Head GISDTDA

รู้จักกับฐานปล่อยจรวด จุดเริ่มต้นทุกภารกิจสู่อวกาศ

   จุดเริ่มต้นของยานอวกาศสำรวจจักรวาล ดาวเทียมที่มุ่งหน้าขึ้นไปทำหน้าที่วงโคจร และนักบินอวกาศผู้ต้องปฏิบัติภารกิจบนสถานีอวกาศนานาชาติ ต่างต้องเริ่มการเดินทางจากฐานปล่อยจรวดบนพื้นโลก

   ในอดีต ความสามารถในการส่งจรวดและดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจร เป็นสิ่งที่ถูกสงวนไว้สำหรับรัฐบาลและกิจการด้านทหารเท่านั้น แต่เมื่อเวลาผ่านพ้นไป บริษัทเอกชน และหน่วยงานอวกาศจากนานาประเทศ เริ่มเข้ามามีบทบาทในอุตสาหกรรมอวกาศมากขึ้น

   ล่าสุดเมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ China Academy of Launch Vehicle Technology (CALT) ได้ปล่อยจรวด Smart Dragon 3 จากฐานปล่อยทางทะเลได้สำเร็จเป็นภารกิจที่สาม โดยนำส่งดาวเทียม 9 ดวง น้ำหนักรวม 1,500 กิโลกรัม ขึ้นสู่วงโคจร Sun-synchronous orbit

   ฐานปล่อยจากเรือ ที่ถูกดัดแปลงให้ขนส่งจรวดขึ้นจากทะเล เป็นอีกหนึ่งแนวคิดที่น่าสนใจ เมื่อพิจารณาถึงขีดความสามารถในการขนส่งจรวดไปปล่อยได้จากตำแหน่งต่าง ๆ ตามความเหมาะสม เช่นเดียวกับช่วยลดความเสี่ยงของผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับพื้นที่ใกล้เคียง ในกรณีที่การปล่อยจรวดจากฐานปล่อยบนแผ่นดินเกิดข้อผิดพลาด

   อย่างไรก็ตาม การปล่อยจรวดขึ้นจากฐานบนเรือกลางทะเล ยังมีข้อจำกัดเรื่องของน้ำหนักที่สามารถบรรทุกขึ้นสู่วงโคจร รวมไปถึงปัจจัยของการขนส่งดาวเทียมจนห้องคลีนรูมไปสู่เรือ และยังเป็นเทคโนโลยีที่ค่อนข้างใหม่ ซึ่งอาจต้องใช้เวลาเพื่อพิสูจน์ความปลอดภัยและความเสถียรของระบบปล่อยจรวดโดยรวมเสียก่อน

   ในส่วนของ ฐานปล่อยจรวดบนพื้นดิน ยังคงเป็นระบบขนส่งจรวดที่ยังใช้งานอย่างแพร่หลายโดยนานาประเทศ เนื่องจากมีความเสถียรกว่า และสามารถรองรับรูปแบบภารกิจที่หลากหลาย โดยมีค่าใช้จ่ายที่เหมาะสมสำหรับปัจจุบัน แม้จะมีข้อสังเกตในด้านผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมโดยรอบของฐานปล่อย หรือข้อจำกัดในด้านเส้นทางปล่อยจรวดขึ้นสู่วงโคจร เพื่อหลีกเลี่ยงบริเวณที่มีประชากรอาศัยอย่างหนาแน่น

   สหรัฐอเมริกามีฐานปล่อยจรวดจำนวนมากอยู่ที่แหลมคาเนเวอรัล และฐานทัพอวกาศแวนเดนเบิร์ก เช่นเดียวกับฐานปล่อยของรัสเซีย ที่ท่าอวกาศยานไบโคนอร์ หรือฐานปล่อยจิ่วฉวน และสีฉางของประเทศจีน ที่ยังคงให้บริการการนำส่งดาวเทียมและยานอวกาศ จากผู้ให้บริการจรวดรายต่าง ๆ ในปัจจุบัน โดยตลอดทั้ง ค.ศ. 2023 ทั่วทั้งโลกมีการส่งจรวดขึ้นสู่วงโคจรรวม 223 ครั้ง และประสบความสำเร็จทั้งสิ้น 211 ภารกิจ เป็นสถิติสูงสุดต่อปีเท่าที่เคยมีมา

   ทั้งนี้ หน้าที่หลักของฐานปล่อยจรวด หรืออาจเรียกว่า  “ท่าอวกาศยาน”  หรือ  Spaceport  คือการนำส่งดาวเทียมและภารกิจต่าง ๆ ขึ้นสู่เป้าหมายบนอวกาศ โดยท่าอวกาศยานทั้งแบบบนพื้นดินและกลางทะเล ต่างมีข้อได้เปรียบเสียเปรียบที่ไม่เหมือนกัน และการมีตัวเลือกรูปแบบฐานปล่อยจรวดเพิ่มเติม เพื่อรองรับกับการเติบโตของอุตสาหกรรมดาวเทียม ถือเป็นผลดีต่อภาครวมของกิจการอวกาศในองค์รวม

สำหรับตำแหน่งที่ตั้งของประเทศไทย มีความได้เปรียบเชิงภูมิศาสตร์ในการพัฒนาท่าอวกาศยาน เนื่องจากตั้งอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตรโลก และมีทางเลือกมุมสำหรับนำส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรหลากหลายรูปแบบ เช่นเดียวกับมีระบบคมนาคมที่เอื้อต่อการขนส่งดาวเทียมและจรวดจากนานาประเทศ

   ด้วยเหตุเช่นนี้ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ได้ศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างและให้บริการท่าอวกาศยานประเภทต่าง ๆ ในไทย ร่วมกับ KARI หรือสถาบันวิจัยอวกาศและการบินเกาหลี เพื่อร่วมผลักดันโครงสร้างพื้นฐาน และส่งเสริมเศรษฐกิจด้านอุตสาหกรรมอวกาศในประเทศไทยและภูมิภาคโดยรอบ โดย KARI และรัฐบาลเกาหลีใต้ จะเป็นผู้ดำเนินการศึกษาและถ่ายทอดองค์ความรู้ร่วมกับทีมบุคลากรของไทย โดยพิจารณาจากปัจจัยความเป็นไปได้รอบด้าน ทั้งความเหมาะสมเชิงภูมิศาสตร์ ความเสี่ยงของภัยพิบัติ และผลกระทบที่อาจมีต่อชุมชนหรือสิ่งแวดล้อมโดยรอบ เป็นต้น

amorn.pet 15/2/2567 412 0
Share :

บทความที่เกี่ยวข้อง