Head GISDTDA

รู้รอบโลก ด้วยข้อมูลจากดาวเทียม

ฤดูกาลแห่งไฟป่าและการเผาไหม้ของบ้านเราเพิ่งจะผ่านพ้นไป แต่อีกซีกโลกหนึ่งทางฝั่งสหรัฐอเมริกากำลังเริ่มคุกรุ่นกันอยู่ทีเดียว ข้อมูลจากนาซ่า เปิดเผยภาพถ่ายจากดาวเทียม Terra- ASTER เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ถึงเหตุการณ์เผาไหม้ที่เกิดขึ้นและกำลังลุกลามในพื้นที่บริเวณเทือกเขาซานตาคาตาลิน่า ทางตอนเหนือของเมืองทูซอน รัฐแอริโซนา ด้วยสภาพแวดล้อมในพื้นที่ที่แห้งมาก ทำให้ไฟได้ลุกลามไปอย่างรวดเร็ว พบพื้นที่เผาไหม้ หรือ Burn Scar ครอบคลุมพื้นที่กว่า 114,000 เอเคอร์ หรือประมาณ 461.34 ตารางกิโลเมตร ซึ่งเจ้าหน้าที่เองพยายามทำแนวกันไฟและดับไฟอย่างต่อเนื่องเพื่อไม่ให้ลุกลามไปมากกว่านี้ (ข้อมูลจาก https://www.jpl.nasa.gov/news/news.php?feature=7690 )

 

วันนี้เราเลยถือโอกาสนี้.. พาทุกคนไปทำความรู้จักกับดาวเทียม Terra- ASTER ที่ใช้ในการติดตามสถานการณ์ไฟป่าและพื้นที่เผาไหม้ในครั้งนี้กันครับ
.
ดาวเทียม Terra- ASTER หรือ Advanced Spaceborne Thermal Emission and Reflection Radiometer เป็นดาวเทียมที่มีเซนเซอร์ประกอบด้วยช่วงคลื่น 14 ช่วงคลื่น ซึ่งประกอบด้วย

* Visible Near-Infrared 3 ช่วงคลื่น
* Shortwave Infrared  6 ช่วงคลื่น
* Thermal Infrared  5 ช่วงคลื่น

โดยมีรายละเอียดข้อมูล 15 เมตร, 30 เมตร และ 90 เมตร และสามารถถ่ายภาพได้ครอบคลุมพื้นที่กว้างถึง 60 กิโลเมตร ด้วยแถบสเปกตรัม 14 แถบที่มองเห็นได้จากพื้นที่ความยาวคลื่นอินฟราเรดความร้อนและความละเอียดเชิงพื้นที่สูงประมาณ 50 ถึง 300 ฟุต (15 ถึง 91 เมตร) ทำให้ ASTER แสดงภาพของพื้นที่โลกที่มีการเปลี่ยนแปลงของพื้นผิวได้อย่างดี การครอบคลุมของสเปกตรัมในวงกว้างและความละเอียดสเปกตรัมสูง ทำให้ ASTER ช่วยให้เหล่านักภูมิศาสตร์และนักวิทยาศาสตร์   มีข้อมูลที่สำคัญสำหรับการทำแผนที่พื้นผิวและการตรวจสอบสภาพพื้นที่แบบไดนามิกรวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกได้อย่างดี  หรือแม้กระทั่งการตรวจสอบความก้าวหน้าและการเคลื่อนตัวของธารน้ำแข็ง การเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ภัยพิบัติ การวิเคราะห์ความเครียดของพืช การกำหนดสัณฐานวิทยาและคุณสมบัติทางกายภาพของเมฆ การประเมินพื้นที่ชุ่มน้ำ การตรวจสอบมลพิษทางความร้อน การเสื่อมสภาพของแนวปะการัง การทำแผนที่อุณหภูมิพื้นผิวของดินและธรณีวิทยา และการวัดสมดุลความร้อนที่พื้นผิว เป็นต้น
.
เป็นยังไงบ้างครับ เทคโนโลยีจากอวกาศช่วยให้เรารู้เรื่องราวต่างๆมากมายเลยทีเดียว ข้อมูลเหล่านี้สามารถนำมาใช้ในการพัฒนาประเทศ และควบคุมสถานการณ์ด้านภัยพิบัติได้เป็นอย่างดีครับ

 

ขอบคุณข้อมูลจาก
Nasa และ ดร.สุรัสวดี ภูมิพานิช  นักภูมิสารสนเทศ จากจิสด้า
#Spacetechnology #จิสด้า #gistda #จิสด้าก้าวสู่ปีที่20

Admin 3/7/2020 1933 0
Share :