Head GISDTDA

ไปดูเขาส่งดาวเทียม

 

            ผู้เขียนได้มีโอกาสไปดูการส่งดาวเทียม THEOS-2 ซึ่งเป็นดาวเทียมของประเทศไทย
ในความรับผิดชอบของสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) หรือ GISTDA ขึ้นสู่วงโคจร ที่ศูนย์อวกาศเกียนา (Guiana Space Center) จังหวัดเฟรนซ์เกียนา สาธารณรัฐฝรั่งเศส เมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๖๖ ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าภาคภูมิใจของคนไทย รวมทั้งเป็นเหตุการณ์ที่น่าตื่นตา ตื่นใจ และนับเป็นประสบการณ์ครั้งหนึ่งและครั้งสำคัญในชีวิต จึงขอนำมาถ่ายทอดให้ผู้อ่านได้รับความรู้ถึงเหตุการณ์สำคัญของประเทศไทยในครั้งนี้
.

ความเป็นมาของ สทอภ. หรือ GISTDA

ผู้เขียนแน่ใจว่า ผู้อ่านจำนวนมากคงได้รับทราบถึงการส่งดาวเทียมของไทยขึ้นสู่อวกาศ
ทั้งทางสื่อออนไลน์ วิทยุ โทรทัศน์ และสื่อต่างๆ เมื่อวันที่ ๙ ตุลาคม ๒๕๖๖ ดาวเทียมดวงนั้นก็คือ THEOS-2 ของ GISTDA นั่นเอง แต่กว่าจะเป็น THEOS-2 และ GISTDA นั้นมีประวัติศาสตร์อย่างต่อเนื่องและยาวนาน

ยุคเริ่มต้น

ประเทศไทยได้เข้าร่วมโครงการ NASA ERTS - ๑ ซึ่งเป็นดาวเทียมสำรวจทรัพยากรดวงแรกของโลก เมื่อวันที่ ๑๔ กันยายน พ.ศ.๒๕๑๔ ภายใต้การดำเนินงานของโครงการสำรวจทรัพยากรธรรมชาติด้วยดาวเทียม โดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ ทำหน้าที่ประสานงาน จัดหาข้อมูลดาวเทียม ดำเนินการวิเคราะห์ข้อมูล ถ่ายทอดเทคโนโลยีตลอดจนจัดหาทุนฝึกอบรม ดูงานและการประชุมระดับประเทศและนานาชาติ  จากผลสำเร็จของโครงการจึงได้แปรสภาพโครงการเป็นหน่วยงานระดับกอง ชื่อ “กองสำรวจทรัพยากรธรรมชาติด้วยดาวเทียม”เมื่อ พ.ศ.๒๕๒๒  ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๒๕ จึงได้จัดตั้งสถานีรับสัญญาณดาวเทียมขึ้นที่
เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร นับเป็นสถานีรับแห่งแรกในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

ต่อมาในปี พ.ศ.๒๕๔๑ รัฐบาลมีนโยบายปฏิรูประบบราชการเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการปฏิบัติงาน จึงได้ตรา พรบ.องค์การมหาชน พ.ศ.๒๕๔๒ ขึ้น และจากความสำคัญของการใช้เทคโนโลยีด้านการสำรวจข้อมูลระยะไกลและระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ในการพัฒนาประเทศ ในวันที่ ๓ พฤศจิกายน พ.ศ.๒๕๔๓ จึงได้มีพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) มีชื่อย่อว่า “ สทอภ.” และมีชื่อภาษาอังกฤษ
“Geo - Informatics and Space Technology Development Agency (Public Organization) - GISTDA” เป็นหน่วยงานของรัฐในรูปแบบขององค์การมหาชน ซึ่งมุ่งเน้น การบริหารและดำเนินงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อบริการข้อมูลภูมิสารสนเทศบริหารวิชาการต่างๆ ตลอดจนวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศ ให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน

ต่อมาเมื่อวันที่ ๒๕ เมษายน พ.ศ.๒๕๔๖ คณะกรรมการภูมิสารสนเทศ ได้มีมติเห็นชอบในหลักการว่าประเทศไทยควรมีดาวเทียมสำรวจทรัพยากรธรรมชาติเป็นของตนเองและได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อพิจารณาเรื่องดังกล่าว จนกระทั่งรัฐบาลไทยและรัฐบาลฝรั่งเศสได้บรรลุข้อตกลงความร่วมมือด้านเทคโนโลยีอวกาศและประยุกต์ใช้ข้อมูล โดยความตกลงดังกล่าวครอบคลุมความร่วมมือด้านต่างๆ อันได้แก่ ด้านเทคโนโลยีอวกาศและการประยุกต์ใช้โครงสร้างพื้นฐาน เพื่อการใช้ข้อมูลดาวเทียม ตลอดจนการพัฒนาบุคลากรโดยมี สทอภ. เป็นหน่วยงานประสานงานฝ่ายไทย และศูนย์วิจัยอวกาศแห่งชาติฝรั่งเศสเป็นหน่วยงานประสานงานฝ่ายฝรั่งเศส โดยในปีพ.ศ.๒๕๔๗ สทอภ. ได้ลงนามในสัญญาโครงการพัฒนาดาวเทียมสำรวจทรัพยากรของไทย (Thailand Earth Observation Satellite : THEOS) กับบริษัท EADS ASTRIUM ประเทศฝรั่งเศส โครงการดังกล่าวมีวัตถุประสงค์ เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและสร้างดาวเทียมสำหรับใช้ในการสำรวจทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศ ซึ่งจะทำให้สามารถบริหารจัดการการถ่ายภาพของดาวเทียมในบริเวณที่ต้องการ อันจะเป็นประโยชน์อย่างมาก ในกรณีเกิดภัยพิบัติที่ต้องการความรวดเร็วและเมื่อวันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๕๑ จึงได้มีส่งดาวเทียมสำรวจทรัพยากรดวงแรกของไทยในโครงการ THEOS ขึ้นสู่วงโคจร โดยส่งจาก ฐานส่งจรวด เมืองยาสนี ประเทศรัสเซีย ได้ประสบความสำเร็จอย่างดี จึงทำให้บทบาทของไทยในเวทีอวกาศโลกมีความสำคัญยิ่งขึ้นและนับเป็นก้าวย่างที่สำคัญของประเทศไทย และ GISTDA ในการก้าวเข้าสู่การเป็นเจ้าของดาวเทียมที่สามารถควบคุมสั่งการด้วยคนไทยเอง ตลอดจนให้บริการข้อมูลดาวเทียมแก่ผู้ใช้งาน ทั้งในประเทศและต่างประเทศ รวมทั้งการเข้าสู่การใช้เทคโนโลยีอวกาศอย่างเต็มภาคภูมิ

ต่อมา เมื่อ ๒๐ มกราคม พ.ศ.๒๕๕๔ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้มีหนังสือของพระราชทานชื่อดาวเทียมในโครงการ THEOS ซึ่ง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช รัชกาลที่ ๙ ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ พระราชทาน ชื่อดาวเทียมดังกล่าวว่า “ไทยโชต” โดยใช้ชื่อภาษาอังกฤษว่า “Thaichote” เมื่อ วันที่ ๑๐ ธันวาคม พ.ศ.๒๕๕๔
โดยไทยโชต มีความหมายว่า “ดาวเทียมที่ทำให้ประเทศไทยรุ่งเรือง”

 

 

ประโยชน์ที่ได้รับจากการดำเนินโครงการ THEOS

การดำเนินงานโครงการ THEOS มี ๒ ส่วนที่สำคัญ คือ การให้บริการภาพจากดาวเทียมมากกว่า ๑๐๐,๐๐๐ ภาพ คิดเป็นมูลค่าการทดแทนการนำเข้าภาพจากต่างประเทศกว่า ๕,๐๐๐ ล้านบาท และอีกส่วนหนึ่งคือ การวิเคราะห์ภาพและผลิตเป็นข้อมูลภูมิสารสนเทศเพื่อใช้เป็นประโยชน์ในด้านต่างๆ สนองตอบนโยบายของรัฐบาล ซึ่งสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจสังคม (Social Return Of Investment) มากกว่า ๑๐๐,๐๐๐ ล้านบาท ในระยะเวลา ๑๐ ปี ได้แก่

๑. สนับสนุนการบริหารการจัดการภัยพิบัติ อุทกภัย ภัยแล้งและมลพิษทางทะเล ให้กับหน่วยงานที่รับผิดชอบ เช่น ศูนย์อำนวยการในการรักษาผลประโยชน์ของชาติทางทะเล (ศรชล.) กองทัพเรือ กระทรวงมหาดไทย สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ กรมชลประทาน ฯลฯ
ซึ่งสามารถใช้ข้อมูล เพื่อระบุพื้นที่ ประเมินสถานการณ์ การฟื้นฟูพื้นที่และการพิจารณาเบิกจ่ายเงินเยียวยาให้กับผู้ประสบภัยได้อย่างรวดเร็วและถูกต้อง

๒. ติดตามประเมินพื้นที่ปลูกข้าวและคาดการณ์ผลผลิตทุก ๑๕ วัน เพื่อรายงานและ จัดทำฐานข้อมูลลงให้กับหน่วยงานในกระทรวงเกษตร ใช้ข้อมูลเพื่อการประกันภัย ประกันรายได้ของเกษตรกร และวางแผนด้านการเกษตรของหน่วยงานที่รับผิดชอบ

โครงการ THEOS-2

จากการพัฒนาเทคโนโลยีที่ก้าวไปอย่างรวดเร็ว รวมทั้งความต้องการเกี่ยวกับการสำรวจ พื้นพิภพเพิ่มขึ้นมากอย่างมีนัยสำคัญ ประกอบการกับระบบ THEOS (THEOS-1) และดาวเทียมไทยโชตไม่ทันสมัยและจะหมดอายุลง สทอภ. จึงได้จัดทำโครงการระบบดาวเทียมสำรวจ
เพื่อการพัฒนาหรือ ธีออส-๒ (Thailand Earth Operation System_Phase2 : THEOS-2) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่สำหรับประเทศไทยในอนาคต โดยกำหนดให้มีระบบสำหรับการติดตาม วิเคราะห์ ประเมินผล ตัดสินใจ และรายงานข้อมูลสถานการณ์ของประเทศอย่างละเอียด สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานได้อย่างรวดเร็วและทันต่อเหตุการณ์ โดย ครม. ได้มีมติเมื่อวันที่ ๑๔ มีนาคม พ.ศ.๒๕๖๐ อนุมัติให้สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ สทอภ. ดำเนินการจัดหาระบบ THEOS-2 ในวงเงิน ประมาณ ๗,๘๐๐ ล้านบาท ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายทั้งโครงการ สทอภ. ได้อาศัยความรู้ความสามารถจากกลุ่มบุคคลที่เคยร่วมในโครงการ THEOS ทั้งภายในและภายนอกองค์กร ให้เข้ามามีส่วนร่วมในโครงการระบบ THEOS-2 ตั้งแต่การออกแบบและการสร้างองค์ประกอบต่างๆ ที่สำคัญ เพื่อให้สามารถขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยเป้าหมายของระบบ THEOS-2 จะต้องทำงานแบบครบวงจร ตั้งแต่ระบบดาวเทียมไปจนถึงแพลตฟอร์มอัจฉริยะแบบองค์รวม เพื่อการตัดสินใจให้กับประเทศ หรือ AIP (Actionable Intelligence Policy) ซึ่ง ระบบ AIP นี้ จะเป็นเครื่องมือสำคัญในการจัดทำข้อเสนอเชิงนโยบาย และข้อเสนอเพื่อการตัดสินใจสำหรับการบริหารการจัดการพื้นที่ให้กับประเทศในด้านต่างๆ ที่สามารถนำไปปฏิบัติจริง เช่น ด้านการจัดการน้ำ ด้านการจัดการเกษตร ด้านการจัดการภัยพิบัติ ด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ด้านการจัดการเมืองและพื้นที่ ด้านความมั่นคงของรัฐและสังคม เป็นต้น ซึ่งถือเป็นนวัตกรรมด้านการสำรวจและการติดตามเชิงพื้นที่ที่สำคัญของประเทศที่จะสามารถนำไปสู่การเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจและสังคมได้อย่างยั่งยืน สร้างความต่อเนื่องของข้อมูลดาวเทียมของประเทศไทย และต่อยอดในด้าน พัฒนาเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมอวกาศ อันอาจจะกล่าวได้ว่าประเทศไทยและ GISTDA ได้ก้าว เข้าสู่ยุคเทคโนโลยีอัจฉริยะ มิใช่การให้ข้อมูลแผนที่ดาวเทียมอย่างเดียวอีกต่อไป

องค์ประกอบของโครงการ THEOS-2

๑. ดาวเทียมสำรวจโลกสองดวงได้แก่ THEOS-2 ความละเอียด ๐.๕ เมตรและ THEOS-2A (สร้างโดยวิศวกรคนไทย) ความละเอียด ๑ เมตร

๒. ระบบประยุกต์ใช้ประโยชน์ภูมิสารสนเทศ ๖ ด้าน ได้แก่ ๑) เกษตร ๒) การบริหารจัดการน้ำแบบองค์รวม ๓) การจัดการภัยพิบัติ ๔)ทรัพยากรธรรมชาติและระบบนิเวศ
๕) ความปลอดภัยของสังคมและความมั่นคงของชาติ และ ๖) การจัดการเมือง

๓. ระบบการตัดสินใจและบริหารเชิงพื้นที่อัจฉริยะ (Actionable Intelligence Policy - AIP)

๔. การปรับปรุงสถานีรับสัญญาณและผลิตภาพถ่ายจากดาวเทียมของประเทศ ให้สามารถรับสัญญาณและควบคุมดาวเทียมแบบหลายดวง และโครงการพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศในการส่งดาวเทียม THEOS-2 ขึ้นสู่อวกาศ

         ๕. สร้างศูนย์ประกอบและทดสอบดาวเทียมแห่งชาติ (Assembly Integration and Testing : AIT) ณ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ใช้ประกอบทดสอบดาวเทียมขนาดเล็กที่มีมาตรฐานสากลและได้ทดสอบประกอบดาวเทียม THEOS-2A ก่อนส่งขึ้นสู่อวกาศ โดยวิศวกรคนไทย

         ๖. การพัฒนาศักยภาพของบุคลากรไทยด้านเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ ผ่านการถ่ายทอดเทคโนโลยี (Technology Transfer) เพื่อต่อยอดพัฒนาองค์ความรู้ในการสร้างดาวเทียมโดยวิศวกรไทย ๒๒ คน การนำภาพถ่ายดาวเทียมไปใช้ในการพัฒนาภูมิสารสนเทศ ใน ๖ ด้าน
ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการของไทยในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศด้านเศรษฐกิจอวกาศ (Space Economy)

         การส่งดาวเทียม Theos-2 ขึ้นสู่อวกาศ

คณะของผู้ร่วมสังเกตการณ์ในการส่งดาวเทียมในโครงการ THEOS-2 ดวงแรก (ในขณะนี้เรียกว่า THEOS-2) ในครั้งนี้ประกอบด้วย คุณศุภมาส อิศรภักดี รมต.ว่าการกระทรวง
การอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์วิจัยและนวัตกรรม (หน.คณะ) คณะกรรมการ สทอภ.
ที่ปรึกษา ผู้อำนวยการ สทอภ. และเจ้าหน้าที่ สทอภ. ทยอยออกเดินทางจากประเทศไทย ตั้งแต่ ๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๖ เป็นต้นไป เนื่องจากเที่ยวบินมีจำกัดและทุกคนจะต้องเดินทางไปปารีสก่อน หลังจากนั้นจึงจะต้องต่อเครื่องบินโดยสายการบิน Air France (ซึ่งมีวันละ ๑ เที่ยวบิน นอกจากบางวันอาจจะมีสายการบิน บินเสริม) เดินทางไปยังจังหวัดเฟรนช์เกียนา (French Guiana)
ซึ่งเป็นจังหวัดโพ้นทะเลเป็นภูมิภาคของประเทศฝรั่งเศส เนื่องจากเฟรนช์เกียนา เป็นดินแดนที่มีทรัพยากรมาก ไม่ว่าจะเป็นเหมืองทอง ทรัพยากรป่าไม้เนื่องจากติดกับป่าอเมซอน รวมทั้งติดทะเล ก็เป็นที่คาดเดาได้ว่า ทำไมฝรั่งเศสจึงผนวกเป็นจังหวัดโพ้นทะเลของตนเอง หนึ่งในหลายแห่งตามวิสัยที่เคยทำกับพวกเรามาแล้ว

เฟรนช์เกียนา ตั้งอยู่ด้านชายฝั่งมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือของทวีปอเมริกาใต้ พื้นที่ทางบกของเฟรนช์เกียนา เป็นภูมิภาคที่ใหญ่เป็นอันดับสองของฝรั่งเศส เฟรนช์เกียนามีพรมแดนติดกับสองประเทศ ได้แก่ ประเทศซูรินามทางทิศตะวันตก ประเทศบราซิลทางทิศตะวันออกและทิศใต้ ส่วนทางเหนือเป็นมหาสมุทรแอตแลนติก มีพื้นที่ทางภูมิศาสตร์หลักๆ ๒ แห่ง ได้แก่ แถบชายฝั่งที่มีผู้คนส่วนใหญ่อาศัยอยู่ และแดนป่าฝนที่มีความหนาแน่น ซึ่งทอดยาวไปถึงยอดเขาทูมัค-ฮิวมัค ตามแนวชายแดนประเทศบราซิล

         จังหวัดเฟรนช์เกียนา ตั้งอยู่บนที่ราบสูงเทียน่า มี ขนาดเท่ากับ ๘๓,๒๔๖ ตร.กม. หรือ
เล็กกว่าภาคกลางของไทยเล็กน้อย ๙๐% ของพื้นที่นี้ถูกปกคลุมด้วยป่าดงดิบ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของป่าอเมซอน มีประชากรเพียง ๒๙๔,๐๐๐ คน

สภาพของจังหวัดเฟรนช์เกียนา นับเป็นชุมชนขนาดเล็กแม้ว่าจะมีพื้นที่กว้างขวางก็ตาม
มีถนนสายหลักเพียงไม่กี่สาย แทบจะไม่มีสี่แยกไฟแดง จะใช้วงเวียนในการหลีกรถเนื่องจากรถยนต์มีน้อย ทั้งประเทศ มีร้านแมคโดแนล เพียง ๑ ร้าน มีห้างสรรพสินค้าใหญ่ๆ เพียง ๑ แห่ง ประชาชนชาวพื้นเมืองจะประกอบอาชีพอุตสาหกรรมประมง การทำเมืองแร่ทองคำ การป่าไม้นอกจากนั้นศูนย์อวกาศเกียน่า ที่เมืองกูรู ยังสามารถว่าจ้างคนพื้นเมืองได้ประมาณ ๑,๗๐๐ คน ฝรั่งเศสพยายามพัฒนาเฟรนช์เกียนา เป็นแหล่งท่องเที่ยว แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ เนื่องจากระยะทางไกลและจุดท่องเที่ยวก็ไม่น่าสนใจ สะท้อนให้เห็นจากท่าอากาศยานหลักของเฟรนช์เกียนา คือ ท่าอากาศยาน กาเยน-โฮช็องโบ มีเที่ยวบิน หนึ่งเที่ยวต่อวัน ไป/กลับ กรุงปารีส สภาพสนามบินเป็นสนามบินขนาดเล็ก จะเปิดก็เมื่อมีเครื่องบินขึ้น หรือลงเท่านั้น

อาจจะมีข้อสงสัยว่าทำไมฝรั่งเศส จึงมาสร้างศูนย์อวกาศยานและท่าอวกาศยานที่เฟรนช์เกียนา คำตอบก็คือ เฟรนช์เกียนา  มีตำบลที่อยู่ติดทะเล และมีพื้นที่ขนาดใหญ่มีประชากรอยู่น้อย เมื่อยิงดาวเทียมจะยิงไปทางขวา เพื่อให้ออกทะเล หลังจากที่จรวดสลัดส่วนบรรจุดินขับแต่ละ Stage ก็จะไม่ตกเป็นอันตรายบนแผ่นดิน ประกอบกับเฟรนช์เกียนาอยู่ใกล้เส้นศูนย์สูตร (อยู่ที่ Latitude 3 องศาเหนือ) จึงเหมาะสมกับวงโคจรถ่ายโอนค้างฟ้า (Geostationary Transfer Orbit : GTO) ซึ่งเป็นวงโคจรที่มีลักษณะเป็นวงรีสูงรอบโลก ถูกใช้เป็นวงโคจรพักระหว่างการส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรค้างฟ้า โดยอาศัยแรงเหวี่ยงจากการหมุนของโลก เพื่อให้เป็นการใช้พลังงานของจรวดนำส่งมีประสิทธิภาพสูงสุด

การยิงดาวเทียม THEOS-2

ผู้เขียนและคณะได้ทยอยเดินทางจากปารีสมายังเฟรนช์เกียนา โดยคณะของผู้เขียนได้ออกเดินทางจากประเทศไทยในวันที่ ๓ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๖ เวลา ๐๐.๐๕ และเดินทางถึง
กรุงปารีส (สนามบินชาร์ลเดอโกล) เมื่อเวลา ๐๗.๑๐ ใช้เวลาเดินทาง ๑๒ ชั่วโมง ๕ นาที
หลังจากนั้น จึงได้เช่าที่พักเพื่อเตรียมตัวเดินทางไปเฟรนช์เกียนาต่อไป
 

ในวันที่ ๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๖ เวลา ๑๐.๔๐ น. (กรุงปารีส) คณะออกเดินทางจากปารีส (สนามบิน ORLY) และเดินทางถึงเฟรนช์เกียนา  (Cayenne Airport) เมื่อเวลา ๑๔.๔๐ น.
(เวลาเฟรนช์เกียนา) ใช้เวลาเดินทางประมาณ ๙ ชั่วโมง

เนื่องจากเที่ยวบินมีจำกัดตามที่กล่าวแล้ว คณะของผู้เขียนจึงเดินทางมาล่วงหน้า และคอยคณะอื่น เพื่อร่วมเป็นสักขีพยานในการยิงดาวเทียม ในวันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๖  ต่อมาวันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๖ เวลา ๒๑.๐๐ น. คณะฝ่ายไทย โดยมีคุณศุภมาส อิศรภักดี รมว.อว. เป็นหัวหน้าคณะจึงได้เดินทางไปชมการยิงจรวด Vega เพื่อส่งดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจร ณ Jupiter site ฐานนำส่ง Guiana Space Center

กำหนดการเดิม จะส่งดาวเทียม ในวันที่ ๖ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๖ เวลา ๒๒.๓๖ น. (เวลา
เฟรนช์เกียนา) ตรงกับวันที่ ๗ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๖ เวลา ๐๘.๓๖ น. (เวลาประเทศไทย)
ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวได้มีการถ่ายทอดสดทางสถานีโทรทัศน์หลายช่อง และสื่อ Online รวมทั้ง GISTDA ได้ส่งสัญญาณ Online จากสถานที่ยิงไปยังประเทศไทยแบบ Real Time แต่เหตุการณ์ที่ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น หลังจากนั้นจึงได้เข้าการเริ่มนับถอยหลังจนถึงวินาทีที่ ๑๔ ระบบการยิง ได้ตรวจพบสิ่งผิดปกติเกิดขึ้น ระบบจึงตัดโดยอัตโนมัติ จึงยกเลิกการยิงในวันดังกล่าวไป

ต่อมาวิศวกรของบริษัท Arianespace ซึ่งเป็นบริษัทที่รับผิดชอบในการยิงดาวเทียม จึงได้มีการตรวจสอบอย่างละเอียดทุกขั้นตอน รวมทั้งได้นำผลการยิงของจรวด Vega ซึ่งยิงมาแล้ว ๒๒ ครั้ง (ครั้งนี้จะเป็นครั้งที่ ๒๓) มาวิเคราะห์เปรียบเทียบด้วย และได้ข้อสรุปว่า สาเหตุที่ทำให้ต้องเลื่อนส่งดาวเทียมเกิดจากระบบตรวจสอบความปลอดภัยในการนำส่ง ได้แจ้งค่าที่ตรวจสอบบางค่า มีค่าเกินกว่าค่าสูงเกินที่กำหนดไว้ (Maximum Threshold) จึงทำให้ระบบตัดโดยอัตโนมัติ ดังนั้น ผู้ควบคุมภารกิจ จึงตัดสินใจว่าจะส่งดาวเทียมใหม่ในวันที่ ๘ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๖ เวลา ๒๒.๓๖ น. (เวลาเดิม)

ในวันที่ ๘ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๖ เวลา ๒๑.๐๐ น. ผู้เขียนและคณะ จึงได้เดินทางไป Jupiter Site (ที่เดิม) เพื่อเฝ้ารอการส่งดาวเทียมของไทยในเวลา ๒๒.๓๖ น.

- ก่อนเวลา ยิงประมาณ ๑ ชั่วโมง พิธีกรเริ่มบรรยายเกี่ยวกับเรื่องทั่วไปของจรวด และการดำเนินการต่างๆ รวมทั้งมีการกล่าวของผู้บริหารประเทศต่างๆ ซึ่งเป็นเจ้าของดาวเทียมที่จะยิงในครั้งนี้ คือ ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ จาก GISTDA ประเทศไทย ผู้แทนไต้หวัน และผู้แทน cubesat อีก ๑๐ ดวงที่เหลือสหภาพยุโรป

         - เมื่อเริ่มนับถอยหลังผู้ชมที่อยู่ในห้อง Control Room รู้สึกตื่นเต้น และอึดอัดว่าผลลัพธ์จะเป็นอย่างไร จนกระทั่งได้เวลา ๒๒.๓๖ น. ของวันที่ ๘ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๖ ตรงกับวันที่ ๙ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๖๖ เวลา ๐๘.๓๖ น. เวลาประเทศไทย ก็ได้นำดาวเทียมนานาชาติทั้ง ๑๒ ลูก
ขึ้นสู่วงโคจรได้อย่างสมบูรณ์

สรุปการนำส่งดาวเทียมของจรวด VEGA

การนำส่งครั้งนี้ นับเป็นการนำส่งครั้งที่ ๒๓ ของจรวดนำส่ง VEGA โดยมีดาวเทียม THEOS-2 เป็น Primary Payload, ดาวเทียม Formosat-7R เป็น Secondary Payload และมี Auxiliary Payload ซึ่งประกอบด้วยดาวเทียมขนาดไม่เกิน ๑๐๐ กิโลกรัม อีก ๑๐ ดวง

การจุดจรวดจะเกิดขึ้นในเวลาเมืองไทยประมาณ ๐๘.๓๖ น. วันที่ ๙ ตุลาคม แนวการส่งจะเป็นการส่งขึ้นเหนือ เนื่องจากการส่งไปยังวงโคจรของ THEOS-2 ซึ่งเป็น Polar Orbit จะต้องส่งขึ้นเหนือหรือลงใต้ แต่ฐานนำส่ง Guinea Space Center อยู่ทางตอนเหนือของประเทศบราซิลจึงไม่สามารถให้จรวดวิ่งลงใต้ผ่านประเทศบราซิล ด้วยเหตุผลด้านความปลอดภัย

ทั้งนี้การส่งดาวเทียม จรวดนำส่งจะต้องถูกส่งขึ้นไปในทิศทางที่สอดคล้องกับการโคจรของดาวเทียม เนื่องจากดาวเทียม THEOS-2 โคจรจากขั้วโลกใต้ขึ้นไปสู่ขั้วโลกเหนือในเวลากลางคืน การส่งจรวดจึงต้องส่งในเวลากลางคืน (เวลาท้องถิ่นที่ฐานนำส่ง)

ภายใน ๗ นาที หลังการจุดจรวด ท่อนเชื้อเพลิงท่อนที่ ๑,๒ และ ๓ จะถูกใช้หมดและถูกปลดออกจากจรวดท่อนหลัก ในส่วนหัวจรวด แฟริ่งทั้ง ๒ ชิ้นจะถูกแยกออกเช่นกัน จรวดนำส่งท่อนที่ ๑,๒ และแฟริ่ง จะตกกลับลงมาที่โลก บริเวณมหาสมุทรแอตแลนติก และจรวดท่อนที่ ๓ บริเวณมหาสมุทรอาร์กติก สำหรับจรวดท่อนหลักในส่วนที่เหลือประกอบด้วย Upper Stage , Payload Adapter และ Payload ทั้ง ๑๒ ดวง

 

การแยกตัวระหว่างตัวดาวเทียมกับจรวดนำส่ง Flight 23 นี้ ถูกกำหนดไว้ ๒ จุดเวลา

จรวดนำส่ง VEGA จะโคจรผ่านขั้วโลกเหนือ และปล่อยดาวเทียม THEOS-2 ในเวลาประเทศไทยประมาณ ๐๙.๓๑ น. ที่ตำแหน่งต่ำกว่าเส้นศูนย์สูตรเล็กน้อย โดยจะเป็นการปล่อยที่ความสูง ๖๐๐ กม. (ต่ำกว่าวงโคจรของ THEOS-2 ที่ ๖๒๑ กม.) ทั้งนี้จรวดจะปล่อยดาวเทียม THEOS-2 ออกพร้อมกับดาวเทียม Formosat-7R ของไต้หวัน จากนั้นจรวดจะโคจรไปยังวงโคจรที่ต่ำลง เพื่อปล่อยดาวเทียม Auxiliary Payload ทั้ง ๑๐ ดวง ที่เหลือออกไป

ในส่วนของดาวเทียม THEOS-2 หลังจากระบบบนดาวเทียมตรวจจับการแยกตัวจากจรวดแล้ว ระบบคอมพิวเตอร์บนดาวเทียมจะสั่งให้ดาวเทียมกางแผง Solar Array ทั้ง ๒ แผงออก และระบบควบคุมการทรงตัวจะทำการลดความเร็วการหมุนตัว (tumbling rate) ของดาวเทียม
ซึ่งเป็นการหมุนที่เกิดจากแรงระหว่างการแยกตัว (การแยกตัวทำด้วยระบบสปริง ๖ ชุด) ในส่วนนี้เรียกว่าการทำ De-Tumbling หลังจากลดระดับลงมาจนถึงค่าที่กำหนด ดาวเทียมจะเริ่มทำ
Sun Acquisition หรือการหันแผง Solar Array ไปหาดวงอาทิตย์ เพื่อชาร์จแบตเตอรี่

ทั้งนี้ดาวเทียมจะอยู่ใน Safe Mode และจะเปิดเฉพาะอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการทำงานพื้นฐานของดาวเทียม รอคำสั่งจากภาคพื้นดินต่อไป โดยดาวเทียมจะโคจรผ่านสถานีภาคพื้นดินที่ศรีราชาครั้งแรก ในเวลาท้องถิ่น ๑๐.๕๓ น. โดยประมาณ

กิจกรรม Launch and Early Operation Phase (LEOP) และ In-Orbit Test (IOT)

LEOP (Launch and Early Operational Phase) คือกิจกรรม Operation ทั้งหมดที่เกิดขึ้น ตั้งแต่ก่อนการนำส่งไม่กี่ชั่วโมง และสิ้นสุดเมื่อดาวเทียมอยู่ที่ Operational Orbit

  • การตรวจสอบและยืนยันความพร้อมของระบบภาคพื้นดิน และดาวเทียม เพื่อยืนยัน Go/No Go สำหรับการนำส่ง
  • การยืนยันการแยกตัวจากจรวดนำส่ง
  • การติดต่อกับดาวเทียมครั้งแรก
  • การยืนยันสถานะ การกางแผง Solar Array, สถานะ การ De-tumbling และอื่นๆ
  • การส่งคำสั่งเพื่อเปิดอุปกรณ์และปรับ mode ดาวเทียมออกจาก SAFE Mode
  • การตรวจสอบการทำงานของระบบต่างๆ (AOCS, Power, Thermal, RF)
  • การส่งคำสั่งเพื่อปรับทำ Thruster Calibration และปรับวงโคจร
  • การเปิดอุปกรณ์  Payload และปรับดาวเทียมเข้าสู่ Operation Mode
  • การถ่ายภาพแรก เพื่อตรวจสอบอุปกรณ์ Payload (Instrument + X-Band Transmitter)
  •  ในกรณีปกติ กิจกรรม LEOP ของ THEOS-2 ใช้เวลา ๕-๑๐ วัน ขึ้นกับการปรับวงโคจรจาก Injection ไปสู่ Operational Orbit

    IOT (In-Orbit Testing) เป็นกิจกรรมที่ทำต่อจาก LEOP มีวัตถุประสงค์เพื่อ

  • ทดสอบระบบการทำงานของดาวเทียม ตามที่ออกแบบไว้ เปรียบเทียบค่าพารามิเตอร์ต่างๆ เทียบกับค่าที่คำนวณหรือทำนายไว้จากการออกแบบ และปรับแก้หากจำเป็น
  • ทดสอบประสิทธิภาพของระบบทั้งในส่วนของดาวเทียมและระบบภาคพื้นดิน เช่นเวลาในการหมุนตัวถ่ายภาพ, การส่งข้อมูลภาพลงมาที่ระบบรับสัญญาณ, จำนวนข้อมูลภาพที่รับสัญญาณและจำนวนผลิตภัณฑ์ที่ผลิตได้ในแต่ละวัน เป็นต้น
  • การปรับแก้ค่าพารามิเตอร์ของอุปกรณ์ถ่ายภาพ เช่นความคมชัดและค่าสัญญาณรบกวน

 

พลเรือเอก ทวีวุฒิ พงศ์พิพัฒน์

.

Nattakarn Sirirat 9/1/2567 383 0
Share :

บทความที่เกี่ยวข้อง