Head GISDTDA

GISTDA ร่วมมือ กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมฯ เปิดเวทีกลุ่มย่อย พร้อมนำเสนอเทคโนโลยีระบบอากาศยานไร้คนขับ และ Remote ID มุ่งสู่การพัฒนาระบบการจัดการโดรนในประเทศไทย

2 มิถุนายน 2566 GISTDA ร่วมกับ กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ ภายใต้ กสทช. จัดงาน Focus Group “การพัฒนาระบบการจัดการจราจรอากาศยานไร้คนขับ” (Development of Unmanned Aircraft Traffic Management) หรือระบบ UTM ครั้งที่ 2 เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะกับผู้มีส่วนได้และส่วนเสียที่เกี่ยวข้องกับกิจกรรมอากาศยานไร้คนขับและผู้ใช้ประโยชน์จากโดรน เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องกับการดำเนินงานวิจัย พร้อมแลกเปลี่ยนประสบการณ์เชิงนโยบาย แนวทางการส่งเสริมการแข่งขัน การเปิดตลาดเสรีที่เหมาะสม แนวทางการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงนโยบายในการส่งเสริมให้เกิดระบบนิเวศของเศรษฐกิจอวกาศด้านดาวเทียมสื่อสารวงโคจรต่ำกับบริษัทชั้นนำจากเอเชียและยุโรป ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลพลาซา ลาดพร้าว กรุงเทพฯ

ดร.ณัฐวัฒน์ หงส์กาญจนกุล โฆษก GISTDA และผู้อำนวยการสำนักพัฒนาเทคโนโลยีกิจการอวกาศ กล่าวว่า ระบบ UTM หรือ Unmanned Traffic Management เป็นระบบสำหรับจัดการการจราจรของอากาศยานไร้คนขับ หรือ ที่เรียกสั้น ๆ “ระบบจัดการจราจรโดรน” ซึ่งสามารถเปรียบได้กับเครื่องบินโดยสารหรือเครื่องบินขนส่งสินค้าที่ในปัจจุบันก็ได้มีการจัดการเช่นกัน โดยผู้ควบคุมจราจรทางอากาศ แต่สำหรับเครื่องบินแบบโดรนนั้นยังไม่มีการจัดการ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องมีการกำกับดูแล โดยคำนึงถึงความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนเป็นสำคัญ และในขณะเดียวกันถือเป็นอำนวยความสะดวกให้กับผู้ใช้งานโดรนให้มากที่สุด

สำหรับผู้เข้าร่วมงานในครั้งนี้ประกอบด้วย ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียจากระบบ UTM อาทิ หน่วยงานที่ทำหน้าที่กำกับดูแลการบินของประเทศไทยอย่าง สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย บริษัทวิทยุการบิน กสทช. ไทยคม บริษัทเอกชนที่กำลังใช้งานโดรนหรือมีแผนงานที่จะใช้งานโดรนในอนาคต โดยเรามุ่งหวังว่าการนำเสนอเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับระบบ UTM ที่ GISTDA กำลังพัฒนาอยู่ในขณะนี้ จะได้รับความไว้วางใจและถูกนำไปใช้เป็นต้นแบบทางวิศวกรรมให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย นอกจากนี้ ข้อมูลที่ได้จากการแลกเปลี่ยนความเห็นร่วมกันในครั้งนี้ ไม่ว่าจะเป็นแนวคิด มุมมอง รวมถึงปัญหาและอุปสรรคต่าง ๆ จากผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย จะถูกนำไปพัฒนาปรับปรุงระบบและการดำเนินงานให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียให้มากที่สุด

โฆษก GISTDA กล่าวอีกว่า ระบบ UTM สามารถนำมาใช้ในการสาธิตเทคโนโลยีของระบบอากาศยานไร้คนขับได้ เพื่อเป็นข้อมูลที่เป็นประโยชน์ต่อหน่วยกำกับดูแลสำหรับการออกระเบียบ และยังสามารถใช้เป็นต้นแบบสำหรับการให้บริการให้กับการบินโดรนของประชาชนในพื้นที่ที่มีความหนาแน่นของประชากรไม่สูง การจราจรทางอากาศไม่พลุกพล่าน และไม่มีอากาศยานที่มีคนสัญจรผ่านไปมา ซึ่งจะทำให้ประชาชนในพื้นที่โดยรอบสามารถมองเห็นโดรนที่กำลังบินอยู่ในบริเวณนั้นๆ และที่สำคัญคือระบบ UTM สามารถอำนวยความสะดวกในการขอขึ้นบินโดรน และช่วยตรวจสอบโดรนที่บินโดยไม่ได้รับอนุญาตได้อีกด้วย

phasaphong.tha 2/6/2566 0
Share :