Head GISDTDA

รมว.วิทยาศาสตร์ฯ ขึ้นเหนือสำรวจปัญหาไฟป่าหมอกควัน เผย 5 มาตรการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นำปัจจัยเข้ามาในสมการ เพื่อการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน

     18 มีนาคม 2559 ณ โรงแรมดวงตะวันเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ / ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เปิดเวทีสัมมนา “วิทยาศาสตร์ลดไฟป่า เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ” ซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดย สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) จัดระดมข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใน 9 จังหวัดภาคเหนือที่ประสบปัญหาหมอกควันจากไฟป่า พร้อมเผย 5 มาตรการใช้ประโยชน์จากวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อแก้ปัญหาไฟป่าและผลกระทบจากหมอกควันอย่างยั่งยืน

     รัฐมนตรีกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า เป้าหมายของการสัมมนาคือการระดมความคิดเห็นจากหน่วยปฏิบัติในพื้นที่ที่ประสบปัญหา เแล้วนำปัจจัยที่เกี่ยวข้องเข้ามาในสมการ เพื่อแก้ปัญหาโดยมีจุดเน้นที่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ มีหลายหน่วยงานที่มีเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง อาทิ เทคโนโลยีภาพถ่ายดาวเทียม การจัดการเชื้อเพลิง การพัฒนาผลิตภัณฑ์ เป็นต้น และพร้อมที่จะขยายขอบเขตการทำงานเพื่อสนับสนุนการแก้ปัญหาให้ครอบคลุมในทุกมิติ นำเทคโนโลยีมาติดตามสถานการณ์ สร้างแรงจูงใจให้เกิดการเผาป่าจะน้อยลง สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศษไม้ใบหญ้า

     ดร.พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ เปิดเผยว่า ปีนี้จุดความร้อนหรือฮอตสปอตใน 9 จังหวัดภาคเหนือได้ลดลงกว่าครึ่งหนึ่ง ซึ่งเป็นสัญญาณที่ดีของการบูรณาการความร่วมมือของภาครัฐและประชาชน ทั้งนี้ ตนได้สั่งการให้มีการจัดทำมาตรการเร่งด่วน 5 อย่างเพื่อนำเทคโนโลยีอวกาศและเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาสนับสนุนการแก้ปัญหาหมอกควันจากไฟป่า ได้แก่

  • มาตรการที่หนึ่ง คือ การเพิ่มศักยภาพดาวเทียม ให้มีความแม่นยำและเพิ่มความถี่การตรวจจับให้บ่อยครั้งขึ้นเพื่อให้ติดตามและคาดการณ์สถานการณ์ได้ทันท่วงที
  • มาตรการที่สอง คือ การจัดการเชื้อเพลิง โดยนำวัสดุทางการเกษตร จัดทำโซนนิ่งการใช้เชื้อเพลิง ทำแนวกันไฟ ตามข้อมูลความถี่ และจัดทำพื้นที่เสี่ยงการเกิดไฟ
  • มาตรการที่สาม คือ การนำเชื้อเพลิงมาเป็นพลังงานทดแทน เช่น การนำเศษวัสดุทางการเกษตรมาใช้ในโรงไฟฟ้าชีวมวล
  • มาตรการที่สี่ คือ การพัฒนาผลิตภัณฑ์จากเศษซากวัสดุทางการเกษตร
  • มาตรการที่ห้า คือ การพัฒนาองค์ความรู้เพื่อเป็นการเสริมสร้างความสามารถของเยาวชนและภาคประชาสังคม

     ดร.พิเชฐ กล่าวเสริมอีกว่า “กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้มองถึงการแก้ไขปัญหาในระยะยาว ในการควบคุมปริมาณเชื้อเพลิงในพื้นที่เสี่ยง เพื่อลดโอกาสการเกิดไฟป่า และเป็นการเพิ่มรายได้ รวมทั้งยกระดับคุณภาพชีวิตให้กับเกษตรกรและท้องถิ่นให้ดีขึ้น ซึ่งจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือและการสนับสนุนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ในการเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจในการนำวิทยาศาสตร์ และเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อการลดไฟป่า เพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ อย่างเป็นรูปธรรม

ข่าวโดย ฝ่ายภาพลักษณ์องค์กรและประชาสัมพันธ์/GISTDA
www.gistda.or.th
www.facebook.com/gistda
Email: pr.gistda@gmail.com
หมายเลขโทรศัพท์ 021414567

Admin 18/3/2559 0
Share :