GISTDA เผยข้อมูลจากดาวเทียมซูโอมิ เอ็นพีพี (Suomi NPP) ของวันที่ 23 เมษายน 2566 ไทยพบจุดความร้อนลดลงเหลือ 867 จุด สาเหตุส่วนหนึ่งที่จุดความร้อนไทยลดลงมาจากหลายพื้นที่ตอนบนเกิดฝนตก เนื่องจากพายุฤดูร้อน ในขณะที่จุดความร้อนของประเทศเพื่อนบ้านอย่าง สปป.ลาว ครองอันดับหนึ่งอยู่ที่ 3,139 จุด, พม่า 888 จุด, เวียดนาม 463 จุด, กัมพูชา 160 จุด และ มาเลเซีย 56 จุด
ข้อมูลจากดาวเทียมระบุอีกว่า จุดความร้อนในประเทศไทยวานนี้พบในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ 256 จุด, ป่าสงวนแห่งชาติ 233 จุด, พื้นที่เกษตร 210 จุด, พื้นที่ชุมชนอื่นๆ 93 จุด, พื้นที่เขต สปก. 65 จุด และพื้นที่ริมทางหลวง 10 จุด ในส่วนของจังหวัดที่พบจุดความร้อนมากที่สุดคือ #เพชรบูรณ์ 98 จุด #แพร่ 59 จุด #น่าน 57 จุด ตามลำดับ
สิ่งหนึ่งที่ต้องเฝ้าระวังที่มักจะมากับเหตุการณ์ไฟป่าและจุดความร้อนคือ PM 2.5 สถานการณ์จุดความร้อนจากประเทศเพื่อนบ้านอาจส่งผลให้เกิด PM 2.5 ได้ในพื้นที่บริเวณชายแดนเนื่องจากได้รับอิทธิพลจากกระแสลมที่จะพัดผ่านเข้ามา ประกอบกับภูมิประเทศทางภาคเหนือของไทยมีลักษณะเป็นหุบเขาแอ่งกระทะ จึงมีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกับการพัดและการเคลื่อนตัวของกระแสลมในพื้นที่เป็นสำคัญ