Head GISDTDA

แผนที่แสดงจุดความร้อนจาก Suomi NPP ระบบ VIIRS วันที่ 8 มกราคม 2565

GISTDA เผยข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) ของระบบเวียร์ (VIIRS) วันที่ 8 มกราคม 2565 พบจุดความร้อนทั้งประเทศ จำนวน 385 จุด ลดลงจากวานก่อน 40 จุด โดยพบมากสุดในพื้นที่เกษตร 196 จุด พื้นที่เขตสปก. จำนวน 58 จุด พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ 57 จุด พื้นที่ชุมชนและอื่นๆ จำนวน 37 จุด พื้นที่ป่าอนุรักษ์ 29 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 8 จุด ส่วนจังหวัดที่พบจุดความร้อนมากสุดนั้นอยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือทั้ง 3 จังหวัด คือ จังหวัด #กาฬสินธุ์ 25 จุด #นครราชสีมา 22 จุด #ขอนแก่น 21 จุด ตามลำดับ จากภาพแสดงให้เห็นว่าจุดความร้อนยังคงกระจายตัวอยู่ในบริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคกลางเป็นส่วนมากโดยเฉพาะพื้นที่เกษตร ซึ่งคาดว่าน่าจะเกิดจากการเตรียมพื้นที่เพื่อการเกษตร

สำหรับจุดความร้อนของประเทศเพื่อนบ้าน พบมากสุดที่ราชอาณาจักรกัมพูชา จำนวน 1,138 จุด อันดับ 2 เป็นประเทศไทย 385 จุด และอันดับที่ 3 เป็นสาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมาร์ จำนวน 329 จุด ตามลำดับ โดยจุดความร้อนในราชอาณาจักรกัมพูชายังคงพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ข้อมูลจุดความร้อนที่เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้านอาจส่งผลกระทบต่อคุณภาพอากาศ pm 2.5 ในพื้นที่บริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือบริเวณแนวชายแดน ขอให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เหล่านี้ดูแลสุขภาพกันด้วยนะครับ
ทั้งนี้ ปัญหาไฟป่าหมอกควัน ส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงให้กับระบบต่างๆ ของประเทศมาโดยตลอด โดยเฉพาะระบบเศรษฐกิจ ระบบสังคม ดังนั้น ในอนาคตอันใกล้นี้ ประเทศไทยกำลังจะได้ใช้ระบบ THOES-2 อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่ง 1 ในภารกิจสำคัญของระบบนี้ คือการสำรวจ วิเคราะห์ และติดตามสถานการณ์ภัยพิบัติที่เกิดขึ้นหรือคาดว่าจะเกิดขึ้น ได้อย่างทันท่วงทีและแม่นยำ เพื่อการสนับสนุนข้อมูลสำคัญให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำข้อมูลไปใช้วางแผน ป้องกัน บรรเทา และแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดมากยิ่งขึ้น
อย่างไรก็ตาม รายละเอียดข้อมูลเฉพาะพื้นที่ท่านสามารถติดตามจากหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบโดยตรงได้ GISTDA ยังคงติดตามและรายงานสถานการณ์อย่างต่อเนื่อง เพื่อเป็นข้อมูลให้กับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้นำไปใช้บริหารจัดการในพื้นที่ ท่านสามารถติดตามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ https://fire.gistda.or.th

Admin 8/1/2565 0
Share :