#ภูมิสารสนเทศกับการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม
.
สิ่งแวดล้อมเป็นระบบที่มีความสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิดระหว่างมนุษย์และธรรมชาติหรือธรรมชาติด้วยกันเองซึ่งมีความซับซ้อนอย่างมาก เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงต่อสิ่งหนึ่งสิ่งใดย่อมต้องส่งผลกระต่อสิ่งที่เกี่ยวข้องอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่นเดียวกันกับทุกกิจกรรมการพัฒนาพื้นก็จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมข้างเคียงเสมอ และการพัฒนาที่มองข้ามผลกระทบที่เกิดขึ้นมักจะส่งผลต่อการเสื่อมโทรมของสิ่งแวดล้อมและก่อให้เกิดผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชน เศรษฐกิจ สังคม ตามมา แต่ภูมิสารสนเทศจะช่วยเปิดเผยภาพของผลกระทบให้ชัดเจนขึ้น เพื่อนำไปสู่การตัดสินใจบนพื้นฐานความเป็นจริงที่ปรากฏบนข้อมูล
.
#เกี่ยวกับการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
.
จุดมุ่งหมายของการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Impact Assessment ย่อว่า EIA) คือ การอนุรักษ์และการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อม ด้วยการประเมินผลกระทบจากโครงการพัฒนาที่จะมีผลต่อสุขภาพหรือความสมบูรณ์ของสิ่งแวดล้อมทั้งทางบวกและทางลบ รวมทั้งความเสี่ยงที่จะมีผลต่อสภาพความสมบูรณ์ของระบบนิเวศและการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นต่อธรรมชาติ ซึ่งบางครั้งอาจนำไปสู่ภัยพิบัติต่อสิ่งแวดล้อมที่ร้ายแรง
.
การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมอาจนิยามได้ว่าเป็น “กระบวนการเพื่อการบ่งชี้ ทำนาย ประเมิน และบรรเทาผลกระทบทางชีวกายภาพ สังคม และผลกระทบที่เกี่ยวข้องอื่น ๆ ที่มีต่อข้อเสนอการพัฒนาใด ๆ ก่อนที่จะมีการตัดสินใจให้ลงมือดำเนินได้” วัตถุประสงค์ของการประเมินก็เพื่อให้เป็นการประกันได้ว่า ผู้ที่มีอำนาจในการตัดสินใจได้พิจารณาอย่างรอบคอบถึงผลกระทบของโครงการพัฒนาที่จะมีต่อสิ่งแวดล้อม ก่อนทำการอนุมัติให้ดำเนินโครงการที่มีผู้ขออนุญาตดำเนินการ
.
ข้อดีของ EIA คือ ช่วยหาทางป้องกันผลกระทบในทางลบด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นในโครงการนั้นให้เกิดน้อยที่สุด ในขณะเดียวกันก็มีการใช้ทรัพยากรธรรมชาติซึ่งส่วนใหญ่ไม่สามารถฟื้นคืนกลับมาได้อย่างมีประโยชน์และคุ้มค่าที่สุด นอกจากนี้ รายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ยังสามารถใช้เป็นแนวทางในการตัดสินใจของนักบริหารหรือผู้ประกอบการว่าสมควรดำเนินโครงการนั้นต่อหรือไม่ การทำ EIA จะเป็นประโยชน์อย่างมาก หากได้รับการวางแผนป้องกันปัญหาต่างๆ ตั้งแต่ขั้นตอนศึกษาความเหมาะสมของโครงการและช่วยลดค่าใช้จ่ายในการแก้ไขปัญหาที่อาจเกิดขึ้นภายหลังดำเนินโครงการไปแล้ว โดยในรายงาน EIA จะมีการกำหนดมาตรการป้องกัน และติดตามผลกระทบสิ่งแวดล้อม ประกอบเป็นหัวข้อหลักที่สำคัญของรายงานอีกด้วย
.
#ภูมิสารสนเทศสนับสนุนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม
.
ภูมิสารสนเทศ (Geo-informatics) เป็นเครื่องมือเพื่อสนับสนุนการบริการจัดการและวิเคราะห์ข้อมูลเชิงพื้นที่ โดยอาศัยฐานข้อมูลที่มีการอ้างอิงตำแหน่งของข้อมูลด้วยระบบ GIS ซึ่งผ่านการนำเข้าโดยการอ้างอิงตำแหน่งจากภาพถ่ายดาวเทียมหรือภาพถ่ายจากโดรน เพื่อทั้งความถูกต้องเชิงตำแหน่งและการอัพเดทข้อมูลให้ทันสมัยก่อนนำไปวิเคราะห์ กลายเป็นฐานข้อมูลเชิงพื้นที่ที่สนับสนุนการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ เช่น ที่ตั้งอาคารบ้านเรือน ที่ตั้งและขอบเขตป่าชุมชนหรือแหล่งน้ำธรรมชาติ เป็นต้น
.
ข้อมูลภูมิสารสนเทศทำให้เห็นภาพพื้นที่ที่จะได้รับผลกระทบจากโครงการพัฒนาได้อย่างชัดเจน สามารถวิเคราะห์หาจำนวนที่จะได้รับผลกระทบออกมาเป็นตัวเลขสถิติได้ทันทีหากข้อมูลฐานข้อมูลมีความพร้อม เช่น ปริมาณพื้นที่เกษตรกรรม จำนวนบ้านเรือน จำนวนถนน จำนวนแหล่งน้ำ เป็นต้น ที่จะได้รับผลกระทบหรืออยู่ในพื้นที่โครงการ
.
ปัจจุบันเทคโนโลยีแผนที่ออนไลน์ก็นับว่ามีส่วนสำคัญที่จะช่วยเพิ่มการรับรู้เกี่ยวกับผลกระทบต่อชุมชนที่อยู่ใกล้เคียง โดยการเผยแพร่ข้อมูลโครงการและข้อมูลที่ใช้ประเมินผ่านเว็บไซต์หรือแผนที่ออนไลน์แสดงให้เห็นถึงขอบเขต แนวพื้นที่กันชน สาธารณูปโภคหรืออาคารบ้านเรือน ที่จะได้รับผลกระทบให้ชัดเจน เพื่อจำลองภาพสถานการณ์ สร้างความเข้าใจร่วมกันระหว่างโครงการและชุมชน
.
แม้กระทั่งเทคโนโลยีระบุตำแหน่งจากโทรศัพท์ก็เป็นส่วนหนึ่งของภูมิสารสนเทศ ที่จะสามารถช่วยเชื่อมโยงข้อมูลเชิงพื้นที่ของโครงการกับประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบผ่านระบบแผนที่ออนไลน์ ซึ่งสามารถประยุกต์เป็นช่องทางในการสื่อสารระหว่างโครงการและภาคส่วนประชาชนในพื้นที่เพื่อการแสดงความคิดเห็นผ่านสมาร์ทโฟนหรือช่วยอัพเดทฐานข้อมูลเชิงพื้นที่ของโครงการให้มีความทันสมัยมากขึ้น
.
ซึ่งท้ายที่สุดข้อมูลทั้งหมดก็จะไปปรากฏบนแผนที่ออนไลน์พร้อมกับตำแหน่ง เช่น ตำแหน่งของความคิดเห็นประชาชนและภาพถ่ายที่ในสถานที่จริงแสดงให้เห็นถึงความเปราะบางในพื้นที่ ทำให้ผู้รับผิดชอบโครงการมีความเข้าใจบริบทของพื้นที่มากขึ้น ในทางตรงกันข้ามประชาชนก็เข้าใจพื้นที่การทำงานของโครงการพัฒนาได้อย่างชัดเจน ทั้งหมดหลอมรวมกลายเป็นภาพเดียวกันระหว่างผู้รับผิดชอบโครงการและประชาชนในพื้นที่นำมาสู่ความเข้าใจที่ตรงกัน
.
#ข้อจำกัดของภูมิสารสนเทศในการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม
.
ข้อมูลที่มีคุณภาพไม่เพียงพอ เช่น มาตราส่วนของข้อมูลที่ไม่สอดคล้องกัน ข้อมูลที่ไม่อัพเดท มาตราฐานการเก็บข้อมูลที่แตกต่างกัน เป็นต้น อาจส่งผลให้ผลการประเมินคลาดเคลื่อนได้ เนื่องจากข้อมูลภูมิสารสนเทศที่จำเป็นต่อการประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมมักมาจากหลากหลายแหล่งท้องถิ่นที่ได้คาดว่าจะได้รับผลกระทบ ซึ่งแต่ละหน่วยงานท้องถิ่นที่ก็จะมีวิธีเก็บข้อมูลที่แตกต่างกัน เช่น ข้อมูลจำนวนหลังคาเรือนที่มีการเก็บในรูปแบบ GIS แต่นำเข้าข้อมูลในมาตราส่วนที่แตกต่างกัน บางพื้นที่ใช้ภาพถ่ายดาวเทียมรายละเอียดสูงในการอ้างอิงตำแหน่ง บางพื้นที่ภาพถ่ายดาวเทียมไม่อัพเดทจึงจำเป็นต้องคาดเดาตำแหน่งหรืออาจจะเป็นแผนที่วาดมือ เป็นต้น ทำให้เกิดความไม่สอดคล้องกันเมื่อนำมาวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลจากพื้นที่อื่นๆ
.
ความทันสมัยของข้อมูลก็เป็นเรื่องที่สำคัญ เพราะการเปลี่ยนแปลงในแต่ละท้อนถิ่นมักจะเกิดขึ้นแทบทุกวัน เช่น จำนวนถนนและอาคารบ้านเรือนที่เพิ่มขึ้น พื้นที่เกษตรที่เปลี่ยนไปเป็นพื้นที่ประเภทอื่นๆ เป็นต้น อาจจะทำให้ผลการวิเคราะห์ไม่ครอบคลุมกับสถาพความเป็นจริงในปัจจุบัน เช่น หากใช้ข้อมูลที่ตั้งบ้านเรือนอัพเดทเมื่อปี 2563 เพื่อศึกษาผลกระทบจากการสร้างถนนสายใหม่ในปี 2565 ดังนั้นบ้านที่สร้างในพื้นที่ดังกล่าวหลังจากปี 2563 อาจตกหล่นไม่ปรากฏในรายงานก็เป็นได้ เป็นต้น
.
โดยรวมแล้วเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศสามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในกระบวนการจัดทำการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ไม่เพียงการสนับสนุนการวิเคราะห์เชิงพื้นที่และการจัดการข้อมูลเชิงพื้นที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับโครงการพัฒนาต่างๆ แต่ยังรวมไปถึงการพัฒนากระบวนการสื่อสารซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการมีส่วนร่วมของผู้ที่มีส่วนได้เสียและผู้ดำเนินการในกระบวนการการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม ช่วยลดการเหลื่อมล้ำด้วยการเพิ่มการมีส่วนร่วม และที่สำคัญยังส่งเสริมให้การตัดสินใจเกี่ยวกับผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นจากการพัฒนาในหลากหลายมิติต่อทั้งประชาชนและสภาพแวดล้อมนั้น ให้อยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงของข้อมูล
.
อ้างอิง
- การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม โดย สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เข้าถึงโดย onep.go.th
- ชนาวัชร อรุณรัตน. การใช้ประโยชน์เทคโนโลยีภูมิสารสนเทศกับการประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม. กรมทรัพยากรน้ำ เข้าถึงโดย dwr.go.th
.
#จิสด้าก้าวสู่ปีที่22 #จิสด้า #GISTDA #อวกาศ #การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม #ภูมิสารสนเทศ #สิ่งแวดล้อม #การอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม #การบริการจัดการสิ่งแวดล้อม #การตัดสินใจ
This website uses cookies. Our website creates and utilizes cookie data in order for your visit to be smooth, efficient, and private. Please read our cookie policy and GISTDA's personal data protection policy for further detail.
This website uses cookies. Our website creates and utilizes cookie data in order for your visit to be smooth, efficient, and private. Please read our cookie policy and GISTDA's personal data protection policy for further detail.