Head GISDTDA

แล้วเมื่อนั้น

“พ่อผมเป็นคนเก็บขยะ แม่ผมคือมืออาชีพเรื่องตัดเย็บเสื้อผ้า เพียงแค่นี้ก็ทำให้ชีวิตผมเติมเต็มไปด้วยแรงบันดาลใจเกือบทุกวัน มีเรื่องให้ตื่นเต้นตลอดเวลาจากการเล่าเรื่องของทั้งสองถึงสิ่งที่พบเจอมาในแต่ละวัน โดยเฉพาะในช่วงปิดเทอมพ่อมักจะพาผมไปที่ทำงานด้วย ที่นั้นมันทั้งกว้างใหญ่และคนเยอะมากๆ ผมรู้สึกชอบที่นี่มากครับ เพราะทำให้ผมได้ใช้พลังแห่งการค้นคว้าและเรียนรู้ได้อย่างเต็มที่กับทุกชิ้นส่วนที่เกิดจากคิดค้นและพัฒนา และแม้ว่างานที่นี่จะท้าทายเพียงใดแต่รอยยิ้มบนใบหน้าของเพื่อนๆของพ่อผม ทำให้ผมสัมผัสได้ถึงความภาคภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งที่ได้ช่วยเหลือโลกของเรา อ๋อ ผมลืมบอกไปครับว่า พ่อผมเป็นคนเก็บขยะอวกาศ ส่วนแม่ผมเป็นช่างตัดเย็บชุดมนุษย์อวกาศครับ”

ภาพฝันของเด็กน้อยตัวเล็กๆคนหนึ่ง ที่หลายคนกำลังมองว่าช่างใหญ่เกินตัวเหลือเกิน คงเป็นได้แค่เพียงจิตนาการทางวิทยาศาสตร์ที่ไม่มีทางเป็นจริงไปได้และก็คงจะไม่ใช่บรรยากาศที่เมืองไทยอย่างแน่นอน แต่ทว่าเมื่อเปลี่ยนความฝันให้กลายเป็นเป้าหมายจากแรงบันดาลใจ มันมักจะกลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงที่ยิ่งใหญ่อยู่เสมอ ภาพฝันนั้นจะสามารถเป็นจริงในบ้านเมืองของเราได้ ก็ต้องเริ่มจากการผลักดันให้เกิดเศรษฐกิจอวกาศในประเทศ

เศรษฐกิจอวกาศ คือ กลไลการขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้วยบริการด้านอวกาศที่หลากหลายโดยอาศัยเทคโนโลยีขึ้นสูงสมัยใหม่เพื่อสร้างนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อมนุษย์และสังคมในอนาคต ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้จะช่วยผลักดันทำให้เกิดโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ๆ เพื่อสนับสนุนการพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆที่เกี่ยวข้องกับอวกาศ อาทิ การพัฒนาและผลิตชิ้นส่วนเพื่อสร้างจรวดและดาวเทียม การให้บริการอินเทอร์เน็ตด้วยดาวเทียม การเพิ่มประสิทธิภาพการหาตำแหน่งของสมาร์ทโฟนด้วยดาวเทียม การพัฒนาอาหารสำหรับมนุษย์อวกาศ การพัฒนาชุดมนุษย์อวกาศ และการให้บริการเก็บขยะอวกาศ เป็นต้น

นวัตกรรมอวกาศยังสามารถปรับใช้เพื่อเพิ่มศักยภาพธุรกิจเดิมที่มีอยู่แล้ว เช่น การพยากรณ์อากาศ ธุรกิจพลังงาน ธุรกิจการสื่อสาร ธุรกิจประกันภัย ธุรกิจเกี่ยวกับการเดินทาง ธุรกิจการบิน และการพัฒนาเมือง เป็นต้น โดยที่ผ่านมาอุตสาหกรรมอวกาศและอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องในไทยเติบโตมากขึ้นถึงปีละ 10 เปอร์เซ็นต์ คิดเป็นมูลค่าถึง 35,559 ล้านบาท และขยายตัวอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับดาวเทียมสำรวจและอุตสาหกรรมระบบดาวเทียมนำทางที่มีการนำมาประยุกต์ใช้งานอย่างกว้างในหลายภาคส่วน

ตัวอย่างของการส่งเสริมเศรษฐกิจด้วยอวกาศที่เห็นได้อย่างชัดเจนทุกวันนี้ก็คือพัฒนาการการหาตำแหน่งบนสมาร์ทโฟนที่ปัจจุบันบางรุ่นสามารถรับสัญญาณจากดาวเทียมโดยตรงเพื่อเพิ่มความแม่นยำและทำให้สัญญาณไม่ขาดหาย ช่วยแก้ปัญหาเรื่องการเดินทางไปยังสถานที่ท่องเที่ยวหรือร้านอาหารในย่านที่เราไม่คุ้นเคยให้แตกต่างจากการเดินทางในอดีตอย่างสิ้นเชิง ตัวอย่างนี้แสดงให้เห็นถึงการเพิ่มศักยภาพของอุปกรณ์ที่เรามีอยู่แล้วแต่นวัตกรรมอวกาศสามารถส่งเสริมให้มันตอบโจทย์กับการใช้ชีวิตของมนุษย์ในยุคปัจจุบันได้ดียิ่งขึ้น

ศักยภาพที่ประเทศไทยเราไม่เคยเป็นรองประเทศใดนั้นก็คือการผลิตสิ่งทอ ซึ่งหากมีการส่งเสริมเทคโนโลยีให้เกิดการพัฒนาเส้นใยเพื่อสามารถนำมาใช้กับชุดมนุษย์อวกาศในภารกิจนอกโลกในอนาคตได้ ก็นับว่าจะเป็นการเปิดศักราชใหม่ให้กับพี่น้องกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอที่กระจายอยู่ทั่วประเทศไปในตัว ซึ่งประเทศไทยเรามีทั้งประสบการณ์และผู้เชี่ยวชาญด้านนี้มายาวนาน และพร้อมที่จะต่อยอดสู่การประยุกต์ใช้ในอวกาศ
.
สำหรับคนยุคใหม่นับว่าเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอวกาศ เนื่องจากในขั้นตอนการพัฒนานวัตกรรมในอุตสาหกรรมอวกาศจำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้สมัยใหม่จากต่างประเทศโดยเฉพาะทักษะด้านวิศวกรรมและการเขียนโปรแกรมเพื่อพัฒนาให้อุปกรณ์เหล่านั้นสามารถสื่อสารกับดาวเทียมหรือทำงานร่วมกับข้อมูลจากดาวเทียมได้อย่างมีประสิทธิภาพ นั่นหมายความว่าการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอวกาศจะเป็นโอกาสสำคัญในการสร้างงานสร้างอาชีพจำนวนมากเข้าสู่อุตสาหกรรมอวกาศ

หากมองในภาพรวมเศรษฐกิจอวกาศก็คือการสร้างโมเดลธุรกิจโฉมใหม่ของประเทศไทยที่เดิมเรามีแต่ การส่งออก การลงทุน และการท่องเที่ยว เป็นส่วนสำคัญของระบบเศรษฐกิจไทย ซึ่งเศรษฐกิจอวกาศของประเทศจะเติบโตได้ขึ้นอยู่กับพัฒนาการของทุกภาคส่วนที่อยู่ในอุตสาหกรรมอวกาศของประเทศ

ประเทศไทยมีกิจการที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอวกาศและอุตสาหกรรมต่อเนื่องจำนวนมากกว่า 35,600 กิจการ ร้อยละ 95 ของกิจการทั้งหมดเป็นวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และเป็น Startup ก่อให้เกิดผลประโยชน์ทางตรงต่อเศรษฐกิจ สามารถสร้างรายได้ให้กับประเทศมากกว่า 5 หมื่นล้านบาทต่อปี แต่ก็ยังเป็นตัวเลขที่สามารถโตขึ้นได้มากกว่านี้อีกหลายเท่าตัว ซึ่งนักวิเคราะห์บางคนประกาศว่าอุตสาหกรรมอวกาศอาจกลายเป็นอุตสาหกรรมล้านล้านดอลลาร์ต่อไปภายในปี 2583

ปัจจุบันบริษัทสัญชาติไทยในกลุ่มสายการผลิตชิ้นส่วนดาวเทียมจำนวนหนึ่งกำลังได้รับโอกาสที่สำคัญในการทำงานร่วมกับบริษัท Airbus เพื่อผลิตชิ้นส่วนสำหรับดาวเทียมขนาดเล็กภายใต้โครงการธีออส-2 เพื่อยกระดับทักษะให้ผู้ประกอบการเหล่านั้นสามารถก้าวสู่อุตสาหกรรมอวกาศ รองรับการเติบโตของเศรษฐกิจอวกาศของประเทศไทยในอนาคต

นอกจากนั้นเพื่อเป็นการเตรียมการก้าวสู่ยุคเศรษฐกิจอวกาศ ปัจจุบันประเทศไทยอยู่ในระหว่างเตรียม (ร่าง) พระราชบัญญัติกิจการอวกาศ เพื่อเป็นแผนการบริหารจัดการด้านกิจการอวกาศ ทั้งภาครัฐและเอกชน และเป็นการกำกับดูแลการดำเนินกิจการให้อยู่ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศด้านอวกาศไปพร้อมกัน

ด้วยศักยภาพของประเทศไทยในอีกหลายๆด้านสามารถผลักดันให้เกิดเศรษฐกิจอวกาศใหม่ได้ อาทิเช่น ด้านภูมิศาสตร์มีที่ตั้งติดทะเลและเส้นศูนย์สูตรสามารถเป็น “สเปซพอร์ต” ด้านโครงสร้างพื้นฐานอาคารประกอบและทดสอบดาวเทียม (AIT) ปัจจุบันตั้งอยู่ที่อุทยานรังสรรค์นวัตกรรมอวกาศ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ซึ่งอยู่ใกล้กับท่าเรือแหลมฉบังทำให้สะดวกในการขนย้ายชิ้นส่วนอุปกรณ์ เป็นต้น

20 กว่าปีมาแล้วที่ไทยเข้าสู่วงการอวกาศ โดยเริ่มต้นจากงานภูมิสารสนเทศจนปัจจุบันกลายเป็นแนวหน้าในภูมิภาคอาเซียน และเราไม่สามารถที่จะปฎิเสธการเปลี่ยนแปลงสู่โลกแห่งเทคโนโลยีได้ นี่จึงเป็นโอกาสสำหรับประเทศไทยอีกครั้งที่จะวางรากฐานสู่อนาคตที่ดีขึ้นเพื่อลูกหลานของเราในอนาคต เพราะอวกาศเป็นพื้นที่แห่งโอกาส แล้วเมื่อนั้น..ภาพแห่งความฝันของเด็กอีกหลายๆคนจะกลายเป็นความจริง

#จิสด้าก้าวสู่ปีที่21 #จิสด้า #GISTDA #อวกาศ #อุตสาหากรรมอวกาศ #เศรษฐกิจอวกาศ #ดาวเทียม #ผู้ประกอบการ #อนาคตประเทศไทย #เศรษฐกิจ #ภูมิสารสนเทศ #ธีออส2 #ความฝัน #แรงบันดาลใจ

Admin 12/1/2564 927 0
Share :