Head GISDTDA

ใช้ภูมิสารสนเทศเป็นกลไกหลักแก้ปัญหาชุมชน ลดพื้นที่ปลูกพืชไร่พืชล้มลุกในเขตป่าแม่แจ่ม

9 ก.ค. 2559 GISTDA จัดกิจกรรมสร้างความเข้าใจในบทบาทของภูมิสารสนเทศที่มีต่อชุมชน กรณีความสำเร็จจากการจัดทำข้อมูลและแผนที่ชุมชน เพื่อลดพื้นที่ปลูกพืชไร่พืชล้มลุกในเขตป่า p อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ณ โรงเรียนราชประชานุเคราะห์ที่ 31 และชุมชนบ้านสองธาร ตำบลช่างเคิ่ง อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่
       แม่แจ่มมีพื้นที่ประมาณ 1.7 ล้านไร่ เป็นป่าสงวนแห่งชาติ 1.35 ล้านไร่ ป่าอนุรักษ์ 0.32 ล้านไร่ และเป็นพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธ์เพียง 0.023 ล้านไร่ ปัจจุบันมีมีพื้นที่ใช้ประโยชน์ 0.44 ล้านไร่ จากสภาพพื้นที่เป็นภูเขาและอยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติแม่แจ่มกว่า 80 % ของพื้นที่ ทำให้ประเด็นปัญหา “คนกับป่า”เกิดขึ้นมาอย่างยาวนาน เมื่อประชากรเพิ่มขึ้นวิถีชีวิตและการผลิตในชุมชนท้องถิ่นเปลี่ยนไป ที่ผ่านมาในพื้นที่แม่แจ่มมีการส่งเสริมปลูกพืชเศรษฐกิจจากภาครัฐและเอกชนทั้งในทางตรงและทางอ้อมทำให้ป่าสงวนแห่งชาติแม่แจ่มและพื้นที่แถบลุ่มน้ำที่เคยอุดมสมบูรณ์ถูกรบกวน และถูกแปรสภาพมาเป็นไร่ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หอมแดง และกะหล่ำปลี ทำให้หลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในท้องถิ่นทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรส่วนท้องถิ่น หน่วยงานป่าไม้ และภาคประชาสังคมของอำเภอแม่แจ่ม ร่วมมือร่วมใจกันขับเคลื่อนนโยบายในการแก้ไขปัญหาป่าไม้ที่ดินทำกิน เพื่อแก้ไขปัญหาการบุกรุกที่ดินของรัฐ โดยการจัดทำแนวเขตที่ดินทำกินของประชาชนและของรัฐให้ชัดเจนยิ่งขึ้น จนผลักดันให้เกิดเป็นข้อตกลงในการกำหนดพื้นที่ร่วมกัน และเท่าที่ทราบได้มีการกำหนดพื้นที่แนวกันชนและที่ราบเชิงเขาให้เป็นพื้นที่ยุทธศาสตร์ของการปลูกป่า เพื่อป้องกันภัยพิบัติและการป้องกันการบุกรุกป่า การขยายป่าชุมชน และส่งเสริมการปลูกไม้ที่มีคุณค่าทางเศรษฐกิจ เพื่อลดการตัดไม้จากป่าธรรมชาติที่เรียกว่า “แม่แจ่มโมเดล”
       จากประเด็นความสำเร็จของแม่แจ่มโมเดล ทำให้เกิดจากความร่วมแรงร่วมใจในทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาชน และสถาบันการศึกษา ในการจัดทำฐานข้อมูลและแผนที่ชุมชน เพื่อการบริหารการจัดการการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตที่ดินของรัฐ (คนกับป่า) จนสามารถผลักดันให้เกิดข้อตกลงร่วมกันในท้องถิ่น โดยเฉพาะในการกำหนดพื้นที่ร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ทำกิน พื้นที่ป่าใช้สอย และพื้นที่ป่าอนุรักษ์ รวมไปถึงการออกข้อบัญญัติท้องถิ่น เพื่อให้ประชาชนได้ดูแลพื้นที่ของตนเอง และลดปัญหาการทำการเกษตรที่ไม่ยั่งยืน ซึ่งเป็นสาเหตุของการบุกรุกป่าและปัญหาไฟป่าหมอกควันในอนาคต ซึ่งที่ผ่านมา GISTDA ใช้ภูมิสารสนเทศเป็นกลไกหลักแก้ไขปัญหาให้กับชุมชนมาโดยตลอด จึงพยายามผลักดันแนวคิด “แม่แจ่มโมเดลพลัส” เพื่อส่งเสริมพื้นที่ที่มีความพร้อมในปัจจุบัน แต่ยังไม่มีกระบวนการแก้ไขปัญหาเชิงพื้นที่ที่เหมาะสมได้พัฒนาศักยภาพในด้านต่างๆ ก่อนที่จะนำแนวคิดของแม่แจ่มโมเดลไปประยุกต์ใช้ในระยะต่อไป โซลูชั่นดังกล่าว หรือ “แม่แจ่มโมเดลพลัส” จะเป็นเครื่องมือกลางให้ภาคส่วนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งภาครัฐ ชุมชน องค์กรพัฒนาเอกชน และภาคธุรกิจ ร่วมกันอนุรักษ์และฟื้นฟู สร้างความมั่นคงในพื้นที่ ลดการปลูกพืชล้มลุก อันนำไปสู่การลดปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่าและไฟป่า ในพื้นที่สูงในพื้นที่ภาคเหนืออย่างยั่งยืน ตามหลักประชารัฐ
สำหรับกิจกรรมในวันนี้ ไฮไลท์สำคัญอยู่ที่การร่วมเสริม และแลกเปลี่ยนความเห็น ตลอดจนแนวทางในการจัดการพื้นที่อย่างบูรณาการ ด้วยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ซึ่งเป็นพลังสำคัญในการผลักดันพื้นที่และชุมชนให้มีความเข้มแข็ง และพัฒนาขีดความสามารถ เติมเต็มศักยภาพ ให้เกิดความยั่งยืน ทั้งวิถีชุมชน เศรษฐกิจ ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม และแน่นอนว่าท้ายที่สุดจะนำไปสู่การส่งเสริมและผลักดันบทบาทของภูมิสารสนเทศ ในการบริหารจัดการพื้นที่ป่าไม้แบบมีส่วนร่วม และการติดตามการใช้ประโยชน์พื้นที่ให้เป็นไปตามกฎหมาย ประกาศ ระเบียบ กติกา ข้อตกลง ในพื้นที่อย่างเข้มข้นและมีประสิทธิภาพ อันนำไปสู่การอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ของประเทศอย่างยั่งยืนในอนาคตต่อไป

Admin 11/7/2559 0
Share :