Head GISDTDA

GISTDA ร่วมพิธีการปล่อยจรวดในรูปแบบ Sea Launch ณ เมือง Yangjian มณฑลกวางตุ้ง สาธารณรัฐประชาชนจีน

เมื่อระหว่างวันที่  2-3 กุมภาพันธ์ 2567 China Great Wall Industry Corporation (CGWIC) และ China Academy of Launch Vehicle Technology (CALT) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้ China Aerospace Science and Technology Corporation (CASC) รัฐวิสาหกิจด้านอวกาศขนาดใหญ่ของจีน ได้เชิญคณะผู้เชี่ยวชาญ
ของ GISTDA ร่วมพิธีการปล่อยจรวดในรูปแบบ Sea Launch ณ เมือง Yangjian มณฑลกวางตุ้ง สาธารณรัฐประชาชนจีน 

การปล่อยจรวดแบบ Sea Launch เป็นรูปแบบการขนส่งจรวดโดยใช้พื้นที่ส่งจรวดจากฐานทางทะเล ซึ่งสามารถเคลื่อนย้ายไปยังที่ต่างๆ เพื่อหาตำแหน่งส่งจรวดที่เหมาะสมได้ยืดหยุ่นกว่าการส่งจรวดจากแผ่นดิน 
นับว่าเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับระบบขนส่งอวกาศ ฝ่ายจีนแจ้งว่าการส่งจรวดครั้งนี้ ได้ติดตั้งดาวเทียม
ภายในจรวดเรียบร้อยแล้วและใช้ฐานส่งนี้ขนส่งจรวดมาจากศูนย์ประกอบ จุดเด่นของฐานส่งจรวดทางทะเล 
คือ มีเสถียรภาพสูง สามารถเคลื่อนย้ายออกไปส่งจรวดนอกฝั่งได้ไกล (ครั้งนี้อยู่ที่ระยะประมาณ 6-8 กิโลเมตรจากแผ่นดินใหญ่) โดยในอนาคตจีนจะขยายการส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรค้างฟ้า (Geostationary Transfer Orbit, GTO) จากฐานส่งจรวดทางทะเลด้วยเช่นกัน ผู้เชี่ยวชาญฝ่ายจีนให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันจีนยังไม่สามารถเคลื่อนย้ายจรวดออกไปส่งนอกประเทศได้ ด้วยข้อจำกัดจากระบอบควบคุมเทคโนโลยีขีปนาวุธ (Missile Technology Control Regime, MTCR) ที่ควบคุมการส่งออกเทคโนโลยีขั้นสูงและวัสดุอุปกรณ์ที่อาจนำไปใช้ในการพัฒนาขีปนาวุธ ซึ่งจีนเคารพและปฏิบัติตามกรอบดังกล่าวแม้จะไม่ใช่ชาติสมาชิกก็ตาม ซึ่งการปล่อยจรวดของจีนในครั้งนี้ประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี สามารถส่งดาวเทียมจำนวน 9 ดวง ขึ้นสู่วงโคจรได้อย่างมีประสิทธิภาพตามเป้าหมาย                                  

ในโอกาสนี้ ผู้เชี่ยวชาญของ GISTDA ยังได้หารือความร่วมมือกับผู้บริหารและผู้เชี่ยวชาญของ CGWIC, CALT 
และมีอัครราชทูตที่ปรึกษา ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประจำสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงปักกิ่ง เข้าร่วมการประชุมเพื่อติดตามและผลักดันความร่วมมือด้านอวกาศระหว่างไทยและจีนด้วย โดยทั้งสองฝ่าย (ไทย-จีน) 
เห็นพ้องและมีความประสงค์ผลักดันความร่วมมือในอนาคตสำหรับประเด็นการร่วมวิจัยและพัฒนาดาวเทียม (สำรวจทรัพยากร)/การส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากระบบดาวเทียมนำทางของจีน (Beidou)/การให้บริการท่าอวกาศยาน (Spaceport) ประเภทต่างๆ ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินการของ สทอภ. และพันธมิตรในการศึกษาเพิ่มเติมอีกมิตินอกเหนือจากการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดตั้งท่าอวกาศยานภาคพื้นดินในประเทศไทยอีกด้วย

อนึ่ง การขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอวกาศจำเป็นต้องมีการเชื่อมโยงและมีความสัมพันธ์อันดีกับเครือข่าย
ทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศเพื่อสร้างความเข้มแข็งและความราบรื่นในการดำเนินงาน และจะส่งผล
ต่อการขับเคลื่อนภารกิจและส่งเสริม New Space Economy ที่จะเกิดขึ้นในประเทศไทยตลอดจนภูมิภาคอาเซียน ดังนั้นการรักษาความสัมพันธ์และการพัฒนาต่อยอดความร่วมมือจึงเป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งสาธารณรัฐประชาชนจีนก็เป็นหนึ่งใน strategic partners ที่สำคัญของไทยและมีความร่วมมือด้านอวกาศที่ประสบความสำเร็จร่วมกันมาอย่างยาวนาน อาทิ การมีบันทึกความเข้าใจความร่วมมือด้านอวกาศกับสำนักงานบริหารอวกาศแห่งชาติจีน (China National Space Administration, CNSA)/การดำเนินหลักสูตรการศึกษานานาชาติร่วมระดับปริญญาโทด้านภูมิสารสนเทศ (SCGI Master Program)/การร่วมวิจัยและพัฒนาการประยุกตใช้เทคโนโลยีอวกาศเพื่อสังคม
และเศรษฐกิจ/การจัดตั้งสถานีรับสัญญาณภาพถ่ายดาวเทียมและส่งเสริมการใช้ประโยชน์จากข้อมูลในภูมิภาค/การสร้างความตระหนักด้านกิจการอวกาศ เป็นต้น การร่วมพิธีและหารือในครั้งนี้เป็นการเน้นย้ำความสัมพันธ์ไทย-จีน ด้านภารกิจอวกาศที่จะต่อยอดไปสู่การยกระดับการพัฒนาประเทศและภูมิภาคด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขั้นสูงจากอวกาศ ต่อไป

phasaphong.tha 8/2/2567 278 0
Share :

บทความที่เกี่ยวข้อง