามที่ตัดกับสีสันของท้องฟ้า จึงดึงดูดให้นักท่องเที่ยวหลายคนถึงกับหลงเสน่ห์ความสวยงามของที่นี่
.
ทั้งหมดที่ได้บอกเล่าไปก็เป็นเกร็ดความรู้เล็กน้อยเกี่ยวกับภูมิศาสตร์ ที่จะช่วยทำให้ทุกคนสัมผัสถึงธรรมชาติของภูกระดึงที่ไม่ได้มีเพียงความสวยงามบนยอดภูเท่านั้น แต่ยังรวมถึงเรื่องราวต่างๆมากมายบนทุกก้าวย่างในพื้นที่แห่งนี้ ที่จะทำให้ทุกท่านใช้เป็นพื้นฐานในการเดินทางสำรวจ สร้างความเข้าใจ สู่การร่วมส่งเสริมการอนุรักษ์และฟื้นฟูให้ธรรมชาติของภูกระดึงและอีกหลายที่ที่ต้องเผชิญเพลิงเผาผลาญได้ฟื้นคืนกลับมาได้อย่างสมดุลต่อไป

อ้างอิง
กรมทรัพยากรธรณี  กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
สำนักอุทยานแห่งชาติ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช
“อุทยานแห่งชาติภูกระดึง” Story map, บริษัท อีเอสอาร์ไอ (ประเทศไทย) จำกัด

#จิสด้าก้าวสู่ปีที่20 #จิสด้า #GISTDA

Admin 20/2/2563 4089 0
Share :