Head GISDTDA

Climate feedback loops วงจรผลสะท้อนกลับส่งผลให้สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิง

Climate feedback loops

วงจรผลสะท้อนกลับส่งผลให้สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงอย่างสิ้นเชิง

.

จากรายงานของนักวิทยาศาสตร์มหาวิทยาลัยออริกอนสเตท จากสหรัฐอเมริกา ชี้ให้เห็นว่าแบบจำลองสภาพภูมิอากาศในปัจจุบันอาจประเมินผลกระทบของภาวะโลกร้อนต่ำเกินไป เนื่องจากไม่ได้คำนึงถึงวงจรผลสะท้อนกลับของสภาพภูมิอากาศ รายงานการวิจัยชิ้นนี้ได้ตีพิมพ์ในวารสาร One Earth เนื้อหาได้มีการเรียกร้องให้มีการดำเนินการอย่างเร่งด่วน เพื่อให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ภายใต้การควบคุมและจัดทำแผนงานสำหรับผู้กำหนดนโยบายที่มีเป้าหมายเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบที่ร้ายแรงที่สุดของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอีกด้วย

.

นักวิจัยยังได้พิจารณาถึงบทบาทของวงจรผลสะท้อนกลับของสภาพอากาศทั้งหมด 41 รายการที่สามารถลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และในจำนวนนี้ พบว่ามี 27 รายการกำลังขยายวงจรสะท้อนกลับที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากสภาพอากาศ ซึ่งกระตุ้นให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในเบื้องต้นเพิ่มเติมขึ้นอีก อาทิ อุณหภูมิที่สูงขึ้นนำไปสู่การละลายของน้ำแข็งในทะเลอาร์กติก ทำให้ปริมาณน้ำแข็งลดน้อยลงและการสะท้อนของรังสีก็จะลดน้อยลงเช่นกัน ส่งผลให้สภาพอากาศร้อนขึ้น เนื่องจากรังสีจากดวงอาทิตย์ถูกดูดซับโดยน้ำทะเลแทนที่จะถูกสะท้อนออกไป หรืออีกหนึ่งตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือผลกระทบของไฟป่า ซึ่งพบได้บ่อยขึ้นเนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนและแห้ง การเผาไหม้ของพืชและพรรณไม้ทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมากลอยขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ส่งผลให้เกิดภาวะเรือนกระจกและทำให้อุณหภูมิสูงขึ้นเช่นกัน ซึ่งทั้งสองสาเหตุนี้เป็นผลที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

.

นอกจากนี้ ยังมีนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยเอกซีเตอร์, สถาบันพอทสดัมเพื่อการวิจัยผลกระทบจากสภาพอากาศ, ศูนย์วิจัยภูมิอากาศวูดเวลล์ และผู้ร่วมวิจัยระบบนิเวศบนบก ได้ร่วมกันพิจารณาถึงบทบาทของการตอบสนองทางชีวภาพในกระบวนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้แก่ การสูญเสียพื้นที่ป่า การสูญเสียคาร์บอนในดินและการเกิดไฟป่า สำหรับการตอบสนองทางกายภาพในกระบวนการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ได้แก่ การลดลงของหิมะ ปริมาณน้ำฝนในแอนตาร์กติกเพิ่มขึ้น และน้ำแข็งในทะเลอาร์กติกมีการลดลงอย่างต่อเนื่อง เป็นต้น

.

ทั้งนี้ ในช่วงศตวรรษที่ผ่านมา ระดับการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่าผลกระทบที่เพิ่มขึ้นของวงจรผลสะท้อนกลับ ตลอดจนปฏิสัมพันธ์ระหว่างผลกระทบอื่น ๆ อาจทำให้ระบบโลกข้ามจุดเปลี่ยนและนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงอย่างถาวรจากสภาพอากาศปัจจุบันไปสู่สภาวะที่คุกคามการดำรงชีวิตของมนุษย์และสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ แม้ภาวะโลกร้อนในปัจจุบันจะอยู่ในระดับปานกลาง แต่คาดว่าอนาคตจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในระบบภูมิอากาศของโลกได้

.

สำหรับ ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับการลดการปล่อยคาร์บอนเช่นกัน GISTDA ในฐานะประธานคณะกรรมการดาวเทียมสำรวจโลกปี 2023 หรือ #CEOS Chair 2023 ได้มอบนโยบายผลักดันประเด็นสำคัญเกี่ยวกับ “การลดการปลดปล่อยคาร์บอน” เพื่อลดผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก โดยนำข้อมูลจากดาวเทียมและเทคนิคที่เกี่ยวข้องมาใช้เป็นเครื่องมือในการสำรวจและตรวจวัดการกักเก็บคาร์บอน เพื่อนำข้อมูลที่ได้มาทำการวิเคราะห์ แก้ปัญหาเพื่อนำไปสู่การปรับตัวและการบรรเทาปัญหาโลกร้อน ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของ UNFCC ซึ่งปัจจุบันหลายประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญและใช้เทคโนโลยีเพื่อสำรวจการกักเก็บคาร์บอน การจัดทำบัญชีคาร์บอนให้กับประเทศไทย ถือเป็นความท้าทายไปอีกขั้นในการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศเพื่อการเฝ้าระวังและลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศให้กับโลกต่อไป

.

เรียบเรียงโดย

จักรี พรหมบริสุทธิ์ เจ้าหน้าที่สื่อสารองค์กร

อ้างอิง

https://www.earth.com/.../dangerous-climate-feedback.../

#GISTDA #จิสด้า #ClimateFeedbackLoops #สภาพภูมิอากาศ #วงจรผลสะท้อนกลับ

Nattakarn Sirirat 21/2/2566 0
Share :