Head GISDTDA

ดาวเทียมตรวจจับภัยแล้งได้อย่างไร

ภัยแล้ง หนึ่งในภัยธรรมชาติที่ทุกคนได้ยินตามสื่อต่างๆอยู่เป็นประจำโดยเฉพาะในช่วงต้นปีแบบนี้ มันส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อผู้คนเป็นวงกว้าง ลุกลามถึงระบบเศรษฐกิจที่ต้องพึงพาผลผลิตทางการเกษตร เชื่อหรือไม่ว่าภาพจำเกี่ยวกับภัยแล้งของแต่ละคนมักจะเป็นภาพที่แตกต่างกันออกไปขึ้นอยู่กับประสบการณ์ของบุคคล เนื่องจากภัยแล้งเป็นภัยที่ค่อยๆทวีความรุนแรง กว่าจะส่งผลเสียหายให้เห็นอย่างชัดเจนอาจจะต้องใช้เวลาสักระยะ ไม่เหมือนกับไฟป่า น้ำท่วม เป็นต้น แต่ทว่าดาวเทียมซึ่งอยู่นอกโลกมองเห็นผลกระทบที่เกิดจากภัยแล้งได้อย่างไร

.
ปี 2564 มีการคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะมีปริมาณฝนมากและมาเร็วกว่าสองปีที่ผ่านมา เนื่องจากไทยกำลังได้รับผลกระทบจากปรากฏการณ์ลานีญาตั้งแต่เดือนสิงหาคม 2563 แต่ก็จะมีบางภูมิภาคที่ปริมาณฝนน้อยประกอบกับฝนที่อาจมีการทิ้งช่วง ทำให้ในบางพื้นที่ของประเทศไทยยังคงต้องเผชิญกับปัญหาภัยแล้ง โดยเฉพาะภาคเหนือและภาคกลางที่อาจประสบภัยแล้งต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 ต่อจากปี 2562 และปีที่ผ่านมา
.
ดาวเทียมสามารถมองเห็นและแยกแยะสิ่งต่างๆบนพื้นโลกโดยอาศัยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่เริ่มต้นเดินทางจากดวงอาทิตย์กระทบกับพื้นผิวของโลกและสะท้อนไปยังเซนเซอร์ของดาวเทียม ด้วยสัดส่วนการสะท้อนกลับที่แตกต่างกันของสิ่งต่างๆบนพื้นผิวโลกจึงทำให้ดาวเทียมสามารถแยกแยะวัตถุต่างออกจากกันได้ และยังรวมถึงสามารถแยกแยะพืชที่อุดมสมบูรณ์และพืชไม่สมบูรณ์ออกจากกันได้ ซึ่งรวมถึงพืชที่กำลังขาดแคลนน้ำในภาวะภัยแล้งเช่นนี้
.
ด้วยหลักการที่ว่ามานั้นภาพถ่ายจากดาวเทียมจึงเป็นหนึ่งในหลักฐานที่ทำให้นักภูมิสารสนเทศใช้เพื่อหาพื้นที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้ง แต่ทว่าความเสียหายจากภัยแล้งจะไม่ปรากฏให้เห็นได้ชัดเจนได้ในเวลาอันสั้นเหมือนกับภัยอื่นๆ เช่น น้ำท่วม ไฟป่า เป็นต้น ดังนั้นการศึกษาหาพื้นที่ประสบภัยแล้งด้วยภาพถ่ายจากดาวเทียมจึงต้องอาศัยการติดตามการเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ของปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับภัยแล้งอย่างต่อเนื่อง
.
หนึ่งในเทคนิคการตรวจวัดหาพื้นที่ประสบภัยแล้งด้วยภาพถ่ายจากดาวเทียมนั่นก็คือการศึกษาความสมบูรณ์พืชหรือที่เรียกว่า Normalized Difference Vegetation Index (NDVI) ภายใต้สมมุติฐานที่ว่าพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบภัยแล้งก็คือพื้นที่ฝนทิ้งช่วงทำให้ขาดแคลนน้ำ ส่งผลให้ต้นไม้พืชพรรณที่เติบโตในบริเวณนั้นไม่สมบูรณ์ไปด้วย รายละเอียดอ่านเพิ่มเติมได้ที่ http://bit.ly/3qpdOEu
.
นอกจากความสมบูรณ์ของพืชแล้ว การเปลี่ยนแปลงความชื้นในดินที่ลดลงในยามที่ภัยแล้งมาเยือนนั้น ก็เป็นอีกหนึ่งดัชนีที่สามารถระบุพื้นที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งได้ด้วยภาพถ่ายจากดาวเทียม ซึ่งวิธีนี้เรียกว่า Normalized Difference Water Index (NDWI)
.
อุณหภูมิพื้นผิวดิน ก็เป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่มีนำมาศึกษาด้วยเหตุที่ว่าหากอุณภูมิสูงก็ยิ่งเร่งให้การระเหยของน้ำในดินให้หายไปเรื่อยๆ ซึ่งเราเรียกดัชนีที่ได้จากวิธีนี้ว่า ดัชนีอุณหภูมิพื้นผิวดิน  หรือ Land Surface Temperature (LST)
ดัชนีที่กล่าวมาข้างต้นเป็นแค่ส่วนหนึ่งของดัชนีที่ใช้ตรวจวัดความแห้งแล้งบนภาพภ่ายจากดาวเทียมที่นิยมใช้กันในปัจจจุบัน หากนำมาวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลอุตุนิยมวิทยา เช่น ดัชนีปริมาณน้ำฝนมาตราฐาน หรือ Standardized Precipitation Index (SPI) ก็จะสามารถนำมาวิเคราะห์หาพื้นที่ประสบภัยแล้งได้อย่างใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด เพื่อนำไปสู่มาตราการช่วยเหลือพี่น้องประชาชนที่อยู่ในพื้นที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งจริง
.
จะเห็นได้ว่าภัยแล้งเป็นปัญหาที่ค่อนข้างซับซ้อน ไม่มีขอบเขตที่ชัดเจน แต่ส่งผลกระทบกับผู้คนเป็นวงกว้างสร้างความเสียหายในระยะยาว และยังเป็นสาเหตุของปัญหาอื่นๆตามมาอีกด้วย เช่น ความยากจน เป็นต้น แต่ข้อมูลภูมิสารสนเทศช่วยทำให้เห็นภาพพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบให้ชัดเจนขึ้น
.
บทความหน้าเราจะมาลงลึกกันในเรื่องของดัชนีวัดความแห้งแล้งแต่ละตัวที่ได้แนะนำไป ถึงที่มาและความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลและสภาพความเป็นจริง เพื่อความเข้าใจและพร้อมรับมือกับภัยแล้งในปีนี้ที่กำลังจะมาถึง เพื่อหวังว่าความรู้และข้อมูลเกี่ยวกับภัยแล้งที่จิสด้าเผยแพร่นั้น จะสามารถช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบาได้และผ่านพ้นวิกฤติในปีนี้ไปได้

Admin 8/3/2021 2524 0
Share :