9 พฤษภาคม 2565 ณ ห้องประชุมชั้น 4 สป.อว. นายดอน ปรมัติวนัย รองนายกรัฐมนตรี มอบหมายให้ ศ.(พิเศษ) ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการภูมิสารสนเทศแห่งชาติ ครั้งที่ 1/2565 ซึ่งคณะกรรมการฯ หรือ กภช. มีหน้าที่กำหนดนโยบายในการบริหารจัดการระบบข้อมูลภูมิสารสนเทศกลางของประเทศ กำหนดมาตรฐานกลางด้านข้อมูลภูมิสารสนเทศ บูรณาการและจัดทำข้อมูลภูมิสารสนเทศกลางของประเทศ กำหนดแนวทางการปฏิบัติงานด้านข้อมูลภูมิสารสนเทศของหน่วยงานของรัฐ จัดให้มีหรือปรับปรุงกฎหมายหรือกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการบริหารจัดการระบบข้อมูลภูมิสารสนเทศ รวมถึงบูรณาการแผนงานหรือโครงการที่เกี่ยวกับการจัดทำข้อมูลภูมิสารสนเทศและการบริหารจัดกรระบบข้อมูลภูมิสารสนเทศและเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบ ทั้งนี้ ที่ประชุมวันนี้ได้รับทราบถึงผลการดำเนินงานด้านภูมิสารสนเทศของประเทศในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา เช่น คณะกรรมการได้รวบรวมชุดข้อมูลภูมิศาสตร์พื้นฐาน (FGDS) ครบทั้ง 77 จังหวัด เพื่อรองรับการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ของจังหวัด จัดทำมาตรฐานการสำรวจด้วยค่าพิกัดด้วยระบบดาวเทียม (Global Navigation Satellite System : GNSS) รวมถึงรับทราบความคืบหน้าการจัดทำกรอบแผนแม่บทภูมิสารสนเทศแห่งชาติ ปี 2566 – 2570 เป็นต้น
โดย กภช. ได้เห็นชอบ (ร่าง) หลักเกณฑ์การให้บริการข้อมูลค่าอ้างอิงพิกัดแบบต่อเนื่องผ่านศูนย์ข้อมูลค่าอ้างอิงพิกัดแบบต่อเนื่องแห่งชาติ (National CORS Data Center : NCDC) ซึ่งเป็นการบูรณาการข้อมูลจากสถานีอ้างอิงของหน่วยงานภาครัฐ 5 หน่วยงาน ได้แก่ กรมแผนที่ทหาร กรมที่ดิน กรมโยธาธิการและผังเมือง สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ GISTDA โดยข้อมูลค่าอ้างอิงพิกัดแบบต่อเนื่องนี้เป็นข้อมูลสำคัญในการที่จะทำให้ได้ข้อมูลค่าพิกัดที่มีความถูกต้องสูงมาก สำหรับไปใช้ประโยชน์ในด้านงานสำรวจ การทำแผนที่ งานด้านวิศวกรรมและก่อสร้าง การคมนาคมซึ่งรวมถึงเทคโนโลยียานยนต์ไร้คนขับ และการรองรับงานเกษตรอัจฉริยะ เป็นต้น โดยในระยะแรกจะมีการให้บริการทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนโดยไม่คิดมูลค่า เพื่อให้เกิดการขยายผลการใช้งานและให้เกิดการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้าน Location Based Service
นอกจากนี้ กภช. ยังเห็นชอบในหลักการโครงการสำคัญด้านภูมิสารสนเทศ จำนวน 3 โครงการ ได้แก่ (1) โครงการสำรวจอุทกศาสตร์เพื่อกำหนดเส้นฐานปกติของประเทศไทย (2) โครงการพัฒนาระบบข้อมูลเทคโนโลยีดิจิทัล ด้านศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม และ (3) โครงการการบำรุงรักษาระบบข้อมูลค่าอ้างอิงพิกัดแบบต่อเนื่องแห่งชาติ (National CORS Data Center : NCDC) และระบบ/สถานี CORS โดยทั้ง 3 โครงการนี้จะก่อให้เกิดประโยชน์กับประเทศ เช่น ให้ข้อมูลแสดงพิกัดมีความแม่นยำมากยิ่งขึ้น ขจัดปัญหาทับซ้อนของการกำหนดแนวเขต ส่งเสริมการใช้ประโยชน์ทางทะเล การแก้ไขปัญหาที่ดินบริเวณชายฝั่ง การวางแผนเพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจด้านการท่องเที่ยว ของกลุ่มชุมชนโบราณ เมืองโบราณ และแก้ไขปัญหาการทับซ้อนของพื้นที่ ลดความขัดแย้ง ระหว่างหน่วยงานรัฐ และประชาชน ลดงบประมาณในการสำรวจเชิงพื้นที่ รวมถึง การบูรณาการเพื่อลดความซ้ำซ้อนในการใช้งบประมาณของประเทศ
This website uses cookies. Our website creates and utilizes cookie data in order for your visit to be smooth, efficient, and private. Please read our cookie policy and GISTDA's personal data protection policy for further detail.
This website uses cookies. Our website creates and utilizes cookie data in order for your visit to be smooth, efficient, and private. Please read our cookie policy and GISTDA's personal data protection policy for further detail.