คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (United Nations Economic and Social Commission for Asia and the Pacific, ESCAP หรือ เอสแคป) และรัฐบาลสาธารณรัฐอินโดนีเซีย ได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมระดับรัฐมนตรีว่าด้วยการใช้ประโยชน์จากอวกาศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก สมัยที่ 4 (the Fourth Ministerial Conference on Space Applications for Sustainable Development in Asia and the Pacific-การประชุมฯ สมัยที่ 4) เมื่อวันที่ 26 ตุลาคม 2565 ณ กรุงจาการ์ตา สาธารณรัฐอินโดนีเซีย
การประชุมฯ มีวัตถุประสงค์สำคัญคือการให้ประเทศสมาชิกเอสแคป (จำนวน 53 ประเทศ) และองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ได้มาหารือ/สร้าง/ขยาย ความร่วมมือด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศเพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน และเพื่อเป็นการติดตาม ประเมิน และทบทวนระยะที่ 1 (ค.ศ. 2018-2022) ของการอนุวัติแผนปฏิบัติการว่าด้วยการใช้ประโยชน์จากอวกาศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (Asia-Pacific Plan of Action on Space Applications for Sustainable Development 2018-2030 หรือ แผนปฏิบัติการฯ) ซึ่งเป็นแผนปฏิบัติการระดับภูมิภาคที่ได้รับการรับรองจากนานาชาติในการประชุมฯ สมัยที่ 3 เมื่อปี 2561 ณ กรุงเทพมหานคร
สำหรับผู้แทนประเทศไทย นำโดยรองศาสตราจารย์พาสิทธิ์ หล่อธีรพงศ์ รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และนายตติยะ ชื่นตระกูล รองผู้อำนวยการ GISTDA ได้เข้าร่วมการประชุมฯ สมัยที่ 4 และร่วมรับรองปฏิญญาจาการ์ตาระดับรัฐมนตรีว่าด้วยความร่วมมือระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ในการประยุกต์ใช้ประโยชน์จากอวกาศเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ปฏิญญาจาการ์ตาฯ) ซึ่งเป็นผลลัพธ์สำคัญของการประชุมฯ สมัยที่ 4 โดยปฏิญญาจาการ์ตาฯ มีสาระสำคัญคือการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันของประเทศสมาชิกเอสแคปในการต่อยอดขยายความร่วมมือด้านอวกาศเพื่อเร่งการอนุวัติแผนปฏิบัติการฯ ในระยะที่ 2 (ค.ศ. 2022-2026) ให้เป็นผลสำเร็จรูปธรรมต่อไป
นอกจากนี้ ผู้แทนประเทศไทยยังได้กล่าวถ้อยแถลง (statement) ในวาระต่างๆ ของการประชุมฯ สมัยที่ 4 เพื่อสนับสนุนปฏิญญาจาการ์ตาฯ รวมถึงข้อริเริ่มต่างๆ ที่จะช่วยผลักดันการเร่งการอนุวัติแผนปฏิบัติการฯ ในระยะที่ 2 (ค.ศ. 2022-2026) เช่น โครงการปฏิบัติการรวมกลุ่มดาวเทียมสำรวจโลกเสมือนจริงสำหรับใช้ในการเตรียมความพร้อมรับมือก่อนการเกิดภัยพิบัติ/การเพิ่มการเข้าไปมีส่วนร่วมในภาคส่วนอวกาศของเยาวชน/การขยายความร่วมมือและยกระดับการประยุกต์ใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมดิจิทัลร่วมกับเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ/นวัตกรรมแพลตฟอร์ม “Sphere” สำหรับส่งเสริมการใช้งานและพัฒนาการประยุกต์ใช้ข้อมูลภูมิสารสนเทศแบบเปิดที่ GISTDA กำลังพัฒนา เป็นต้น
อนึ่ง การเข้าร่วมการประชุมฯ สมัยที่ 4 นี้ ถือเป็นโอกาสอันดีของประเทศไทยในการขยายต่อยอดบทบาทที่แข็งขันของการเป็นผู้นำในการร่างและผลักดันแผนปฏิบัติการฯ ในระดับภูมิภาค รวมถึงเป็นการยกระดับบทบาทและสถานะของไทยในเรื่องการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศรวมถึงนวัตกรรมอื่นๆ ในการช่วยเร่งบรรลุเป้าหมายวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ. 2030 ให้เป็นที่ยอมรับในเวทีระดับภูมิภาค/นานาชาติ อีกด้วย
This website uses cookies. Our website creates and utilizes cookie data in order for your visit to be smooth, efficient, and private. Please read our cookie policy and GISTDA's personal data protection policy for further detail.
This website uses cookies. Our website creates and utilizes cookie data in order for your visit to be smooth, efficient, and private. Please read our cookie policy and GISTDA's personal data protection policy for further detail.