Head GISDTDA

ยุคอิกี้ไม่ได้แค่นั่งร้อนผ่าว แต่ยังมีเทคโนโลยีที่แวววาวที่อยากจะเล่าให้ฟังกัน อิอิ

 ยุคอิกี้ไม่ได้แค่นั่งร้อนผ่าว แต่ยังมีเทคโนโลยีที่แวววาวที่อยากจะเล่าให้ฟังกัน อิอิ 

 ช่วงนี้เห็นวัยรุ่นยุค Y2K เอาภาพเก่ามาเล่าใหม่กัน แอดขออินเทรนด์กับเขาหน่อย ก็เลยขอนำเรื่องเทคโนโลยีการรับรู้จากระยะไกล ในยุค Y2K มาเล่าสู่เพื่อน ๆ ฟังกัน (ย้ำว่าเพื่อน ๆ เพราะรุ่นเดียวกัน อิอิ)

 อ้าววว แล้ว “การรับรู้จากระยะไกล” คืออะไร (ขอวิชาการนิด)  การรับรู้จากระยะไกล หรือ Remote Sensing  อธิบายให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือการได้มาซึ่งข้อมูลเกี่ยวกับวัตถุ พื้นที่ และปรากฏการณ์บนพื้นโลก จากเครื่องรับรู้ (Sensor) โดยปราศจากการเข้าไปสัมผัสวัตถุเป้าหมาย... เรื่องมันยาว เอาสั้น ๆ ประมาณนี้ ถ้าอยากรู้รายละเอียดมากกว่านี้ลองค้นหา “การรับรู้จากระยะไกล GISTDA” ได้ อธิบายยาวเลย อิอิ 

 แคบลงมานิด...ขอโฟกัสการรับรู้จากระยะไกลโดยใช้เทคโนโลยีดาวเทียม ซึ่งในช่วงปี 2000 ถือว่าเป็นการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญช่วงหนึ่ง การส่งดาวเทียมไอโคนอส (IKONOS ของประเทศสหรัฐอเมริกา) ซึ่งเป็นดาวเทียมสำรวจโลก (Earth Observation) ที่มีรายละเอียดการถ่ายภาพ (Resolution หรือความสามารถในการแยกแยะวัตถุให้เห็นได้ในหนึ่งจุดภาพ) สูงถึง 1 เมตร ทำให้เดิมการนิยามว่าข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียมไออาร์เอส (IRS ของประเทศอินเดีย) รายละเอียด 5 เมตร ว่าเป็นข้อมูลดาวเทียมรายละเอียดสูงมากต้องเปลี่ยนไป ทั้งนี้ ยุคก่อนปี 2000 ดาวเทียมยังไม่ได้มีมากมายเหมือนทุกวันนี้ ข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียมที่ถูกนำมาประยุกต์แปลตีความจึงมักจะใช้ข้อมูลจากดาวเทียมแลนด์แซท (LANDSAT ของประเทศสหรัฐอเมริกา) รายละเอียด 30 เมตร เป็นหลัก เพราะโคจรมาถ่ายภาพซ้ำพื้นที่เดิมทุก 16 วัน ทำให้ได้ข้อมูลที่เห็นการเปลี่ยนแปลงของพื้นที่ต่าง ๆ ได้อย่างต่อเนื่อง รายละเอียดภาพที่สูงขึ้น (สามารถแยกแยะและเห็นรายละเอียดได้ชัดเจนขึ้น) จำนวนดาวเทียมที่เพิ่มขึ้น (ถ่ายภาพได้บ่อยขึ้น) มีข้อมูลถี่ขึ้นและทันต่อสถานการณ์ ส่งผลให้การสำรวจจากการรับรู้จากระยะไกล เข้ามามีบทบาทในชีวิตประจำวันเราอย่างเนียนๆ

 หากเรายังพอจะจำกันได้ ยุค Y2K ยังเป็นยุคของซีดี (Compact Disc: CD) ด้วยนะ แต่การส่งข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียมก่อนหน้านั้นยังต้องบันทึกเป็นเทป ดังนั้น ในช่วง Y2K เราจึงแลกเปลี่ยนข้อมูลด้วยการบันทึกเป็นซีดีกันแล้ววววว...เป็นไงล่ะ?...เท่ไหม? แต่อย่าได้ถามว่าทำไมไม่ส่งผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ต ต้องบอกว่าช้ามากๆๆๆๆๆๆๆๆๆ ยุคนั้นช่องสัญญาณยังน้อยและมีราคาแพงมากเช่นกัน จะบอกว่า “ให้มอเตอร์ไซด์ไปส่งซีดีแบบไปกลับสองรอบยังส่งผ่านอินเตอร์เน็ตไม่เสร็จเลย” อิอิ 

 อีกอย่าง การประยุกต์แปลตีความและแสดงผลภาพถ่ายจากดาวเทียมไม่ได้ง่ายหรือเทพอย่างปัจจุบัน เพราะการ์ดแสดงผลภาพในยุคกลาง 90’ ต่อเนื่อง 2000 การ์ดแสดงผลภาพของคอมพิวเตอร์ (VGA card) ที่ใช้ ๆ กันอยู่ทั่วไปสามารถแสดงผลภาพสีที่รายละเอียด 640 x 480 จุดภาพ กันอยู่เลย รายละเอียดต่ำกว่าโทรศัพท์มือถือทุกวันนี้เสียอีก แต่ก็นั่นแหละท่านแฟนเพจที่เคารพรัก ต้น ๆ ปี 2000 การเกิดขึ้นของ Google Map (ปี 2005), iPhone (ปี 2007) รวมทั้ง การพัฒนาระบบประมวล หน่วยความจำ หน่วยบันทึกข้อมูล อุปกรณ์แสดงผลของคอมพิวเตอร์ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดด!!! คอมพิวเตอร์เข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวัน ทำให้การประมวลผลภาพถ่ายจากดาวเทียมทำได้ง่ายและเข้าสู่ชีวิตประจำวันของเรามากขึ้น จากเดิมจะไปไหนมาไหนก็ต้องมีแผนที่ทางหลวงติดประจำไว้ในรถกันหลงทางก็ค่อย ๆ หายไป เพราะเทคโนโลยีดาวเทียม (ข้อมูลจากระบบดาวเทียมนำทาง+ระบบดาวเทียมสำรวจโลก) เข้ามาช่วยให้ชีวิตประจำวันของเราง่ายขึ้น ข้อมูลภาพถ่ายจากดาวเทียมที่สะสมมาจากอดีตนำไปสู่การสร้างแบบจำลอง (Modeling) เพื่อการวิเคราะห์ การประเมิน การคาดการณ์ในเชิงพื้นที่ นั่นเองครับ...

 และนี่คือบางส่วนของการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศจากอดีตถึงปัจจุบัน ซึ่งระหว่างนั้นเราต้องศึกษา ต้องเรียนรู้ ต้องปรับตัวและไม่หยุดที่จะพัฒนา เพื่อก่อให้เกิดเป็นนวัตกรรมทางเทคโนโลยีที่ทันสมัย พร้อมใช้อย่างทันท่วงที เพื่อสนับสนุนภารกิจสำคัญของประเทศต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง...

 ขอบคุณเรื่องเล่าจากพี่ชุบ ผู้ที่อยู่ในทุกช่วงเวลาของการเปลี่ยนแปลงนะครับ อิอิ 

#GISTDA #จิสด้า #Y2K #การรับรู้จากระยะไกล #RemoteSensing #เทคโนโลยีดาวเทียม #เทคโนโลยีอวกาศ #เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ #อีกี้

Nattakarn Sirirat 12/4/2566 0
Share :