Head GISDTDA

NEO_Surveyor_ตามล่าหาอุกกาบาตให้เจอ_ก่อนที่พวกมันจะเจอโลกเรา

NEO_Surveyor_ตามล่าหาอุกกาบาตให้เจอ_ก่อนที่พวกมันจะเจอโลกเรา_!
.
ในช่วงท้ายปี 2022 หลายคนคงได้ยินภารกิจ DART ที่นาซ่าประสบความสำเร็จครั้งใหญ่ในการเปลี่ยนวิถีโคจรของอุกกาบาต เพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับอุกกาบาตที่มีวิถีพุ่งชนโลกของเรา โดยใช้วิธีการพุ่งชนให้เกิดการเลี้ยวเบนทิศทางของอุกกาบาตก่อนที่มันจะพุ่งเข้าชนโลก เพื่อป้องกันภัยในอนาคตได้ทันท่วงที ข่าวภารกิจ DART จึงขึ้นแท่นเป็นเรื่องเด่นที่น่าจับมองของวงการอวกาศโลก และปีใหม่ 2023 นี้ นาซ่าเองก็ได้วางแผนเดินหน้าสนับสนุนภารกิจที่เน้นเป้าหมายหลักในการปกป้องโลกต่อไป
.
การที่เราจะเบี่ยงเบนวิถีอุกกาบาตได้นั้น เราต้องรู้ล่วงหน้าถึงข้อมูลสำคัญของวัตถุใกล้โลกที่มีแนวโน้มว่าเสี่ยงต่อการเป็นภัยอันตรายได้ในอนาคต เพื่อสนับสนุนภารกิจปกป้องโลกของนาซ่า ภารกิจ NEO Surveyor หรือ Near-Earth Object Surveyor space telescope จึงถูกนำเสนอขึ้น นับเป็นภารกิจแรกในการส่งกล้องโทรทรรศน์อวกาศ ขึ้นออกล่าสำรวจข้อมูลวัตถุใกล้โลกโดยเฉพาะ กล้องโทรทรรศน์อวกาศ NEO Surveyor นี้จะทำหน้าที่สอดส่องระวังภัย โดยทำการสำรวจรวบรวมข้อมูลวัตถุที่โคจรเข้าใกล้โลกของเรา เป็นการป้องกันภัยก่อนภัยจะมา หรือเป็นการตามหาอุกกาบาตให้เจอ ก่อนที่มันจะเจอโลกเรา นั่นเอง
.
สิ้นปีที่ผ่านมา ภารกิจ NEO Surveyor ได้ผ่านการรับรองให้ไปต่อ ด้วยความสนับสนุนของสำนักงานความร่วมมือปกป้องดาวเคราะห์ (Planetary Defense Coordination Office : PDCO), การดำเนินการพัฒนาเครื่องมือภายใต้ Jet Propulsion Laboratory ของ CalTech และ การนำภารกิจสำรวจโดยคุณ Amy Mainzer แห่ง University of Arizona
.
NEO Surveyor มีภารกิจหลักๆคือการจัดจำแนกวัตถุ หรืออุกกาบาตอันตรายที่เข้าใกล้โลกภายในรัศมีวงโคจร 50 ล้านกิโลเมตร วัตถุต่างๆในวงรัศมีนี้เรียกรวมๆว่า “Near-Earth object” หรือ NEOs นั่นเอง
.
อุปกรณ์ที่ใช้ในภารกิจนี้ คือกล้องโทรทรรศน์อวกาศ ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 50 เซนติเมตร โดยการทำงานที่อาศัยการรับรู้ของช่วงรังสีอินฟราเรดที่ครอบคลุมถึงสองช่วงความยาวคลื่น (two heat-sensing infrared wavelengths) ด้วยกัน
.
อุกกาบาตที่เราเห็นในรูปจำลอง หรือรูปถ่ายอาจดูคล้ายก้อนหินใหญ่ๆที่สังเกตได้ง่าย แต่ในความเป็นจริงแล้ว ท่ามกลางอวกาศที่มืดมิด อุกกาบาตมีหลายประเภทด้วยกัน แต่ละประเภทก็ล้วนมีข้อท้าทายในการตรวจจับอันแตกต่างกัน อุกกาบาตที่สว่าง หรือสะท้อนแสงมากก็จะสังเกตได้ง่ายในช่วงคลื่นแสงที่มองเห็น แต่อุกกาบาตที่มืด หรือไม่ค่อยสะท้อนแสงในช่วงคลื่นที่เรามองเห็น เนื่องจากองค์ประกอบของมัน ประเภทนี้จะยากต่อการตรวจจับด้วยกล้องแบบปกติ ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีอุกกาบาตที่พุ่งเข้าหาโลกในทิศทางย้อนแสงดวงอาทิตย์ หรือพวกที่ตามโลกมาติดๆในวงโคจรของเรา อุกกาบาตที่หาตัวได้ยากเหล่านี้ถูกเรียกว่า Earth Trojans เพราะแฝงตัวเข้ามาโดยมีแสงอาทิตย์กำบังไว้คล้ายกลยุทธ์ม้าโทรจัน นับเป็นภัยเงียบอันน่าสะพรึงทีเดียว
.
แต่นั่นไม่เป็นปัญหาต่อ NEO Surveyor ที่ไวต่อรังสีอินฟราเรด ไม่ว่าจะเป็นอุกกาบาตมืด หรือสว่างในช่วงแสงที่มองเห็น หรือจะแอบซ่อนตัวในม่านแสงอาทิตย์ พวกมันก็จะเผยตัวออกมาในช่วงคลื่นอินฟราเรด เพราะความร้อนที่มันได้รับจากแสงอาทิตย์ที่สาดส่องมานั่นเอง การที่กล้อง NEO Surveyor มีช่วงการตรวจจับที่ครอบคลุม และไวต่อความร้อนนี้ ช่วยให้เรามั่นใจได้ว่าจะไม่มีอุกกาบาตแปลกปลอมที่ไม่ได้รับเชิญ พุ่งเข้ามาชนโลกของเราโดยไม่รู้ตัวล่วงหน้าก่อน เพราะไม่มีอุกกาบาตใดๆที่จะตกหล่นจากการสำรวจด้วย NEO Surveyor อย่างแน่นอน
.
การใช้เทคนิคการจับภาพแบบรังสีอินฟราเรดนี้ ทำให้ NEO Surveyor ตรวจวัดขนาดวัตถุใกล้โลกได้อย่างแม่นยำ รวมไปถึงส่วนประกอบ, รูปร่าง, รูปแบบการหมุน และที่สำคัญ วิถีวงโคจรของมันอีกด้วย ข้อมูลเหล่านี้นับว่าสำคัญอย่างยิ่งในการศึกษา และช่วยในการทำนายทิศทางถึงโอกาสการพุ่งชน และแผนการรับมือในอนาคต
.
ณ ขณะนี้ ภารกิจ NEO Surveyor ได้เข้าสู่เฟส C หรือก็คือภารกิจที่เตรียมพร้อมต่อการปฏิบัติการณ์จริง กำหนดการหลักในตอนนี้คือมันจะถูกส่งขึ้นโคจรภายในปี 2028 และขึ้นปฏิบัติการณ์อย่างน้อย 5 ปี เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลกว่าร้อยละ 90 ของวัตถุใกล้โลกที่มีขนาดใหญ่กว่า 140 เมตร ที่สามารถก่อความอันตรายระดับสูงได้หากพุ่งชนโลก ซึ่งถือเป็นวัตถุสำคัญอันดับต้นๆในการสำรวจ
.
ด้วยเทคโนโลยีที่ใช้ จะช่วยให้เราสามารถค้นพบอุกกาบาตใหม่ๆ และศึกษาวิถีโคจรของอุกกาบาตได้แบบแม่นยำ และยังสามารถติดตามตำแหน่งของอุกกาบาตนั้นๆไปได้เรื่อยๆอย่างต่อเนื่อง
.
ข้อมูลที่ได้รับจากภารกิจระดับโลกนี้ นอกจากจะช่วยสนับสนุนความร่วมมือในการปกป้องดาวเคราะห์ให้เราชาวโลกปลอดภัยมากขึ้นแล้ว ยังสามารถช่วยให้นักวิทยาศาสตร์ศึกษาทำความเข้าใจ วัตถุใกล้โลกมากขึ้นอีกด้วย ภารกิจนี้มีกำหนดการจะถูกปล่อยขึ้นโคจรภายในอีก 3 ปีข้างหน้า อาจฟังดูเหมือนอีกยาวไกล แต่เพื่อความปลอดภัยของโลกเรา จึงไม่เร็วไปที่จะเริ่มเตรียมการณ์แต่เนิ่นๆ
.
ที่มา : University of Arizona, JPL และ NASA
.
#จิสด้าก้าวสู่ปีที่22 #จิสด้า #GISTDA #อวกาศ #NEOSurveyor #อุกกาบาต #DART #วิถีพุ่งชนโลก #การเลี้ยวเบนทิศทางของอุกกาบาต #กล้องโทรทรรศน์อวกาศ #สำนักงานความร่วมมือปกป้องดาวเคราะห์

phakpoom.lao 2/2/2566 0
Share :