ในบทความที่แล้ว เราได้พูดถึงการทดสอบและเตรียม THEOS-2A พร้อมรับมือกับสภาวะสุญญากาศและอุณหภูมิของนอกโลก ในบทความนี้เราจะพูดถึงการเตรียมการดาวเทียมให้พร้อมรับมือกับความขัดข้องที่อาจเกิดจากตัวมันเอง อย่างการปล่อยคลื่นสัญญาณระหว่างทำงาน หรือกรณีอุปกรณ์ภายในเสียหายนั่นเองครับ
ก่อนจะพูดถึงความขัดข้อง ต้องดูรายละเอียดแยกย่อยว่าเป็นความขัดข้องที่เกิดจากภายนอกหรือภายใน นอกจากสภาพแวดล้อมในอวกาศแล้ว สิ่งที่ต้องระวังอีกอย่างสำหรับการทำงานของดาวเทียมคือคลื่นแม่เหล็กที่ดาวเทียมจะปล่อยออกมาในแต่ละโหมดการทำงานซึ่งอาจรบกวนอุปกรณ์อื่น ๆ ในตัวมันเอง ดังนั้นเพื่อไม่ให้คลื่นจากดาวเทียมขัดขวางการทำงานของตัวมันเอง จึงต้องมีการทดสอบเรื่องนี้เช่นกัน นอกจากเรื่องเทคนิคแล้วเรายังต้องดูแลส่วนประกอบต่าง ๆ ของดาวเทียมให้อยู่ในสภาพที่พร้อมที่สุดเพื่อป้องกันการชำรุดเสียหายเมื่อขึ้นไปยังชั้นอวกาศอีกด้วย
สำหรับเรื่องคลื่นแม่เหล็ก การทดสอบนี้เรียกว่า EMC Testing หรือ Electromagnetic Compatibility Testing เป็นการทดสอบที่เกี่ยวข้องกับคลื่นสัญญาณต่าง ๆ ที่ดาวเทียมจะเปล่งออกมาเพื่อดูว่า สัญญาณนั้น ๆ จะรบกวนการทำงานของจรวดที่จะพาดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรหรือไม่ การเปล่งสัญญาณของดาวเทียมจะต่างกันไปตามแต่ละโหมดทำงานจึงต้องมีการตรวจสอบด้วยว่าสัญญาณเหล่านั้นจะไม่รบกวนการทำงานของยูนิตอื่น ๆ ในตัวดาวเทียม เช่น เมื่อ Payload 1 ทำงานก็ไม่ควรมีสัญญาณที่รบกวน Payload 2 และ 3 การทดสอบครั้งนี้ได้ทดสอบ Payload 3 ซึ่งเป็นโมดูลที่ทีมวิศวกรดาวเทียมของประเทศไทยพัฒนาขึ้นเองทั้งหมดด้วย
EMC Testing ทำได้โดยใช้อุปกรณ์ตรวจจับคลื่นความถี่วิทยุ (RF) ภายใต้การดูแลของผู้เชี่ยวชาญของ GISTDA นอกจากจะทดสอบกับ Payload แล้วยังทดสอบการรับและตรวจจับสัญญาณจากเครื่องบินกับเรืออีกด้วย ว่าสามารถทำได้โดยไม่ถูกคลื่นจากโหมดต่าง ๆ ของดาวเทียมที่กำลังทำงานอยู่รบกวน
นอกจากการทดสอบ EMC Testing ในดาวเทียมแล้ว ยังมีสิ่งสำคัญอีกอย่างที่ต้องดูแลคือแบตเตอรี่ของดาวเทียม โดยแบตเตอรี่จะมี 2 ประเภทคือEngineering Model (EM) Battery กับ Protoflight Model (PFM) Battery
EM Battery เป็นแบตเตอรี่ที่ใช้ทดสอบดาวเทียมตั้งแต่อยู่ที่ประเทศอังกฤษ เมื่อมาถึงต้องตรวจสอบสภาพและชาร์จไฟก่อนประกอบเข้าไปในตัวดาวเทียม ส่วน PFM Battery จะเป็นตัวที่ใช้งานจริงเท่านั้น จะไม่นำออกมาใช้งานก่อนเด็ดขาด ทางประเทศอังกฤษจะทดสอบเบื้องต้นว่าสามารถใช้งานได้ก่อนดำเนินการส่ง ส่วนฝั่งไทยมีหน้าที่ดูแลการชาร์จไฟและดูแลให้แบตเตอรี่อยู่ในสถานะพร้อมทำงานจนกว่าจะถึงวันปล่อยตัว
เห็นไหมครับว่า ในการส่งดาวเทียมดวงหนึ่งขึ้นไปนั้นมีปัจจัยมากมายให้ระมัดระวัง ไม่ว่าจะเป็นปัญหาที่เกิดจากสภาพแวดล้อมการทำงาน หรือความขัดข้องที่เกิดขึ้นจากดาวเทียม แต่เมื่อเราตรวจสอบและปรับปรุงให้ดาวเทียมอยู่ในสภาพที่พร้อมที่สุดแล้วก็ไม่ใช่เรื่องน่ากังวลครับ ในบทความถัดไป เราจะมาติดตามกันต่อนะครับว่า เมื่อทดสอบสภาพดาวเทียมเรียบร้อยแล้ว จะมีขั้นตอนอะไรรอ THEOS-2A อยู่
__________
ขอบคุณข้อมูลจาก นายณัฐนันท์ สัจเดว์ วิศวกร THEOS-2A
เว็บไซต์นี้ใช้งานคุกกี้ ในการใช้งานสามารถใช้งานเว็บไซต์อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ เว็บไซต์นี้จะมีเก็บค่าคุกกี้ เพื่อให้การใช้งานเว็บไซต์ของท่านเป็นไปอย่างราบรื่นและเป็นส่วนตัวมากขึ้น จึงขอให้ท่านรับรองว่าท่านได้อ่านและทำความเข้าใจนโยบายการใช้งานคุกกี้ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล GISTDA
เว็บไซต์นี้ใช้งานคุกกี้ ในการใช้งานสามารถใช้งานเว็บไซต์อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ เว็บไซต์นี้จะมีเก็บค่าคุกกี้ เพื่อให้การใช้งานเว็บไซต์ของท่านเป็นไปอย่างราบรื่นและเป็นส่วนตัวมากขึ้น จึงขอให้ท่านรับรองว่าท่านได้อ่านและทำความเข้าใจนโยบายการใช้งานคุกกี้ นโยบายการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล GISTDA