9 กุมภาพันธ์ 2564 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ร่วมกับ สถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ สาธารณรัฐเกาหลี (National Institute of Environmental Research: NIER) นำเทคโนโลยีอวกาศมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศในประเทศไทย โดยจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (Memorandum of Cooperation – MOC) เรื่อง การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศเพื่อจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมและมลพิษพร้อมติดตั้งเครื่องมือเพื่อติดตามสภาวะคุณภาพอากาศในประเทศไทย
ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลักในการใช้ข้อมูลจากดาวเทียม Geostationary Environmental Monitoring Sensors หรือ ดาวเทียม GEMS ของสาธารณรัฐเกาหลี และข้อมูลภาคพื้นดินจาก อุปกรณ์ตรวจวัดมลพิษและสภาพอากาศภาคพื้นดิน Pandora และsensor อื่นๆ ในการติดตามและบริหารจัดการปัญหามลพิษทางอากาศของไทยโดยเฉพาะ PM 2.5 ซึ่งไทยเองก็เคยติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลกที่มีปัญหามลพิษทางอากาศจากการจัดอันดับของ Airvisual เมื่อช่วงเดือนธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา โดยนอกจาก GISTDA แล้วยังมีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภาคีเครือข่ายหน่วยงานด้านการวิจัยมลพิษทางอากาศ อาทิ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียแปซิฟิกแห่งสหประชาชาติ และมหาวิทยาลัยต่างๆ เป็นต้น ร่วมด้วย หน่วยงานดังกล่าวจะร่วมกันกับ NIER ถ่ายทอดองค์ความรู้ในการใช้ข้อมูลจาก GEMS และ Pandora รวมไปจนถึง sensor อื่นๆ ที่มีอยู่แล้วมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถติดตามการตรวจวัดมลภาวะทางอากาศได้อย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพ มีความแม่นยำสูงสุด และสามารถรายงานข้อมูลได้เป็นรายชั่วโมงอีกด้วย ทั้งนี้ นอกจากการใช้ข้อมูลประจำวันซึ่งจะได้รับข้อมูลแบบทันทีที่มีการติดตั้งอุปกรณ์เรียบร้อยแล้ว คาดว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะเสร็จสมบูรณ์และสามารถพร้อมให้บริการเต็มรูปแบบภายในปี 2565 ได้อย่างแน่นอน
ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวต่อว่า ผลจากความร่วมมือนี้จะทำให้ประชาชนคนไทยมีความปลอดภัยและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากการป้องกันมลพิษทางอากาศ ทั้งนี้ GISTDA เครือข่ายพันธมิตร และ NIER ยังมีแผนต่อยอดความร่วมมือไปสู่การหาสาเหตุ แนวทางการป้องกัน และการลดผลกระทบจากมลพิษทางอากาศต่อประชาชน นอกจากนี้ จะช่วยให้เครือข่ายนักวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมและมลพิษของไทยได้มีโอกาสในการขยายความร่วมมือวิจัยและพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมและมลพิษไปสู่ระดับภูมิภาค และนานาชาติต่อไป ซึ่งจะเป็นการยกระดับงานวิจัยให้เป็นที่ยอมรับในเวทีระดับโลกอีกด้วย
ส่วนแผนการดำเนินการนั้น จะเริ่มมีการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดทางพื้นดินที่กรุงเทพฯ ปทุมธานี เชียงใหม่ และสงขลาในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2564 และเริ่มทดสอบข้อมูลตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นไป เพื่อร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถติดตามตรวจวัดมลภาวะทางอากาศได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ และมีประสิทธิภาพ สูงสุดต่อไป และความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็น 1 ในภารกิจสำคัญภายใต้ความร่วมมือระหว่างไทยกับสาธารณรัฐเกาหลีอย่างเป็นทางการ ซึ่งทั้ง 2 ประเทศต่างเห็นพ้องต้องกันที่จะขยายความสำเร็จจากความร่วมมือนี้ไปสู่ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อความเจริญรุ่งเรืองอย่างยั่งยืนและปลอดภัยของประชาชนในภูมิภาคในอนาคต ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าว