Head GISDTDA

การเลือกใช้เส้นโครงแผนที่ตามคุณสมบัติ

การเลือกใช้เส้นโครงแผนที่ตามคุณสมบัติ

การเลือกใช้เส้นโครงแผนที่จำเป็นต้องพิจารณาถึงคุณสมบัติเส้นโครงแผนที่ที่เหมาะสมต่อตำแหน่งพื้นที่ต่างๆ ของโลกที่ต้องการแสดงลักษณะบนแผนที่ เนื่องจากเส้นโครงแผนที่ที่มีรูปร่างต่างกันจะมีความหมาะสมต่อการแสดงอาณาบริเวณพื้นที่ต่างกัน โดยคุณสมบัติ 3 ชนิดของเส้นโครงแผนที่ ได้แก่ คุณสมบัติคงพื้นที่ คุณสมบัติรักษารูปร่าง และคุณสมบัติคงทิศทาง เราสามารถเลือกใช้เส้นโครงแผนที่เพื่อจัดทำแผนที่ที่มีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

1. คุณสมบัติคงพื้นที่

การทำแผนที่ลักษณะนี้ อาจต้องเสียลักษณะของรูปร่างจริง อัตราส่วนของเนื้อที่บนแผนที่จะเป็นอัตราส่วนเดียวกันกับอัตราส่วนของเนื้อที่บนพื้นโลก คุณสมบัติคงพื้นที่ ได้แก่ เส้นโครงแผนที่แบบกรวย โดยเฉพาะบริเวณเส้นขนานมาตรฐานซึ่งเป็นบริเวณที่กรวยสัมผัสกับลูกโลก โดยมีความแตกต่างกันตามรูปแบบการสัมผัส เช่น แบบกรวยสัมผัส มีคุณสมบัติในการแสดงรายละเอียดของพื้นที่ที่มีรูปร่างยาวไปทางตะวันออก-ตะวันตกได้ดี เช่น แถบประเทศบริเวณคาบสมุทรสแกนดิเนเวีย แต่มีการบิดเบี้ยวมากขึ้นเมื่ออยู่ไกลจากเส้นขนานมาตรฐาน ส่วนแบบกรวยตัดแสดงรายละเอียดในส่วนของพื้นที่ถูกตัดได้ดี ซึ่งมีอยู่ 2 แหล่ง ตามเส้นขนานมาตรฐานที่ตัด 2 เส้น และแบบหลายกรวย ที่มีความถูกต้องในบริเวณเส้นเมริเดียนและเส้นระนาบศูนย์สูตรมาก แต่จะบิดเบี้ยวเมื่อห่างไกลออกไป

2. คุณสมบัติรักษารูปร่าง

การทำแผนที่สำหรับรักษารูปร่างนี้ ส่วนใหญ่ใช้กับบริเวณเนื้อที่เล็กๆ เพราะได้รูปร่างดีกว่าบริเวณเนื้อที่กว้างๆ ภูมิประเทศขนาดใหญ่มักมีลักษณะการบิดเบี้ยวมาก มาตราส่วนก็ไม่คงที่เหมือนกัน ส่วนทิศทางนั้นจะมีความถูกต้อง ในแผนที่ประเภทนี้เส้นขนานกับเส้นเมริเดียนตัดกันเป็นมุมฉาก เส้นโครงแผนที่ที่มีลักษณะเด่นในการรักษารูปร่าง ได้แก่ เส้นโครงแผนที่แบบทรงกระบอกและแบบกรวย ซึ่งรักษารูปร่างบริเวณพื้นที่ที่สัมผัสกับทรงกระบอกหรือแบบกรวย ตัวอย่างเช่น บริเวณเส้นระนาบศูนย์สูตรในเส้นโครงแผนที่แบบเมอร์เคเตอร์ ในแนวเส้นเมริเดียนในเส้นโครงแผนที่แบบทรานสเวอร์สเมอร์เคเตอร์ สำหรับประเทศไทยได้ใช้เส้นโครงแผนที่ชนิดนี้ในการทำแผนที่ฐานของประเทศ เนื่องจากคุณสมบัติที่รักษารูปร่างในแนวเหนือ-ใต้ นอกจากนี้ยังเป็นพื้นฐานของระบบตารางพิกัดฉากแบบยูนิเวอร์แซลทรานสเวิร์สเมอร์เคเตอร์ (Universal Transverse Mercator : UTM) นิยมใช้กันเกือบทั่วโลกเพราะนอกจากคุณสมบัติในการรักษารูปร่างแล้วยังคงทิศทางอีกด้วย

3.คุณสมบัติคงทิศทาง

เป็นแผนที่ซึ่งมีลักษณะคงทิศทางตรงกันกับภูมิประเทศจริง เส้นโครงแผนที่ชนิดนี้มีประโยชน์ในการใช้เป็นแผนที่เส้นทางการเดินเรือ เครื่องบิน แผนที่ดาราศาสตร์ ซึ่งแม้ว่าจะไม่มีคุณสมบัติคงพื้นที่และรักษารูปร่างแต่ยังสามารถทราบถึงทิศทางของวัตถุได้ตรงตามจุดประสงค์ เส้นโครงแผนที่ชนิดนี้ ได้แก่ เส้นโครงแผนที่ที่ใช้ระนาบสัมผัส เส้นโครงแผนที่แบบโนมอน สเตริโอกราฟ และออร์โทกราฟ นอกจากเส้นโครงแผนที่แบบระนาบสัมผัสยังมีเส้นโครงแผนที่แบบทรงกระบอกที่มีคุณสมบัติในการคงทิศทาง ไม่ว่าจะเป็นแบบกอลล์ที่คงทิศทางในแนวเหนือ-ใต้แบบเมอร์เคเตอร์ที่คงทิศทางตามแนวตะวันออก-ตะวันตก ที่เหมาะแก่การทำแผนที่การบินอีกชนิดหนึ่งและทรานสเวิร์สเมอร์เคเตอร์ที่คงทิศทางตามแนวเส้นเมริเดียนกลาง

 

 

 

ที่มา : ตำราเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศศาสตร์

Admin 27/8/2558 823 0
Share :