Head GISDTDA

GISTDA ชูธงนำ “ภูมิสารสนเทศ” แก้ปัญหาทุกภาคส่วน พร้อมเชื่อมไทยกับโลกเข้าด้วยกัน

     หากพูดถึงคำว่า “ภูมิสารสนเทศ” หลายคนอาจสงสัยว่าคืออะไร มีประโยชน์อย่างไร และผูกพันกับชีวิตประจำวันของผู้คนในยุคดิจิตอลมากน้อยเพียงใด วันนี้เรามาหาคำตอบเกี่ยวกับเรื่องนี้กัน
ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (สทอภ.) หรือ Geo-Informatics and Space Technology Development Agency : GISTDA อธิบายว่า ในอดีตเรื่องภูมิสารสนเทศอาจเป็นเรื่องไกลตัว แต่ในปัจจุบันภูมิสารสนเทศเป็นเรื่องที่อยู่ใกล้ตัวมนุษย์อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เช่น ภาพถ่ายจากดาวเทียมอาจเป็นของหายากและมีราคาแพงเมื่อสิบปีก่อน แต่ด้วยเทคโนโลยีในปัจจุบันทำให้ภาพถ่ายจากดาวเทียมสามารถสืบค้นหาจากอินเทอร์เน็ตได้อย่างง่ายดาย หรือแม้กระทั่ง “สมาร์ทโฟน” โทรศัพท์ที่มีคุณสมบัติถ่ายภาพได้ ใช้อินเทอร์เน็ตได้ ค้นหาสัญญาณนำทางจีพีเอสได้ เหล่านี้ล้วนเป็นประโยชน์ที่ได้รับจากภูมิสารสนเทศทั้งสิ้น 
ผู้อำนวยการ GISTDA  เปิดเผยว่า ภูมิสารสนเทศ ประกอบด้วย 3 องค์ประกอบที่ขาดส่วนใดส่วนหนึ่งไม่ได้ คือ 1.การสำรวจระยะไกล เช่น ดาวเทียม เครื่องบินถ่ายภาพ กล้องถ่ายภาพ 2.ระยะนำทาง หมายถึง การกำหนดพิกัดโดยใช้ดาวเทียม และ 3.ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ เพื่อใช้ในการวิเคราะห์และประมวลผล องค์ประกอบส่วนที่ 3 นี้ ถือเป็นภารกิจในความรับผิดชอบของ GISTDA โดยตรง ซึ่งนอกจาก “ดาวเทียมไทยโชต” (Thaichote) ที่เป็นของประเทศไทยแล้ว GISTDA ยังมีดาวเทียมของต่างชาติที่เป็นเครือข่ายอีกกว่า 20 ดวง ร่วมกันจัดทำคลังข้อมูลสำรวจทรัพยากรและภูมิสารสนเทศเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
ปัจจุบัน GISTDA ได้ประยุกต์ข้อมูลดาวเทียมมาใช้ประโยชน์ในหลายด้าน ทั้งการเกษตร ป่าไม้ ด้านภัยพิบัติ อุทกวิทยาและแหล่งน้ำ สมุทรศาสตร์และทรัพยากรชายฝั่ง ตลอดจนด้านความมั่นคงของชาติ
ดร.อานนท์ กล่าวว่า GISTDA ได้รับนโยบายของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาดำเนินการโดยใช้แผนที่ภายถ่ายทางอากาศที่มีความละเอียดสูงเข้ามาขับเคลื่อน ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรม หรือโซนนิ่งการเกษตร เช่น การเพิ่มผลผลิตน้ำตาลทราย ซึ่งต้องเพิ่มพื้นที่ปลูกอ้อย รัฐบาลตั้งเป้าในปีแรกนี้จะจัดหาพื้นที่ปลูกในรัศมีรอบโรงงานไม่เกิน 50 กิโลเมตร จำนวน 7 แสนไร่ และยังมีเรื่องข้าว ยางพารา ผลิตผลทางการเกษตรอีกหลายชนิด โดยมีหน่วยงานกว่า 10 แห่งที่ร่วมกันรับผิดชอบ
  โครงการแก้ปัญหาที่ดินทำกินและที่อยู่อาศัยบริเวณเทือกเขาบูโดให้กับพี่น้องใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กรณีการประกาศเขตป่าสงวนแห่งชาติและแนวเขตอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี ทับพื้นที่ทำกินใน 3 จังหวัด นราธิวาส-ยะลา-ปัตตานี รวม 9 อำเภอ 25 ตำบล 89 หมู่บ้าน ที่มีราษฎรได้รับผลกระทบกว่า 2 หมื่นคน ที่ผ่านมากระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) ได้ส่งเจ้าหน้าที่เดินสำรวจแนวเขตที่ดินมาแล้ว แต่ยังไม่มีข้อยุติ GISTDA ในฐานะหน่วยงานกลางจึงได้นำเทคโนโลยีการตรวจพิกัดด้วยภาพถ่ายทางอากาศและภาพถ่ายทางอากาศในอดีตมาช่วยแก้ปัญหาเพื่อให้ได้ข้อยุติโดยเร็ว 
การแก้ปัญหาการจราจรในเมืองใหญ่ก็มีการนำภูมิสารสนเทศเข้ามาใช้ เช่น กรุงเทพมหานคร (กทม.) ติดตั้งป้ายแผนที่แสดงการคับคั่งของถนนสายต่าง ๆ นอกจากนี้ยังมีบริการเส้นทางการจราจร การสำรวจและวิเคราะห์เส้นทางที่เป็นคอขวด หรือบริเวณที่มักเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง และด้วยการที่กรุงเทพฯ จัดเป็นพื้นที่หวงห้ามตามกฎหมาย ซึ่งมีทั้งพื้นที่ห้ามบินเด็ดขาดและพื้นที่อนุโลม ดังนั้น กทม. จึงใช้บริการภาพถ่ายจากดาวเทียมของ GISTDA มาช่วยแก้ปัญหาในด้านต่าง ๆ เช่น กลุ่มเมฆฝน เป็นต้น
ดร.อานนท์ ทิ้งท้ายด้วยว่า สิ่งสำคัญในปัจจุบันไม่ใช่แค่เรื่องการมีเทคโนโลยี แต่ขึ้นอยู่กับว่าเทคโนโลยีที่มีอยู่นั้นถูกต้องหรือไม่ และจะนำเทคโนโลยีมาพัฒนาและประยุกต์ใช้แก้ปัญหาให้ทันต่อสถานการณ์หรือไม่ GISTDA ในฐานะผู้ให้บริการในเรื่องภูมิสารสนเทศพร้อมนำเทคโนโลยีมาช่วยแก้ปัญหาให้กับประเทศในทุกภาคส่วน โดยพยายามคิดนอกกรอบเพื่อหาทางออกที่หลากหลาย ทันสถานการณ์ และสมดุล บนความถูกต้องของกฎหมาย
GISTDA  นำคุณค่าจากอวกาศ เพื่อพัฒนาชาติและสังคม (Delivering Values From Space)

 

Admin 10/6/2015 738 0
Share :