Head GISDTDA

เบญจกิติ ปอดแห่งใหม่กลางกรุง..!!

จริงหรือไม่ ? ประเทศใดมี Green Space หรือ พื้นที่สีเขียวมาก ประชากรในประเทศนั้นมีคุณภาพชีวิตที่ดีทั้งสุขภาพกายและสุขภาพใจ
สำหรับการเพิ่มพื้นที่สีเขียวนั้นถึงแม้จะไม่ได้ก่อให้เกิดการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยตรงแต่ถือว่าเป็นการเพิ่มคุณภาพชีวิต ในด้านร่างกาย จิตใจ ซึ่งในการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้น ก็ควรที่จะพัฒนาด้านสิ่งปลูกสร้างและเติมเต็มด้านจิตใจไปด้วยกัน ที่สำคัญ องค์การอนามัยโลก (WHO) มีข้อกำหนดให้เมืองใหญ่ๆที่อยู่ทั่วทุกมุมโลกให้ความสำคัญกับการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในสัดส่วนที่เหมาะสมกับชีวิตคนเมือง โดยกำหนดว่าเมืองที่มีสิ่งแวดล้อมที่ดีควรมีพื้นที่สีเขียวอยู่ที่ 9 ตารางเมตรต่อคน และที่สำคัญเมืองที่มีสิ่งแวดล้อมดี การทำงาน อารมณ์ก็จะดีไปด้วย
.
ในระดับโลก เมืองที่มีพื้นที่สีเขียวมากที่สุด

ถ้าพูดถึงเมืองที่มีพื้นที่สีเขียวมากที่สุด ต้องยกให้เมือง “แทมปา” เมืองที่ตั้งอยู่บนชายฝั่งตะวันตกของรัฐฟลอริดา ฮิลห์โบโรห์ ของสหรัฐอเมริกา มีพื้นที่สีเขียวมากถึง 36.1 % ต่อความหนาแน่นของประการ 1,283 ตารางกิโลเมตร โดยเมืองนี้มีภารกิจที่ต้องการยกระดับคุณภาพชีวิตของคนเมืองให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นโดยเริ่มต้นจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของเมือง การเพิ่มพื้นที่สีเขียว การกำจัดของเสีย ขยะ การใส่ใจดูแลสิ่งแวดล้อม ถนนหนทางสาธารณะและส่งเสริมให้พลเมืองมองเป้าหมายร่วมกันคือ “Green Tampa”
.
มองกลับมา กรุงเทพฯ กับพื้นที่สีเขียวในปัจจุบัน

ป่าปูนแห่งนี้ ยังคงมีพื้นที่สีเขียวให้ได้เห็นอยู่บ้างตามโคงสร้างพื้นฐานของเมือง อาทิ สวนหลวง ร.9 มีพื้นที่ประมาณ 500 ไร่ สวนวชิรเบญจทัศ ประมาณ 375 ไร่ สวนลุมพินี ประมาณ 360 ไร่ สวนเสรีไทย ประมาณ 350 ไร่ สวนจตุจักร ประมาณ 155 ไร่ สวนธนบุรีรมย์ ประมาณ 63 ไร่ สวนกีฬารามอินทรา ประมาณ 59 ไร่ สวน 60 พรรษา สมเด็จพระบรมราชินีนาถ ประมาณ 52 ไร่ ฯลฯ ซึ่งปัจจุบันชาวเมืองมักจะใช้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ ออกกำลังกาย และทำกิจกรรมต่างๆในช่วงวันหยุดหรือช่วงเวลาว่าง ไม่ได้มีเพียงแค่ที่เอ่ยชื่อมาเท่านั้น ยังมีสวนสาธารณะอีกหลายแห่งที่ชาวกรุงไว้ฟอกปอดกัน หนึ่งในนั้นคือ “สวนป่าเบญจกิติ”
.
ดาวเทียมไทยโชตเปิดภาพสวนเบญจกิติ ปอดกลางกรุง

สวนป่าเบญจกิติ ปอดกลางกรุงโซนใหม่ ที่มีเนื้อที่กว่า 450 ไร่ ประกอบไปด้วย สวนป่า (300 ไร่ ) และส่วนที่เป็นน้ำ (130 ไร่) โดยแบ่งการพัฒนาพื้นที่เป็น 3 ระยะ ซึ่งระยะที่ 1กรมธนารักษ์ได้จัดสร้างสวนป่า เนื้อที่ประมาณ 61 ไร่ และได้ส่งมอบพื้นที่ดังกล่าวให้กรุงเทพมหานครเป็นผู้ดูแลบำรุงรักษาและบริหารจัดการ ในปี 2563 หลังจากนั้นขอความร่วมมือจากกองทัพบกก่อสร้างสวนป่า "เบญจกิติ" ระยะที่ 2-3 เนื้อที่ประมาณ 259 ไร่ ให้มีพื้นที่ป่าและพื้นที่น้ำร้อยละ 85 เพิ่มต้นไม้ในพื้นที่โครงการ 8,725 ต้น และพรรณไม้หายากกว่า 350 ชนิด ภายในสวนป่ามีต้นไม้หลากสี สลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันแต่ละฤดู สวนแห่งนี้มีที่ตั้งอยู่ระหว่างถนนรัชดาภิเษกและถนนดำรงค์พิทักษ์ ในปัจจุบันสวนป่าเบญจกิติเฟสใหม่นี้ยังไม่ได้เปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ ดังนั้นการเข้า-ออกสวนจะต้องผ่านทางถนนรัชดาภิเษกเป็นหลัก และภายในพื้นที่สวนป่าจะแบ่งลักษณะสวนออกเป็น 3 ส่วนหลักๆด้วยกันคือ

ส่วนที่เป็นผืนป่า
คือส่วนที่เป็นต้นไม้ โดยจะคำนึงถึงระบบนิเวศเป็นหลัก โดยแต่ละโซนจะปลูกพรรณไม้ที่แตกต่างกัน เช่น พันธุ์ไม้ป่าชายเลน , พันธุ์ไม้บึงน้ำจืด , พันธุ์ไม้ป่าลุ่มน้ำ ป่าดิบแล้ง และพันธุ์ไม้วนเกษตรสวนบ้าน

 สิ่งปลูกสร้าง
ภายในบริเวณสวนป่า มีสิ่งปลูกสร้างกระจายอยู่หลายจุด อาทิ อาคารพิพิธภัณฑ์เฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง , อาคารศูนย์กีฬาฯ , อัฒจันทร์กลางแจ้งไว้สำหรับจัดโชว์ดนตรีกลางแจ้งและโชว์ต่างๆ

เส้นทางสัญจร
ที่นี่ให้ความสำคัญกับในส่วนของเส้นทางสัญจรภายในสวนป่าอย่างแท้จริง ใส่ใจทุกรายละเอียด เพราะมีทั้งเส้นทางเดิน ทางวิ่ง ทางปั่นจักรยาน ทางเดินกลางสวน ทางเดิน Sky walk ที่ออกแบบมาอย่างดี เหมาะแก่การออกกำลังกาย และเดินชมสวนพักผ่อนหย่อนใจ
.
แล้วพื้นที่สีเขียวเหล่านี้ เพียงพอกับ ประชากรที่อาศัยอยู่ในเมืองหลวงแห่งนี้หรือไม่ ???

ข้อมูลจากสำนักงานสวนสาธารณะ กรุงเทพมาหนคร (กทม.) ระบุว่า กรุงเทพมีสวนสาธารณะ 7 ประเภท (สวนหย่อมขนาดเล็ก, สวนหมู่บ้าน, สวนชุมชน, สวนระดับย่าน, สวนระดับเมือง, สวนถนน, สวนเฉพาะทาง) รวมแล้วที่ 6.43 ตร.ม./คน (ข้อมูล ณ วันที่ 6 ตุลาคม 2560) เทียบจากเกณฑ์ของ WHO แล้ว พื้นที่สีเขียวทั้งในกรุงเทพฯ ยังถือว่าต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน และยิ่งต่ำกว่าพื้นที่สีเขียวในประเทศพัฒนาแล้วอื่นๆ เช่น บราซิล (52 ตารางเมตร/คน) สหรัฐฯ (23.1 ตารางเมตร/คน) แคนาดา (12.6 ตารางเมตร/คน)
ข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติ (UN) ระบุว่า 54% ของประชากรทั่วโลกอาศัยในเมืองใหญ่ในปี 2557โดยจะมีประชากรเคลื่อนย้ายเข้ามาอยู่ในเมืองเพิ่มขึ้นเป็น 66% ในปี 2593 หรือคิดเป็น 2 ใน 3 ของประชากรทั่วโลก โดยทวีปเอเชียและแอฟริกาจะมีการไหลเข้าของประชากรสู่เมืองในอัตราสูง สถานการณ์ในไทยเป็นไปในทิศทางเดียวกับสถานการณ์โลก โดยประชากรหลั่งไหลเข้าสู่เมืองเป็นจำนวนมากในช่วง 5 ทศวรรษที่ผ่านมา ข้อมูลจากนโยบายและแผนการส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. 2560 – 2579 กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ระบุว่า ประเทศไทยมีประชากรเมืองจำนวน 22.42 ล้านคน หรือ 31.44% ของจำนวนประชากรทั้งประเทศที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เมืองและเทศบาล ในปี 2558 เป็นผลให้มีพื้นที่ชุมชนและสิ่งปลูกสร้างเพิ่มขึ้น และพื้นที่เกษตรกรรมลดลง จึงยังเป็นความท้าทายว่า เมืองจะมีพื้นที่สีเขียวเพียงพอในการรองรับจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้นในอนาคต และสร้างคุณภาพสิ่งแวดล้อมได้ดีเพียงใด
.
ที่มา
สำนักงานประชาสัมพันธ์กรุงเทพมหานคร
https://www.prbangkok.com/th/mission_bkk/detail/15/8189
https://thinkofliving.com/.../%E0%B8%A3%E0%B8%A7%E0%B8.../
https://www.mangozero.com/10-biggest-parks-in-bangkok/
สวนสาธารณะในกรุงเทพฯ โดยกรุงเทพมหานคร
http://office.bangkok.go.th/publicpark/
https://gfms.gistda.or.th/node/53
https://greennews.agency
https://urbancreature.co/greenspace-trees/

#จิสด้า #gistda #จิสด้าก้าวสู่ปีที่22 #เบญจกิติ #ปอดแห่งใหม่กลางกรุงเทพ #สวนป่าเบญจกิติ #พื้นที่สีเขียว 

phasaphong.tha 16/3/2565 0
Share :