Head GISDTDA

GISTDA ใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศพัฒนาดอนศิลา ผลักดันการทำงานร่วมกัน ตามหลักประชารัฐ พร้อมขยายผลสู่พื้นที่อื่นๆ ในจังหวัดเชียงราย

        26 พฤษภาคม 2559 GISTDA นำทีมขึ้นเชียงรายติดตามการนำระบบเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศมาใช้ในการพัฒนาระบบข้อมูล GIS แผนที่ระดับหมู่บ้าน ตำบล โดยได้จัดทำข้อมูลและแผนที่สนับสนุนให้กับชุมชนได้นำไปใช้ประโยชน์ทางด้านกายภาพ โครงสร้างพื้นฐานและแปลงที่ดิน รวมไปถึงการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในพื้นที่
          GISTDA ได้ลงพื้นที่ตำบลดอนศิลา อำเภอเวียงชัย จังหวัดเชียงราย มาตั้งแต่ปี 2557 เนื่องจากพื้นที่ดังกล่าวประสบกับปัญหาความยากจนและเป็นหนี้ ทำให้ชาวบ้านจำนวนไม่น้อยมีแนวโน้มที่จะเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยวมากขึ้น รวมถึงปัญหาเรื่องที่ดินทำกิน ราคาผลผลิตตกต่ำ ภัยพิบัติ ปัญหาที่เกิดจากขยะและสิ่งแวดล้อม การอพยพของแรงงานข้ามชาติแบบผิดกฎหมาย ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในพื้นที่และส่งผลกระทบต่อชาวบ้านในชุมชนไม่น้อย  ซึ่งที่ผ่านมา GISTDA ได้นำข้อมูลภูมิสารสนเทศมาช่วยสนับสนุนการดำเนินงาน โดยอาศัยการมีส่วนร่วมกับชาวบ้านและหน่วยงานในท้องถิ่นเพื่อบรรเทาและแก้ไขปัญหาดังกล่าว ในด้านต่างๆ ทั้งด้านการจัดทำแผนที่โครงสร้างพื้นฐานและทรัพยากรธรรมชาติ แผนที่แนวเขตหมู่บ้าน แผนที่ป่าชุมชน แผนที่การใช้ประโยชน์ที่ดิน รวมถึงด้านการปรับปรุงข้อมูลและติดตามการเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่ เพื่อปรับปรุงข้อมูลแปลงที่ดินทำกินทุกประเภท การปรับปรุงข้อมูลแนวเขตหมู่บ้าน ป่าชุมชน พื้นที่สาธารณะ ติดตามการเปลี่ยนแปลงพื้นที่ป่าไม้ เป็นต้น หรือการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ เช่นการจัดทำแผนแม่บทชุมชนระดับหมู่บ้าน การจัดทำแผนพัฒนาตำบล การกำหนดพื้นที่บ่อขยะของเทศบาล การกำหนด Zoning พื้นที่การเกษตร การแก้ไขปัญหาภัยพิบัติ การแก้ไขปัญหาน้ำแล้งของหมู่บ้าน รวมไปถึงการใช้ข้อมูลและแผนที่ในการจัดการทรัพยากรป่าไม้โดยการมีส่วนร่วมของคนในชุมชน เช่น การดูแลรักษาป่าชุมชน และการเฝ้าระวังการบุกรุกป่า เป็นต้น เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในพื้นที่ในการประยุกต์ใช้และแก้ไขปัญหาในชุมชนได้อย่างทันท่วงที และมีประสิทธิภาพ ตลอดจนนำข้อมูลเหล่านั้นมาพัฒนาต่อยอดและนำไปบริหารจัดการพื้นที่อื่นๆ ได้อย่างเป็นระบบ ซึ่งที่ผ่านมาพบว่าหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและชาวบ้านในพื้นที่ของตำบลดอนศิลา อำเภอเวียงชัยให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหาในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี เนื่องจากชาวบ้านให้ความสนใจและมีความรู้ในเรื่องของข้อมูลภูมิสารสนเทศพอสมควร ดังนั้นการที่ GISTDA ได้ลงมาสนับสนุนการดำเนินงานในพื้นที่ดังกล่าว ถือเป็นการสร้างให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเองภายในชุมชนอีกด้วย
          การดำเนินงานโครงการฯ ดังกล่าว สามารถช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาได้ในระดับหนึ่ง แต่การแก้ไขหรือพัฒนาให้มีความยั่งยืนต่อไปนั้น ต้องอาศัยการมีส่วนร่วมระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและชุมชนในพื้นที่เป็นสำคัญ ซึ่งจะสามารถต่อยอดให้กับหน่วยงานหรือชุมชนในพื้นที่ใกล้เคียงได้ ในการนำข้อมูลไปพัฒนาและปรับใช้ในพื้นที่ โดย GISTDA ได้ตระหนักถึงบทบาทและความสำคัญของการมีส่วนร่วมในการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และชุมชน นอกจากนี้ มีบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญในระบบเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ ที่สามารถให้ความรู้ เทคนิค วิธีการ ในการใช้งานให้กับบุคลากรในพื้นที่ เพื่อให้เกิดระบบข้อมูลจากฐานราก และนำมาซึ่งการพัฒนาพื้นที่อย่างมีแบบแผนและยั่งยืนได้ ซึ่งถือเป็นการบริหารจัดการเชิงรุกที่หลายฝ่ายจะต้องระดมและร่วมมือกันอย่างจริงจัง เพื่อบรรเทาและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่อย่างเป็นระบบตามหลักประชารัฐ
         รวมถึงการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งหน่วยงานของรัฐ ภาคการศึกษา ภาคเอกชน ประชาชน การกำหนดระบบหรือกลไกขับเคลื่อนทั้งด้านนโยบาย การปฏิบัติ การใช้ประโยชน์  เพื่อให้เกิดการพัฒนาต่อยอด โดยมีเป้าหมายการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจ ลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความมั่นคงทางสังคม ความยั่งยืนทางทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม

Admin 26/5/2559 0
Share :