Head GISDTDA

GISTDA โกอินเตอร์ พร้อมดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการดาวเทียมสำรวจโลก (CEOS) ปลายปีหน้า

GISTDA โกอินเตอร์ พร้อมดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการดาวเทียมสำรวจโลก (CEOS) ปลายปีหน้า เน้นผลักดันการใช้เทคโนโลยีอวกาศแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกับองค์กรอวกาศทั่วโลก

 

ประเทศไทย โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน): สทอภ. หรือ GISTDA กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้รับเลือกจากการประชุมใหญ่นานาชาติ CEOS Plenary 2021 เมื่อช่วงปลายสัปดาห์ที่ผ่านมา ให้ดำรงตำแหน่งประธานคณะกรรมการดาวเทียมสำรวจโลก (Committee on Earth Observation Satellite: CEOS) โดยจะเริ่มปฏิบัติหน้าที่ในเดือนพฤศจิกายน 2565 และจะดำรงตำแหน่งเป็นระยะเวลาประมาณ 1 ปี

ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า CEOS เป็นความร่วมมือขององค์กรอวกาศจากประเทศต่างๆ ทั่วโลกที่มีภารกิจเกี่ยวกับดาวเทียมสำรวจโลก โดยในปัจจุบันมีดาวเทียมที่ปฏิบัติการรวมกันถึง 201 ดวง ซึ่ง CEOS จะทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย การแลกเปลี่ยนข้อมูล การร่วมกันพัฒนาเทคโนโลยี การกำหนดรูปแบบการบริการ ตลอดจนการประยุกต์ใช้ข้อมูลภายใต้มาตรฐานเดียวกัน เพื่อให้สามารถดำเนินการในด้านการพัฒนาเทคโนโลยีและการประยุกต์ใช้ข้อมูลในการแก้ไขปัญหาได้ร่วมกันทั่วโลกอย่างยั่งยืนในด้านต่างๆ การที่ประเทศไทยดำรงตำแหน่งประธานฯ จะเป็นโอกาสสร้างการรับรู้และตระหนักถึงศักยภาพด้านการสำรวจโลกของประเทศไทยในเวทีระดับโลก และผลักดันประเด็นการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศและภัยธรรมชาติที่หลายประเทศกำลังให้ความสำคัญ

CEOS ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 2527 โดย GISTDA ได้เข้าร่วมเป็นสมาชิกตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 CEOS มีการประชุมใหญ่สามัญประจำปี โดยมีผู้บริหารหน่วยงานสมาชิกเข้าร่วมประชุม เพื่อพิจารณาผลการดำเนินงานในรอบปีที่ผ่านมา รวมถึงวางแผนและกำหนดนโยบายในอนาคต ซึ่งที่ผ่านมา GISTDA เคยทำหน้าที่เป็นประธานคณะกรรมการฯ มาแล้ว 1 ครั้ง ในปี พ.ศ. 2552 ปัจจุบัน CEOS มีสมาชิกหลักจากประเทศต่างๆ ที่มีดาวเทียมสำรวจโลกเป็นของตัวเองทั้งสิ้น 34 องค์กร จาก 24 ประเทศ และสมาชิกสมทบซึ่งเป็นองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับภารกิจการใช้ดาวเทียมสำรวจโลกอีก 29 องค์กร สำหรับ GISTDA ในฐานะองค์กรหลักด้านอวกาศของประเทศไทยได้เข้าร่วมเป็นสมาชิก CEOS ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2544 รวมแล้วปีนี้ก็ครบ 20 ปีพอดี

ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวต่อว่า CEOS ถือเป็นเวทีระดับโลกที่องค์กรชั้นนำด้านอวกาศในประเทศต่างๆ ให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก ซึ่งแน่นอนว่าการเป็นประธานในครั้งนี้จะต้องทำงานร่วมกับผู้บริหาร วิศวกร และนักวิทยาศาสตร์จากทั่วโลก ซึ่งจะส่งผลให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักและได้รับการยอมรับในด้านเทคโนโลยีอวกาศมากยิ่งขึ้น อีกทั้งประเทศไทยได้ให้ความสำคัญในเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกมาโดยตลอด ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่ารัฐบาลมีนโยบายในการบริหารจัดการเรื่องนี้อย่างจริงจัง และตั้งเป้าหมายที่จะแก้ปัญหาสภาพภูมิอากาศให้สำเร็จภายในปี พ.ศ. 2593 ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางและภารกิจหลักของ CEOS และในโอกาสที่ GISTDA ได้รับเลือกให้เป็นประธานฯ ในครั้งนี้เราจะมุ่งผลักดันการนำเอาเทคโนโลยีอวกาศไปใช้ประกอบการแก้ไขปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศร่วมกับสมาชิกจากทั่วโลก รวมทั้งจะเร่งสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับปัญหาดังกล่าว เพื่อให้มวลมนุษยชาติตระหนักถึงความสำคัญในการดำรงอยู่ต่อไปในอนาคตได้อย่างปลอดภัย

 

อนึ่ง หน่วยงานที่เป็นประธาน CEOS ปีที่ผ่านมา คือ NASA จากสหรัฐอเมริกา และในปีปัจจุบัน คือ CNES จากสาธารณรัฐฝรั่งเศส สำหรับ GISTDA จากประเทศไทย นั้น จะดำรงตำแหน่งประธาน CEOS ในเดือนพฤศจิกายน 2565 ต่อไป ตามลำดับ

#GISTDA #CEOS #ก้าวสู่ปีที่22 #จิสด้า #คณะกรรมการดาวเทียมสำรวจโลก #CommitteeonEarthObservationSatellite #CEOSPlenary2021 #CEOSChair2023

CEOS

CEO

Admin 9/11/2021 1248 1
Share :

Related news