Head GISDTDA

ผสทอภ. ประชุมแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ปี 2560

วันพฤหัสบดีที่ 15 ธันวาคม 2559 พลเอก สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) ลงพื้นที่จังหวัดน่าน เป็นประธานการประชุมแก้ไขปัญหาไฟป่า หมอกควัน และการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ ปี 2560 และมอบนโยบายเพื่อให้การเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควันภาคเหนือ ปี 2560 เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ (คพ.) ได้กล่าวถึงการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ ในปี 2560 ว่าเป็นความสำเร็จของการบูรณาการแก้ไขปัญหา โดยมีกระทรวงมหาดไทยรับเป็นเจ้าภาพหลัก และการทำงานร่วมกับกระทรวงกลาโหม กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระสาธารณสุข รวมทั้งกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า

โดย ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการจิสด้า กล่าวว่าที่ผ่านมา จิสด้าได้สนับสนุนข้อมูลภูมิสารสนเทศ และภาพถ่ายจากดาวเทียมกว่า 10 ดวง ในการติดตามสถานการณ์ไฟป่าและหมอกควัน รวมถึงให้บริการผ่านระบบบริการสนับสนุน การติดตาม ป้องกัน ไฟป่า และการบุกรุกป่า ผ่าน http://gistdaportal.gistda.or.th ซึ่งระบบดังกล่าวจะช่วยเพิ่มช่องทางการวิเคราะห์และติดตามพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาไฟป่า และหมอกควันได้อย่างรวดเร็ว และลดพื้นที่เสียหายได้อย่างมีประสิทธิภาพ

อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการปัญหาหมอกควันไฟป่าปี 2560 นี้ จิสด้าจะให้การสนับสนุนข้อมูลอย่างเต็มที่ให้กับหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วน เพื่อร่วมกันวางแผน และติดตามสถานการณ์ไฟป่า หมอกควันได้อย่างทันท่วงที โดยส่งทีมนักวิชาการและฐานข้อมูลประจำศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาไฟป่าและหมอกควัน ระดับจังหวัด ในเขตภาคเหนือที่เป็นพื้นที่เกิดเหตุ ตลอดช่วงเดือนมกราคม – เมษายน เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ เข้าถึงข้อมูลภูมิสารสนเทศได้อย่างรวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ  รวมไปถึงการวิเคราะห์พื้นที่เสี่ยงการเกิดไฟป่าจากการใช้แบบจำลองที่พัฒนาขึ้นมาคาดการณ์ไฟป่าล่วงหน้า โดยดูจากความชื้นของดิน ลักษณะของใบไม้ที่เป็นเชื้อเพลิงสำคัญ และสถิติย้อนหลัง ทำให้เราสามารถคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงเกิดไฟป่าได้ล่วงหน้าถึง 7 วัน โดยทำแผนที่คาดการณ์พื้นที่เสี่ยงจะเกิดไฟป่าไว้ 3 ระดับ คือ เสี่ยงมาก เสี่ยงน้อย และไม่เสี่ยงเลย

นอกจากนี้ จิสด้ายังใช้ข้อมูลจากดาวเทียมในการวิเคราะห์พื้นที่เผาใหม่ (Burnt scar) เพื่อนำไปประเมินพื้นที่การเกษตรรอการเผา และพื้นที่ป่าที่ยังไม่ได้เผาไหม้ ในระดับตำบลอีกทางหนึ่ง ซึ่งที่ผ่านมาเราได้อาศัยข้อมูลพื้นที่เกษตรกรรม ทำให้เราทราบว่าบริเวณใดยังเหลือเชื้อเพลิงในผืนป่าและในแปลงเกษตรกรรมมากน้อยเพียงใด ซึ่งจะใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานที่สำคัญให้กับหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องได้นำไปใช้ตรวจสอบในพื้นที่จริงอีกครั้ง

Admin 16/12/2016 0
Share :