Head GISDTDA

ชนิดแผนที่และการสร้างสัญลักษณ์

5. ชนิดแผนที่และการสร้างสัญลักษณ์

 

1) การจำแนกและชนิดของแผนที่ (Classification and type of maps)  แบ่งออกเป็น 3 ประเภท ดังนี้คือ

• แผนที่ตามลักษณะของรายละเอียดที่ปรากฏ

– แผนที่ลายเส้น (Line maps) รายละเอียดที่ปรากฏบนแผนที่ลายเส้นอาจเป็น เส้นตรง เส้นโค้งหรือท่อนเส้นใดๆ ก็ได้

– แผนที่รูปถ่าย (Photomap) เป็นแผนที่ที่ทำจากรูปถ่ายทางอากาศของสภาพภูมิประเทศทั้งหมดหรือบางส่วน เพื่อนำมาใช้แทนแผนที่ หรือเพิ่มเติมแผนที่ให้สมบูรณ์ในแผนที่รูปถ่าย มีข้อมูลเกี่ยวกับเส้นกริด รายละเอียดข้อมูลชายขอบระวางแผนที่ เส้นชั้นความสูง ชื่อภูมิศาสตร์ แนวแบ่งเขต และข้อมูลอื่นๆ ที่อาจพิมพ์เพิ่มเติมได้นอกจากนี้ลักษณะของภูมิประเทศ ทางราบ อาจพิมพ์สีต่างๆ ทับลงไปอีกก็ได้

– แผนที่ผสม (Annotated maps) รายละเอียดที่ปรากฏจะผสมระหว่างรายละเอียดที่ได้จากการถ่ายภาพภูมิประเทศกับรายละเอียดที่วาดหรือเขียนขึ้น

•  แผนที่ตามขนาดมาตราส่วน

– แบ่งในทางภูมิศาสตร์ ได้แก่ แผนที่มาตราส่วนเล็ก มีขนาดมาตราส่วนเล็กกว่า 1:1,000,000 แผนที่มาตราส่วนปานกลาง มีขนาดมาตราส่วนตั้งแต่ 1:250,000 ถึง 1:1,000,000 และแผนที่มาตราส่วนใหญ่ มีขนาดมาตราส่วนใหญ่กว่า 1:250,000

– แบ่งในกิจการทหาร ได้แก่ แผนที่มาตราส่วนเล็ก มีขนาดมาตราส่วนตั้งแต่ 1:600,000 และเล็กกว่าแผนที่มาตราส่วนปานกลาง มีขนาดมาตราส่วนใหญ่กว่า 1:600,000 แต่เล็กกว่า 1:75,000 และแผนที่มาตราส่วนใหญ่มีขนาดมาตราส่วนตั้งแต่ 1:75,000 และใหญ่กว่า

• แผนที่ตามลักษณะการใช้งานและชนิดของรายละเอียดที่แสดงไว้ในแผ่นแผนที่ แผนที่ทั่วไปเป็นแผนที่พื้นฐานที่ใช้กันอยู่ทั่วไป แบ่งเป็น 2 ชนิด คือ

– แผนที่แบบราบ (Planimetric map) ได้แก่ แผนที่ซึ่งแสดงรายละเอียดทั่วไปของพื้นผิวพิภพในทางราบมีประโยชน์ในการแสดงตำแหน่งและการหาระยะทางในทางราบ

– แผนที่ภูมิประเทศ (Topographic map) ได้แก่ แผนที่ซึ่งแสดงรายละเอียดทั่วไปของพื้นผิวพิภพในทางราบและทางดิ่ง (ความสูงต่ำของภูมิประเทศ)นอกจากแผนที่ 3 ประเภทข้างต้นแล้วในบางกรณีอาจพบว่ามีการจำแนกแผนที่ออกเป็นแผนที่พิเศษ(Special map) และแผนที่เฉพาะเรื่อง (Thematic map) ซึ่งส่วนมากสร้างขึ้นโดยใช้แผนที่ทั่วไปเป็นพื้นฐาน แล้วนำข้อมูลที่ต้องการแสดงวางทับ ตัวอย่างเช่น

– แผนที่โฉนดที่ดิน (Cadastral map) ใช้แสดงขอบเขตการถือครองที่ดินของผู้ถือกรรมสิทธิ์แต่ละแปลง เป็นแผนที่มาตราส่วนใหญ่มีการจัดสร้างโดยการสำรวจทางภาคพื้นดิน และใช้รูปถ่ายทางอากาศ

– แผนที่เศรษฐกิจ (Economic map) ใช้แสดงลักษณะการกระจายหรือความหนาแน่นของประชากรหรือผลผลิตต่างๆ เส้นทางการค้า การขนส่ง เขตกสิกรรม เขตอุตสาหกรรม แหล่งทรัพยากรต่างๆ เช่น แหล่งแร่ธาตุ และป่าไม้ เป็นต้น

– แผนที่สถิติ (Statistical map) ใช้ในการแสดงรายการทางสถิติ เป็นแผนที่มาตราส่วนเล็กครอบคลุมพื้นที่มาก แบ่งย่อยได้ 3 ชนิด ได้แก่ แผนที่จุด (Dot map) แสดงข้อมูลด้วยจุด แผนที่เส้นค่าเท่า (Isopleth map) เช่นแผนที่ความกดอากาศเท่า อุณหภูมิเท่า เป็นต้น แผนที่โคโรเพลท (Choropleth map) ใช้แสดงความแตกต่างของข้อมูลด้วยสี หรือความอ่อนเข้มของสี ในชุดข้อมูลลักษณะเดียวกัน

 

2) หลักการใช้แผนที่  แผนที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวัน ทางด้านการปฏิบัติงาน การศึกษา การเมือง เศรษฐกิจ สังคมจิตวิทยาและอื่นๆ ทำให้มนุษย์สามารถประกอบภารกิจได้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดี ไม่ว่าจะเป็นงานสำรวจชั้นข้อมูลฐาน ขั้นปฏิบัติงานจริง ด้านการเรียนการสอน รัฐสามารถใช้สภาพภูมิรัฐศาสตร์ในการบริหารประเทศที่เกี่ยวกับกิจกรรมทางการเมืองการทหาร พัฒนาการทางสภาพแวดล้อม เศรษฐกิจและสังคมได้ สิ่งเหล่านี้ทำให้ทราบได้ว่าการทำความเข้าใจแผนที่นั้นมีอยู่ที่ผู้ใช้ทุกระดับ ผู้ใช้แผนที่จึงจำเป็นที่ต้องเข้าใจในส่วนประกอบ ความหมายของสัญลักษณ์ และข้อมูลที่ผู้จัดทำต้องการสื่อสารให้ผู้ใช้ทราบ หลักการใช้แผนที่ก็คือการทำความเข้าใจในส่วนประกอบต่างๆ และเนื้อหาของแผนที่ที่มีอยู่ทั้งในและนอกขอบระวาง ซึ่งผู้ใช้ควรทำความเข้าใจข้อมูลและความหมายของสัญลักษณ์ให้ถูกต้อง อันจะนำไปสู่จุดมุ่งหมายของการใช้แผนที่ตามเป้าประสงค์ของผู้จัดทำแผนที่แต่ละประเภท

 

3) คำจำกัดความ (Definition)  แผนที่ คือ การจำลองสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏบนพื้นผิวโลกมาย่อส่วนให้เล็กลงตามมาตราส่วนที่ต้องการบนแผ่นวัสดุที่เลือกสรรแล้ว สิ่งต่างๆ ที่ปรากฏบนพื้นผิวโลกประกอบด้วยสิ่งที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ รวมทั้งสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นซึ่งแสดงให้ปรากฏด้วยสัญลักษณ์ เส้น สี และรูปทรงสัณฐานต่างๆ

 

4) องค์ประกอบของแผนที่ (Map components)  รูปแบบโดยทั่วไปของแผนที่จะเป็นรูปสี่เหลี่ยม วัสดุที่เลือกนำมาใช้พิมพ์มีหลายชนิดจะต้องมีความคงทน ส่วนใหญ่พิมพ์ลงบนกระดาษ จากขอบริมแผ่นแผนที่ทั้งสี่ด้านประกอบด้วย เส้นกั้นของระวางแผนที่ ซึ่งใช้เส้นแสดงค่าพิกัดกริด หรือเส้นโค้งแสดงค่าพิกัดภูมิศาสตร์ละติจูด และลองจิจูด จากกรณีดังกล่าวทำให้แผนที่ถูกแบ่งออกเป็นพื้นที่ภายในขอบระวางแผนที่ และพื้นที่ภายนอกขอบระวางแผนที่ องค์ประกอบภายนอกขอบระวางแผนที่ เรียกว่า ขอบระวางแผนที่ และองค์ประกอบภายในขอบระวางแผนที่ ได้แก่ สัญลักษณ์ สี ชื่อภูมิศาสตร์ และระบบอ้างอิงการกำหนดตำแหน่ง เป็นต้น

 

5) ระบบอ้างอิงการกำหนดตำแหน่ง (Position reference system)  ระบบอ้างอิงการกำหนดตำแหน่ง เป็นระบบพิกัดตามที่กล่าวมาแล้วในเรื่องระบบพิกัดในแผนที่

 

6) ข้อมูลขอบระวาง (Border data)  ข้อมูลขอบระวาง หมายถึง พื้นที่ตั้งแต่เส้นขอบระวางแผนที่ไปถึงริมแผ่นแผนที่ทั้งสี่ด้าน ปรากฏอยู่บนที่ว่างภายนอกขอบระวาง ผู้ผลิตแผนที่จะแสดงรายละเอียดต่างๆ โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อให้ผู้ใช้ทราบถึงชนิดของแผนที่สามารถใช้แผนที่ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสมกับงาน โดยใช้แผนที่ภูมิประเทศมาตราส่วน 1: 50,000 จากกรมแผนที่ทหารเป็นตัวอย่าง ข้อมูลขอบระวางมีดังนี้

• ชื่อชุดแผนที่ (Series name)  เป็นการบอกชื่อชุดของแผนที่เพื่อจำกัดลงไปว่าแผนที่ชุดนั้นๆ ครอบคลุมบริเวณใด เพราะการทำแผนที่นั้นกว้างขวางมากอาจเป็นแผนที่โลก แผนที่ทวีป แผนที่ประเทศ หรือหลายประเทศ ฉะนั้นจึงจำเป็นต้องบอกชื่อชุดของแผนที่ โดยมีมาตราส่วนประกอบด้วย เช่น “ประเทศไทย 1:50,000” ชื่อชุดนี้พิมพ์ไว้ที่มุมซ้ายส่วนบนของแผนที่

• ชื่อระวางแผนที่ (Sheet name)  เป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของแผนที่แต่ละระวาง เพื่อเป็นการระบุลงไปอีกทีหนึ่งว่าแผนที่ชุดนี้คลุมบริเวณใดเช่น จังหวัดเชียงใหม่ หรือจังหวัดยะลา หรือถ้าคลุมพื้นที่อำเภอก็ใช้ชื่ออำเภอ คลุมพื้นที่หมู่บ้านก็ใช้ชื่อหมู่บ้านแล้วแต่ลักษณะเด่นของบริเวณที่แผนที่ระวางนั้นครอบคลุม ชื่อระวางแผนที่นี้พิมพ์ไว้ที่กึ่งกลางขอบบนของแผนที่ด้วยตัวอักษรตัวใหญ่ที่สุด ทั้งอักษรภาษาไทยและอักษรภาษาอังกฤษ ตัวอย่างเช่น “CHANGWAT CHIANG MAI จังหวัดเชียงใหม่” หรือ “CHANGWAT YALA จังหวัดยะลา” ชื่อระวางแผนที่นี้จะไม่ซ้ำกัน ซึ่งแผนที่ภูมิประเทศมาตราส่วน1:50,000 ทั่วประเทศมีทั้งหมดจำนวน 830 ระวางและมีชื่อระวางแผนที่จำนวน 830 ชื่อ

• การจัดพิมพ์ (Edition note)  การจัดพิมพ์ทำให้ทราบว่าพิมพ์ครั้งที่เท่าใด โดยหน่วยพิมพ์ใด ตัวอย่างเช่น “พิมพ์ครั้งที่ 1 กรมแผนที่ทหาร Edition 1-RTSD” โดยพิมพ์ไว้ที่ขอบขวาบนและซ้ายล่างของแผนที่ซึ่งหมายความว่า พิมพ์ครั้งที่ 1 โดยกรมแผนที่ทหาร (Royal Thai Survey Department)

• หมายเลขระวาง (Sheet number)  เป็นหมายเลขที่กำหนดขึ้น โดยมีการกำหนดแน่นอนตามระบบของอเมริกัน เพื่อให้ทราบว่าแผนที่ระวางนั้นๆ เป็นของส่วนใดในภูมิประเทศจริงตามที่แสดงไว้ในแผนที่ดัชนี (Index chart) เพราะแต่ละระวางมีหมายเลขระวางไม่ซ้ำกัน ประกอบด้วยตัวเลขอารบิค 4 ตัว และเลขโรมัน (I II III หรือ IV) ตัวใดตัวหนึ่ง เช่น แผนที่มาตราส่วน 1:50,000 ได้ 4 ระวาง แสดงดังภาพ

007.png

 

• หมายเลขประจำชุด (Series number)  บอกให้ทราบว่าแผนที่อยู่ในชุดใด เช่น ประเทศไทย มาตราส่วน 1:50,000 มีหมายเลขประจำชุดต่างกัน เช่น L708 ซึ่งเป็นระวางแผนที่ขนาดระวาง 10 ลิปดา x 15 ลิปดา หมายเลขชุด L7017 และ L7018 เป็นแผนที่ขนาดระวาง 15 ลิปดา x 15 ลิปดา หมายเลขประจำชุดนี้ เป็นการกำหนดหมายเลขชุดตามมาตรฐานสากลของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งถือตามข้อตกลงขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติคเหนือหรือ NATO (North Atlantic Treaty Organization) เช่น L708 และ L7017 มีองค์ประกอบ 4 ประการ คือ

– ตัวอักษร L หมายถึง ภูมิภาคหนึ่งของทวีปเอเชีย ซึ่งตรงกับของประเทศไทย

– เลข 7 หมายถึง กลุ่มของมาตราส่วนที่กำหนดไว้แน่นอน คือ ใช้กับแผนที่มาตราส่วนระหว่างมาตราส่วน 1:70,000 ถึง 1:35,000

– เลข 0 หมายถึง ตัวเลขแสดงส่วนย่อยของภูมิภาค เช่น ภูมิภาค 0 มีตัวเลขแสดงส่วนย่อยของไทยกำหนดขอบเขตไว้แน่นอนเป็นเลข 0

– เลข 8 หรือเลข 17 หรือเลข 18 เป็นตัวเลขที่แสดงว่าแผนที่ชุดนั้นจัดทำเป็นครั้งที่เท่าใดในภูมิภาคเช่น ครั้งที่ 8 ครั้งที่ 17 หรือครั้งที่ 18

ฉะนั้นแผนที่ประเทศไทยจึงมีหมายเลขประจำชุดเป็น L708 หรือ L7017 ซึ่งเห็นได้ว่าองค์ประกอบที่ 1 2 และ 3 เหมือนกันเพราะมาตราส่วนเดียวกัน และภูมิภาคเดียวกัน ส่วนองค์ประกอบที่ 4 เปลี่ยนไปตามจำนวนครั้งที่จัดทำแผนที่ และหมายเลขประจำชุดนี้จะปรากฏอยู่มุมขวาบนของแผนที่

• สารบัญระวางติดต่อ (Index to adjoining sheet)  เป็นสารบัญที่แสดงให้ทราบว่าแผนที่ระวางใดเรียงรายอยู่โดยรอบแผนที่ระวางนั้น เพื่อให้สะดวกในการหาแผนที่ระวางถัดไปหรือข้างเคียงตัวอย่างเช่น แผนที่ระวาง 4746 I มีระวางต่างๆ อยู่โดยรอบ สารบัญระวางติดต่อนี้แสดงไว้ที่มุมล่างขวาของแผนที่ ดังภาพ

008.png

• สารบัญแสดงเขตการปกครอง (Index to boundaries)  แสดงไว้ตรงมุมล่างด้านขวาเป็นกรอบสี่เหลี่ยมเล็กๆ แทนแผนที่ระวางนั้น ภายในมีเส้นแสดงอาณาเขตการปกครอง เพื่อให้ง่ายต่อการที่ดูว่าแผนที่ระวางนั้นอยู่ในเขตการปกครองของอำเภอหรือจังหวัดใด โดยมีข้อความอธิบายไว้ใต้รูปสี่เหลี่ยมดังภาพ

009.png

 

• พื้นหลักฐานและระดับพื้นหลักฐาน (Datum and Datum level)  บอกให้ทราบว่าระดับความสูงของตำบล ณ จุดต่างๆ เช่น ระดับพื้นหลักฐานทางดิ่งยึดถือระดับน้ำทะเลปานกลางที่เกาะหลัก จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ ส่วนพื้นหลักฐานทางราบยึดถือตามหลักฐานของประเทศอินเดีย (Indian datum 1975) สำหรับแผนที่ชุด L7017 ส่วนแผนที่ชุด L7018 ใช้อ้างอิงตามหลักฐาน WGS1984 (World eodetic System) ของประเทศสหรัฐอเมริกา

• แผนภาพเดคลิเนชัน (Declination diagram)  แสดงแนวทิศเหนือหลัก 3 ทิศ คือ ทิศเหนือจริง ทิศเหนือกริด และทิศเหนือแม่เหล็ก

– ทิศเหนือจริง (True north) แนวทิศชี้ตรงไปที่ขั้วโลกเหนือ

– ทิศเหนือกริด (Grid north) แนวทิศชี้ขนานกับแนวเส้นกริดตั้ง

– ทิศเหนือแม่เหล็ก (Magnetic north) ชี้ไปยังขั้วเหนือสนามแม่เหล็กโลก ซึ่งจะบ่ายเบนไปแต่ละปีไม่ซ้ำกัน ฉะนั้นในแผนภาพเดคลิเนชัน บอกค่าความบ่ายเบนของทิศเหนือแม่เหล็กประจำปีเอาไว้ ดังภาพ

010.png

ทิศเหนือทั้ง 3 นี้ถ้าอยู่ใกล้บริเวณเส้นศูนย์สูตร จะไม่บ่ายเบนมากและอาจทับกันได้ถ้ายิ่งใกล้ขั้วโลกแนวทิศเหนือทั้ง 3 ชนิดนี้ จะบ่ายเบนมากขึ้น แผนผังเดคลิเนชันนี้แสดงไว้ที่ขอบล่างของแผนที่

 

• มาตราส่วน (Scale)  มาตราส่วนแผนที่ เป็นการแสดงอัตราส่วนเปรียบเทียบระหว่างระยะทางที่วัดได้บนแผนที่ 1 หน่วยกับระยะทางที่วัดได้จริงบนภูมิประเทศ วิธีการแสดงมาตราส่วนแผนที่ทำได้ 3 วิธี คือ มาตราส่วนเส้นบรรทัดเรียกอีกชื่อว่ามาตราส่วนรูปภาพ มาตราส่วนเศษส่วน เช่น 1:50,000 มาตราส่วนคำพูด เช่น 1 เซนติเมตรในแผนที่ เท่ากับ ½ กิโลเมตรในระยะทางบนพื้นที่จริง มาตราส่วนเส้น (Graphic scale) หรือมาตราส่วนรูปแท่ง (Bar scale) มีลักษณะเป็นเส้นตรงกำกับด้วยค่าเท่ากับตามระยะบนพื้นผิวโลก เช่น ถ้ามาตราส่วนสัดส่วน 1: 50,000 มีความหมายตรงกับมาตราส่วนเส้นหรือมาตราส่วนรูปแท่ง ดังนี้ 1 ช่อง กว้าง 2 เซนติเมตร และมาตราส่วนสัดส่วน (Representative fraction) การบอกสัดส่วนเป็นตัวเลข เช่น 1: 50,000 หมายถึง ระยะ 1 ส่วนบนแผนที่ เท่ากับ 50,000 ส่วนบนพื้นผิวโลก

มาตราส่วนแสดงไว้ทั้งมาตราส่วนเศษส่วนและมาตราส่วนเส้นบรรทัดเพื่อประโยชน์ในการวัดระยะทางและพื้นที่ในแผนที่ มาตราส่วนบรรทัดจะแสดงไว้ทั้งระบบอังกฤษและระบบเมตริก ซึ่งจะจัดทำไว้ในหน่วยเมตร หลา ไมล์ และไมล์ทะเล ดังภาพ

011.png

 

• ระดับสูง (Elevation)  ตามปกติแผนที่มาตราส่วน 1:50,000 แสดงช่วงห่างของความสูงของเส้นชั้น 20 เมตร และมีเส้นชั้นแทรกชั้นละ 10 เมตร หลักฐานทางดิ่งคือระดับทะเลปานกลางเป็นหลัก

• เส้นโครงแผนที่ (Projection)  บอกให้ทราบว่าแผนที่ชุดนี้ใช้เส้นโครงแผนที่ชนิดใด เช่น แผนที่ชุดนี้ใช้เส้นโครงแผนที่ชนิดทรานสเวอร์ส เมอร์เคเตอร์ ซึ่งอยู่ในบริเวณละติจูด 84 องศาเหนือ ถึงละติจูด 80 องศาใต้

• คำแนะนำระดับสูง (Elevation Guide)  บอกให้ทราบว่าแผนที่ระวางนั้นมีลักษณะความสูง หรือต่ำอย่างไร และแสดงไว้ในรูปสี่เหลี่ยมทางมุมขวาล่างของแผนที่ ซึ่งมีชั้นแรเงาให้เห็นความแตกต่างเกี่ยวกับระดับสูงอย่างง่ายๆ

• ละติจูดและลองจิจูด (Latitude and Longitude)  เพื่อให้ทราบว่าแผนที่ระวางนั้นอยู่ระหว่างละติจูดและลองจิจูดใดมีตัวเลขบอกค่าละติจูดและลองจิจูดไว้ที่มุมแผนที่ทั้งสี่มุมในหน่วยองศา ลิปดา ตัวอย่างเช่น แผนที่จังหวัดเชียงใหม่ ลำดับชุด L7017 หมายเลขระวาง 4746 I พิกัดละติจูดและลองจิจูด ซึ่งอ่านได้ว่าอยู่ระหว่างละติจูด 19 องศา 15 ลิปดา ถึง 19 องศา 30 ลิปดา และลองจิจูด 98 องศา 45 ลิปดา ถึง 99 องศา 00 ลิปดา

• กริด (Grid)  ในแผนที่มาตราส่วน 1:50,000 มีเส้นกริดลากตัดกันเป็นรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัสเล็กๆ เส้นกริดแต่ละเส้นมีระยะห่างเท่าๆ กัน เช่น ห่างกันทุก 1,000 เมตร และมีตัวเลขกำกับเส้นกริดไว้บริเวณขอบของแผนที่ เส้นกริดเหล่านี้มีประโยชน์ในการบอกที่ตั้งของจุดใดจุดหนึ่งในแผนที่อย่างละเอียด

• คำแนะนำผู้ใช้แผนที่ (User’s guide)  บอกไว้ที่มุมขวาตอนล่างสุดของแผนที่ว่า หากผู้ใช้แผนที่พบข้อมูลบกพร่องหรือความคลาดเคลื่อนใดๆ ในแผนที่ขอให้บันทึกแล้วส่งไปยัง กรมแผนที่ทหาร กรุงเทพฯ 10200 แล้วแผนที่นี้จะส่งกลับคืนมาให้ท่านใหม่

• คำแนะนำการกำหนดตำแหน่งโดยใช้ค่ากริด (Grid reference box)  ทำให้ทราบพิกัดของตำแหน่งใดตำแหน่งหนึ่งโดยละเอียด ตัวอย่างวิธีอ่านพิกัดให้ละเอียดถึง 100 เมตร ได้อธิบายไว้ในกรอบสี่เหลี่ยมตอนล่าง โดยอ่านตัวเลขใหญ่ประจำเส้นกริดดิ่งทางซ้ายของจุด และประมาณระยะ (100 เมตร) จากเส้นกริดถึงจุดเป็นส่วนสิบตัวอย่างคือ 988 หมายความว่าเส้นกริดตั้งซ้ายสุด คือ 98 นับไปทางขวาถึงเส้นกริดตั้ง 99 แบ่งออกเป็นช่องเล็กๆ ให้ได้ 10 ช่องเท่าๆ กัน นับไปถึงจุดตำแหน่งที่ต้องการอ่านตรงกับช่องที่ 8 พอดี ก็อ่านค่าได้ 8 และ 773 หมายความว่าเส้นกริดนอนใต้จุดคือ 77 นับขึ้นไปถึงเส้นกริดนอน 78 แบ่งออกเป็นช่องเล็กๆ ได้ 10 ช่องเท่าๆ กัน นับไปถึงจุดตำแหน่งที่ต้องการอ่านตรงกับช่องที่ 3 พอดีก็อ่านค่าได้ 3 เพราะฉะนั้นถ้าจะอ่านพิกัดจากจัตุรัส 1,000 เมตร ดังรูปข้างล่างนี้ให้ละเอียดถึง 100เมตรจะได้ค่า ดังนี้ 988 773

013.png

 

 

1. การสร้างสัญลักษณ์แผนที่  สัญลักษณ์ (Symbol) ได้แก่เครื่องหมายหรือสิ่งที่คิดขึ้นใช้แทนรายละเอียดที่ปรากฏอยู่บนพื้นภูมิประเทศ หรือใช้แทนข้อมูลอื่นใดที่ประสงค์จะแสดงไว้บนแผ่นแผนที่นั้น ในการสร้างสัญลักษณ์แผนที่มีกฎเกณฑ์ว่า สัญลักษณ์ที่ใช้ต้องเป็นแบบเรียบๆ ชัดเจน ขนาดเหมาะสมกับมาตราส่วนของแผนที่ เขียนได้ง่าย คนทั่วไปมองดูแล้วเข้าใจได้ทันทีโดยไม่ต้องอาศัยคำอธิบายสัญลักษณ์ การสร้างสัญลักษณ์ในแผนที่ทดแทนสิ่งต่างๆ 3 ลักษณะด้วยกันคือ

• ลักษณะทางกายภาพ (Physical features)  คือ สัญลักษณ์ที่ใช้แทนลักษณะรายละเอียดที่ขึ้นตามธรรมชาติโดยมิได้เกิดจากมนุษย์ ได้แก่

– ประเภทใช้แทนแหล่งน้ำ เช่น แม่น้ำลำคลอง หนองบึง บ่อสระ และที่ลุ่มต่างๆ

– ประเภทที่ใช้แสดงลักษณะความสูงต่ำของผิวพื้นภูมิประเทศ เช่น เนินเขา ภูเขา และที่ต่ำ

– ประเภทที่ใช้แทนพืชพันธุ์ไม้ต่างๆ เช่น ลักษณะป่าชนิดต่างๆ

– ประเภทที่ใช้แทนชายฝั่ง เช่น หน้าผา อ่าว หาดทราย เกาะ และปากน้ำ

• ลักษณะทางวัฒนธรรม (Cultural features)  คือ สัญลักษณ์ที่ใช้แทนรายละเอียดที่ปรากฏในภูมิประเทศที่มนุษย์ได้สร้างสรรค์ขึ้นมา ได้แก่

– การใช้ที่ดิน เช่น พื้นที่การเกษตร เหมืองแร่ และพื้นที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรม

– การคมนาคม เช่น ทางรถยนต์ ทางรถไฟ ทางคนเดิน ทางเกวียน และเส้นทางการบิน

– ลักษณะการตั้งถิ่นฐาน บ้าน หมู่บ้าน ตัวเมือง ตลอดจนสิ่งก่อสร้างอื่นๆ เช่น โรงเรียน และวัด

• ลักษณะข้อมูลพิเศษ (Special features)

- เป็นสัญลักษณ์ที่คิดขึ้นเพื่อใช้แสดงแทนข้อมูลที่ผู้ผลิตต้องการแสดงเป็นพิเศษ สัญลักษณ์ประเภทนี้

- ใช้กับแผนที่เฉพาะเรื่อง หรือแผนที่ข้อมูลพิเศษ เช่น แผนที่ดิน แผนที่ป่าไม้ และแผนที่ธรณีวิทยา เป็นต้น

• มาตราส่วนแผนที่ (Map scale)

– ความหมายของมาตราส่วน  ในงานทางด้านแผนที่ คำว่า มาตราส่วน เป็นชื่อที่ใช้เรียกกันโดยทั่วไปของคำว่ามาตราส่วนแผนที่ซึ่งหมายถึง อัตราส่วนเปรียบเทียบระหว่างระยะทางระหว่างจุด 2 จุดใดๆ ในแผนที่กับระยะทางระหว่างจุด 2 จุดนั้นในภูมิประเทศจริงโดยถือว่าระยะทางในแผนที่เป็น 1 หน่วย

014.png

ตัวอย่าง ในกรณีของแผนที่ภูมิประเทศระบุขนาดมาตราส่วนแผนที่เป็น 1:50,000 หน่วยบนพื้นภูมิประเทศจริง ถ้าหากการวัดระยะในแผนที่มีหน่วยการวัดเป็นเซนติเมตร ระยะทางซึ่งยาว 1 เซนติเมตรในแผนที่จะแทนขนาดความยาว 50,000 เซนติเมตร (หรือ 500 เมตร) ในพื้นที่ภูมิประเทศจริง

 

– ประเภทและชนิดของมาตราส่วนแผนที่ มาตราส่วนแผนที่ที่ใช้ในงานแผนที่โดยทั่วไปมี 2 ประเภท

• มาตราส่วนตามแนวดิ่ง (Vertical scale)

015.png

ตัวอย่าง การใช้มาตราส่วนตามแนวดิ่ง ในงานการเขียนภาพหน้าตัดขวาง (Cross section) หรือภาพตัดด้านข้าง (Profile) ของภูมิประเทศ

 

• มาตราส่วนตามแนวราบ (Horizontal scale)

016.png

ตัวอย่าง การกำหนดมาตราส่วนตามแนวราบ ในแผนที่แสดงรายละเอียดเกี่ยวกับตำแหน่งของสิ่งต่างๆ ตามแนวราบ หรือในแผนที่แสดงลักษณะภูมิประเทศ

 

• การคำนวณหามาตราส่วน (Scale calculation)  โดยปกติมาตราส่วนแผนที่มีกำหนดไว้บนแผนที่เพื่อสะดวกต่อการนำไปใช้งาน แต่ในบางครั้งแผนที่ที่ใช้งาน หากไม่มีขนาดของมาตราส่วนกำหนดไว้ ผู้ใช้แผนที่จำเป็นต้องคำนวณหามาตราส่วน ซึ่งต้องอาศัยวิธีการคำนวณอย่างง่ายๆ ดังนี้

– วิธีการหามาตราส่วนแผนที่ด้วยการเปรียบเทียบระยะในแผนที่และระยะในภูมิประเทศ

การคำนวณหามาตราส่วนแผนที่ด้วยวิธีนี้ เริ่มจากการที่ต้องทราบว่าแผนที่ที่ต้องการหามาตราส่วนนั้นครอบคลุมพื้นที่บนภูมิประเทศบริเวณใดบ้าง จากนั้นสังเกตหาจุดที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน ทั้งในแผนที่และในภูมิประเทศจริง ทำการวัดระยะระหว่างจุดดังกล่าวแล้วนำค่ามาเปรียบเทียบกันโดยใช้สมการดังต่อไปนี้

017.png

 

 

ข้อควรระวัง การเปรียบเทียบระยะทางในแผนที่และระยะทางในภูมิประเทศจริงนั้น ต้องใช้ระยะทางที่วัดได้ในหน่วยมาตราเดียวกัน

ตัวอย่าง สมมติว่าวัดระยะทางในแผนที่ของจุด 2 จุดได้เท่ากับ 10 เซนติเมตร และวัดระยะระหว่างจุด2 จุดนั้น ในภูมิประเทศได้เท่ากับ 1,000 เมตร

คำนวณค่ามาตราส่วนแผนที่ (ชนิดมาตราส่วนแบบเศษส่วน)

มาตราส่วนแผนที่          = 10 (เซนติเมตร) / 1,000 (เมตร)

= 10 (เซนติเมตร) / 1,000 x 100 (เซนติเมตร)

= 1:10,000

หรือ ค่ามาตราส่วนแผนที่ชนิดคำพูด หาได้จาก

ระยะทางในแผนที่ 10 เซนติเมตรมีค่าเท่ากับระยะทางในภูมิประเทศจริง         = 1,000 เมตร

ระยะทางในแผนที่ 1 เซนติเมตร มีค่าเท่ากับระยะทางในภูมิประเทศจริง          = 1000/ 10

= 100 เมตร

หรือเขียนได้เป็น 1 เซนติเมตร ต่อ 100 เมตร

– วิธีการหามาตราส่วนแผนที่ด้วยการเปรียบเทียบจากแผนที่ที่ทราบมาตราส่วนอยู่ก่อนแล้ว

วิธีการนี้หมายความว่า แผนที่ที่ต้องการนำไปใช้ปฏิบัติงาน ไม่มีมาตราส่วนกำหนดไว้ การคำนวณหามาตราส่วนแผนที่กระทำได้โดยการเปรียบเทียบจากมาตราส่วนของแผนที่แผ่นที่ทั้งสองซึ่งครอบคลุมเนื้อที่บริเวณเดียวกันและทราบมาตราส่วน

วิธีทำ

1) เลือกจุด 2 จุดที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจน ในแผนที่ทั้งสอง

2) วัดระยะห่างระหว่างจุด 2 จุดนั้นในแผนที่ทั้งสอง

3) นำระยะทางที่วัดได้ในแผนที่ ฉบับที่ทราบมาตราส่วนไปคำนวณหาระยะทางในภูมิประเทศ

4) นำระยะทางที่วัดได้ในแผนที่ฉบับที่ไม่ทราบมาตราส่วน ไปเปรียบเทียบกับระยะทางในภูมิประเทศที่คำนวณได้จากข้อ 3 เพื่อทราบมาตราส่วนตามที่ต้องการ

 

ที่มา : ตำราเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศศาสตร์

 

Admin 9/9/2558 1
Share :