GISTDA เป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการใช้ประโยชน์จากอวกาศเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก สมัยที่ 26 แห่งสหประชาชาติ
คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติสำหรับเอเชียและแปซิฟิก (United Nations Economic and Social Commission for Asia and the Pacific, ESCAP: เอสแคป) จัดการประชุมคณะกรรมการที่ปรึกษาระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการใช้ประโยชน์จากอวกาศเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืนในระดับภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก สมัยที่ 26 (The 26th Session of the Intergovernmental Consultative Committee on Regional Space Application Program for Sustainable Development, 26th ICC on RESAP) ระหว่างวันที่ 18-19 สิงหาคม 2565 ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย
การประชุม ICC on RESAP จัดเป็นประจำทุกปี มีวัตถุประสงค์สำคัญคือการให้ประเทศสมาชิกเอสแคป (จำนวน 53 ประเทศ) และองค์กรระหว่างประเทศที่เกี่ยวข้อง ได้หารือ/สร้าง ความร่วมมือด้านการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีอวกาศเพื่อการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน และรายงานความคืบหน้าล่าสุดในการอนุวัติแผนปฏิบัติการว่าด้วยการใช้ประโยชน์จากอวกาศเพื่อการพัฒนาแบบยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (Asia-Pacific Plan of Action on Space Applications for Sustainable Development 2018-2030: แผนปฏิบัติการฯ) ซึ่งได้รับการรับรองจากนานาชาติในการประชุมระดับรัฐมนตรีว่าด้วยการใช้ประโยชน์จากอวกาศเพื่อการพัฒนาแบบยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก สมัยที่ 3 (การประชุมระดับรัฐมนตรีฯ) เมื่อปี 2561 ณ กรุงเทพมหานคร
ทั้งนี้ การประชุมฯ สมัยที่ 26 มีความสำคัญและพิเศษเพิ่มยิ่งขึ้นนั่นคือเป็นการเตรียมความพร้อมของการจัดประชุมระดับรัฐมนตรีฯ สมัยที่ 4 ซึ่งมีกำหนดจัดในเดือนตุลาคม 2565 ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย และเป็นการจัดเตรียมเนื้อหา/ประเด็น ที่จะเป็นผลลัพธ์สำคัญของการประชุมระดับรัฐมนตรีฯ สมัยที่ 4 เช่น ปฏิญญาจาการ์ตาระดับรัฐมนตรีว่าด้วยอวกาศเพื่ออนาคตของโลก/โครงการปฏิบัติการรวมกลุ่มดาวเทียมสำรวจโลกเสมือนจริงสำหรับใช้ในการเตรียมความพร้อมรับมือก่อนการเกิดภัยพิบัติ/การเร่งการอนุวัติแผนปฏิบัติการฯ ในระยะที่ 2 (ค.ศ. 2022-2026)/การส่งเสริมเวทีผู้เชี่ยวชาญรุ่นเยาว์ด้านอวกาศ เป็นต้น
ผู้แทนประเทศไทยจาก GISTDA นำโดยนายตติยะ ชื่นตระกูล รองผู้อำนวยการ GISTDA, ดร.ฐนิตา เสือป่า ผอ.สพพ., นายพีรภัทร อัครคุปต์ และนางสาวดรุณี พรหมโชติ ได้เข้าร่วมการประชุมฯ รายงานผลการอนุวัติแผนปฏิบัติการฯ ในระยะที่ 1 (ค.ศ. 2018-2022) ของไทยในด้านต่างๆ ที่สามารถเห็นผลลัพธ์เป็นรูปธรรม ได้แก่ การประยุกต์ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศและการพัฒนาศักยภาพบุคลากรในด้าน (1) การบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ป่าไม้/น้ำ/ทะเลและชายฝั่ง) (2) การลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติ (ไฟป่า/น้ำท่วม/ภัยแล้ง) (3) พัฒนาการทางสังคม (แผนที่ความยากจน-รายได้ประชากร/มลพิษทางอากาศ/การบริหารจัดการสถานการณ์ COVID-19) (4) ความเชื่อมโยง (การบริหารจัดการอุบัติเหตุทางรถยนต์) (5) พลังงาน (แผนที่พลังงานทางเลือก-พลังงานแสงอาทิตย์) และ (6) การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก (แผนที่คาร์บอนเครดิต)
นอกจากนี้ ผู้แทนไทยยังได้นำเสนอแพลตฟอร์มสำหรับใช้/พัฒนา การประยุกต์ใช้ข้อมูลสารสนเทศแบบเปิด “Sphere” เพื่อเร่งผลักดันการอนุวัติแผนปฏิบัติการฯ ในระยะที่ 2 ให้ที่ประชุมฯ พิจารณา ซึ่ง Sphere ก็ได้รับความสนใจและการตอบรับเป็นอย่างดี รวมถึงแนวความคิดในการร่วมสนับสนุนการจัดตั้ง Satellite constellation จากกลุ่มดาวเทียมของสมาชิกเพื่อสนับสนุนการบริหารจัดการภัยพิบัติ โดยประเทศสมาชิก UN-ESCAP จะหารือความร่วมมือกันในเรื่องนี้ต่อไป
This website uses cookies. Our website creates and utilizes cookie data in order for your visit to be smooth, efficient, and private. Please read our cookie policy and GISTDA's personal data protection policy for further detail.
This website uses cookies. Our website creates and utilizes cookie data in order for your visit to be smooth, efficient, and private. Please read our cookie policy and GISTDA's personal data protection policy for further detail.