Head GISDTDA

ประเมินค่าความชื้นด้วยภาพถ่ายจากดาวเทียม

GISTDA ติดตามและประเมินข้อมูลค่าความชื้นในดินด้วยภาพถ่ายจากดาวเทียมมาโดยตลอด เพื่อให้ทราบถึงการเปลี่ยนแปลงของความชื้นในดิน ซึ่งจะเป็นสัญญาณเตือนอันหนึ่งที่จะบอกเราได้ในยามที่ภัยแล้งจะมาเยือน รวมถึงความสามารถในการระบุพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบจากภัยแล้งได้

ภาพที่เห็นเป็นผลจากการวิเคราะห์ข้อมูลจากดาวเทียมระบบโมดิส (MODIS) 2 ช่วงเวลาคือ เดือนกันยายน พ.ศ. 2563 และเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 เมื่อนำมาเปรียบเทียบกันก็แสดงให้เห็นความแตกต่างของค่าความชื้นในดินที่เกิดขึ้นในช่วงฤดูฝนและฤดูร้อน จากภาพจะเห็นว่าช่วงฤดูฝน (กันยายน 2563) ทุกพื้นที่ของประเทศไทยจะอุดมไปด้วยความชุ่มชื้นในดิน (ปรากฏสีเขียว) ไม่พบความแห้งแล้งใดๆ ซึ่งเหมาะอย่างมากสำหรับการทำการเกษตรที่ต้องใช้น้ำเยอะ ในขณะที่ช่วงเดือนกุมภาพันธ์เป็นช่วงหน้าแล้ง (กุมภาพันธ์ 2564) ค่าความชื้นในดินจะลดลงอย่างเห็นได้ชัด (ปรากฏสีเหลือง ,สีส้ม ,สีแดง) จนทำให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงในทุกๆ พื้นที่ โดยเฉพาะหลายจังหวัดทางภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อย่างเช่น มหาสารคาม สุรินทร์ ร้อยเอ็ด นครพนม บุรีรัมย์ ศรีสะเกษอุบลราชธานี สกลนคร อุดรธานี เป็นต้น รวมถึงจังหวัดทางภาคเหนือ ที่น่าเป็นห่วง เช่น ลำปาง ตาก เชียงใหม่ เป็นต้น ซึ่งข้อมูลต่างๆ เหล่านี้ GISTDA จะนำมาวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์ของภัยแล้งทุกๆ ปี เพื่อให้หน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องทั้งจากส่วนกลาง และหน่วยงานในพื้นที่ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบ มีความพร้อมในการวางแผน รับมือ และแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที
 

Admin 3/3/2021 1198 0
Share :