Head GISDTDA

ภูมิสารสนเทศกับการพัฒนาเมือง

#ผู้ว่ากทมกับการใช้เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ
#ภูมิสารสนเทศกับการพัฒนาเมือง
.
เกาะติดกระแสเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครกันสักหน่อย ช่วงนี้หลายคนอาจได้เห็นนโยบายการพัฒนาเมืองหลวงจากการหาเสียงที่น่าสนใจมากทีเดียว กับแนวคิดการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนากรุงเทพฯ ให้เป็นเมืองอัจฉริยะ หรือ “Smart City”
.
“กรุงเทพมหานคร” เป็นพื้นที่ปกครองพิเศษที่มีความสลับซับซ้อนของปัญหาในหลายมิติ มีพลวัตรการเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่สูง อีกทั้งความเป็นเมืองพหุวัฒนธรรมที่ขยายตัวอย่างรวดเร็ว ในขณะที่ความซับซ้อนของปัญหาเชิงพื้นที่ก็เพิ่มมากขึ้น ความท้าทายของการบริหารจัดการเมืองจึงมิใช่เพียงการต้องแก้ปัญหาเท่านั้น แต่เป็นการทำความเข้าใจในความหลากหลายของพื้นที่ ซึ่งนับเป็นจุดเริ่มต้นที่สำคัญ เพราะบริบทปัญหาของแต่ละเขตมีความแตกต่าง การบูรณาการข้อมูลเชิงพื้นที่จึงเป็นหัวใจสำคัญของการก้าวสู่การเป็น Smart City ซึ่ง “เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ” เป็นเครื่องมือที่สามารถช่วยให้เห็นภาพรวมและรูปแบบปัญหาของแต่ละเขตในกรุงเทพฯ ได้ดีทีเดียว
.
#เข้าใจพื้นที่เมืองด้วยภูมิสารสนเทศ
.
เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศมีบทบาทในด้านการพัฒนาพื้นที่มาอย่างยาวนาน ความหลากหลายซับซ้อนของพื้นที่ถูกรวบรวมเป็นข้อมูลและจัดวางให้อยู่ในรูปแบบของแผนที่ ตั้งแต่ขอบเขตการปกครอง ผังเมือง โครงข่ายสาธารณูปโภค เส้นทางการคมนาคม แหล่งชุมชน แหล่งท่องเที่ยว พื้นที่อุตสาหกรรม พื้นที่สาธารณะ การใช้ประโยชน์ที่ดิน ไปจนถึงเส้นทางระบายน้ำและระบบป้องกันน้ำท่วม ให้เราสามารถเห็นรูปแบบความสัมพันธ์ของแต่ละปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น เห็นความเชื่อมโยงของปัญหา เพื่อการวางแผนบริหารจัดการพื้นที่เมืองที่มีความซับซ้อนและแตกต่าง วิเคราะห์การจัดสรรทรัพยากร งบประมาณ และวางผังเมืองแบบองค์รวมได้อย่างเหมาะสม
.
#มองกรุงเทพฯ_ผ่านเลนส์ภูมิสารสนเทศ
.
ข้อมูลภูมิสารสนเทศจากการบูรณาการหลายแหล่งข้อมูลของกรุงเทพฯ ได้ชี้ให้เราเห็นว่า “กรุงเทพฯ” มีการขยายตัวของการตั้งถิ่นฐานจากพื้นที่เมืองไปสู่พื้นที่ชานเมืองอย่างต่อเนื่อง ตามอัตราความหนาแน่นของประชากรที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ความแตกต่างเชิงพื้นที่มีความหลากหลายขึ้น เราอาจพบว่าค่าครองชีพในบางเขตนั้นสูงกว่าในบางเขตมาก ชุมชนแออัดและแหล่งเสื่อมโทรมในบางเขตอาจหนาแน่นเป็นพิเศษ หรือการเข้าถึงสาธารณสุข บริการสาธารณะ และโครงสร้างพื้นฐานที่ไม่เท่ากันในแต่ละเขต โดยเฉพาะพื้นที่ชานเมือง แสดงให้เห็นถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่ได้อย่างชัดเจน
.
ข้อมูลภูมิสารสนเทศที่หลากหลายของกรุงเทพฯ ได้ถูกเก็บรวบรวมอย่างต่อเนื่องโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำมาใช้ในการวิเคราะห์เพื่อวางแผนการพัฒนาและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็น การวางระบบป้องกันน้ำท่วม การวางแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย การจัดการแหล่งเสื่อมโทรมและชุมชนแออัด การจัดการคลัสเตอร์การแพร่ระบาด การวางแผนกระจายโครงสร้างพื้นฐานและสาธารณูปโภค การจัดการแผนที่ภาษี การวางแผนด้านสาธารณสุขและสวัสดิการสังคม รวมถึงการวางแผนพัฒนาเศรษฐกิจที่ตรงกับศักยภาพของพื้นที่ การดำเนินการเหล่านี้ล้วนต้องใช้ข้อมูลภูมิสารสนเทศเป็นเลนส์ในการมองภาพรวมเชิงพื้นที่เพื่อการวางแผนการดำเนินงานที่เหมาะสม
.
#ภูมิสารสนเทศกับการพัฒนาเมือง
.
แนวคิดในการพัฒนากรุงเทพฯ สู่การเป็นเมืองอัจฉริยะไม่ใช่เรื่องใหม่ หลายหน่วยงานได้ศึกษาและมีการดำเนินการในพื้นที่นำร่อง โดยภูมิสารสนเทศถูกนำมาประยุกต์ใช้ร่วมกับโครงข่ายการสื่อสารความเร็วสูง เทคโนโลยี Internet of Things (IoT) ข้อมูลจาก Crowd Sourcing และฐานข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับข้อมูล สามารถวิเคราะห์เชิงพื้นที่ขั้นสูง มองเห็นรูปแบบข้อมูลและวิเคราะห์คาดการณ์อนาคตได้อย่างแม่นยำ อีกทั้งยังสามารถประมวลผลในรูปแบบ Real-time เพื่อการมีส่วนร่วมของประชาชน และการตัดสินใจแก้ปัญหาได้อย่างทันท่วงที
.
อาจกล่าวได้ว่าภูมิสารสนเทศเป็นหนึ่งเครื่องมือสำคัญของการพัฒนาเมืองในทุกระดับ ตั้งแต่การวางโครงสร้างพื้นฐานสำคัญอย่างรถไฟความเร็วสูง โครงข่ายสาธารณูปโภค การจัดการพื้นที่เศรษฐกิจและอุตสาหกรรม การกระจายบริการด้านสุขภาพ ไปจนถึงระดับเล็ก ๆ อย่างการจัดการขยะในพื้นที่ชุมชน เพราะหัวใจสำคัญคือการเชื่อมโยงข้อมูลที่หลากหลายเข้าด้วยกัน เพื่อศึกษารูปแบบความสัมพันธ์เชิงพื้นที่อย่างเข้าใจ
.
#นวัตกรรมภูมิสารสนเทศกับการวางแผนพัฒนาเมืองเพื่อลดความเหลื่อมล้ำเชิงพื้นที่
.
Actionable Intelligence Policy หรือ AIP Platform ที่ GISTDA กำลังมุ่งมั่นพัฒนา เป็นนวัตกรรมเชิงนโยบายในการบริหารจัดการเชิงพื้นที่ โดยหลอมรวมข้อมูลจากหลายแหล่ง มาประมวลผล วิเคราะห์ และคาดการณ์แนวโน้ม ร่วมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่ทั้ง Artificial Intelligence (AI) และ Machine Learning เพื่อค้นหาและสกัดข้อมูลเชิงลึกบนพื้นที่และประชากรเป้าหมาย สร้างการตัดสินใจเชิงนโยบายบนหลักฐานเชิงประจักษ์ (Evidence-Based Decision Making) เพื่อออกแบบแนวทางการพัฒนาที่เหมาะสม ตอบโจทย์การแก้ปัญหาเชิงพื้นที่ และนำไปสู่การปฏิบัติได้จริง
.
ปัจจุบัน AIP Platform ได้ดำเนินการในพื้นที่นำร่องเพื่อพัฒนาและแก้ไขปัญหาที่ต่างกันไป ประกอบไปด้วย การแก้ไขปัญหาความยากจน เหลื่อมล้ำ ขาดแคลนที่ดินทำกิน และปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมของจังหวัดน่าน และการวางแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เศรษฐกิจ รวมทั้งการจัดการผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมของพื้นที่ EEC โดยจะขยายการประยุกต์ใช้ประโยชน์ไปยังพื้นที่อื่นๆ ในอนาคต
.
นอกจากนั้น GISTDA กำลังพัฒนา Open Platform แหล่งรวมข้อมูลภูมิสารสนเทศขนาดใหญ่โดยเฉพาะภาพถ่ายจากดาวเทียมเพื่อเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสนับสนุนการวิเคราะห์เชิงพื้นที่ได้ทันทีโดยผู้ใช้งานไม่ต้องดาวน์โหลดภาพถ่ายจากดาวเทียม เพราะบริบทของแต่ละพื้นที่แตกต่างกัน โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความหลากหลายซับซ้อนอย่างกรุงเทพมหานคร การเข้าใจพื้นที่อย่างถ่องแท้ ประกอบกับเครื่องมือสนับสนุนที่เหมาะสม จะทำให้การตัดสินใจเชิงนโยบายในการพัฒนาเมืองเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและตรงตามศักยภาพของพื้นที่มากขึ้น ดังคำกล่าวที่ว่า ‫“‬ข้อมูลถูก...ยุทธศาสตร์ถูก”

phasaphong.tha 5/5/2565 2891 0
Share :