9 กุมภาพันธ์ 2564 กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) โดยสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ร่วมกับ สถาบันวิจัยสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ สาธารณรัฐเกาหลี (National Institute of Environmental Research: NIER) นำเทคโนโลยีอวกาศมาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศในประเทศไทย โดยจัดทำบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (Memorandum of Cooperation – MOC) เรื่อง การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีอวกาศเพื่อจัดการปัญหาสิ่งแวดล้อมและมลพิษพร้อมติดตั้งเครื่องมือเพื่อติดตามสภาวะคุณภาพอากาศในประเทศไทย
ดร.ปกรณ์ อาภาพันธุ์ ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวว่า ความร่วมมือครั้งนี้มีวัตถุประสงค์หลักในการใช้ข้อมูลจากดาวเทียม Geostationary Environmental Monitoring Sensors หรือ ดาวเทียม GEMS ของสาธารณรัฐเกาหลี และข้อมูลภาคพื้นดินจาก อุปกรณ์ตรวจวัดมลพิษและสภาพอากาศภาคพื้นดิน Pandora และsensor อื่นๆ ในการติดตามและบริหารจัดการปัญหามลพิษทางอากาศของไทยโดยเฉพาะ PM 2.5 ซึ่งไทยเองก็เคยติดอันดับ 1 ใน 5 ของโลกที่มีปัญหามลพิษทางอากาศจากการจัดอันดับของ Airvisual เมื่อช่วงเดือนธันวาคม 2563 ที่ผ่านมา โดยนอกจาก GISTDA แล้วยังมีกรมควบคุมมลพิษ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ภาคีเครือข่ายหน่วยงานด้านการวิจัยมลพิษทางอากาศ อาทิ สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณะภัย สถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) คณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมสำหรับเอเชียแปซิฟิกแห่งสหประชาชาติ และมหาวิทยาลัยต่างๆ เป็นต้น ร่วมด้วย หน่วยงานดังกล่าวจะร่วมกันกับ NIER ถ่ายทอดองค์ความรู้ในการใช้ข้อมูลจาก GEMS และ Pandora รวมไปจนถึง sensor อื่นๆ ที่มีอยู่แล้วมาพัฒนาเป็นผลิตภัณฑ์ที่สามารถติดตามการตรวจวัดมลภาวะทางอากาศได้อย่างถูกต้อง มีประสิทธิภาพ มีความแม่นยำสูงสุด และสามารถรายงานข้อมูลได้เป็นรายชั่วโมงอีกด้วย ทั้งนี้ นอกจากการใช้ข้อมูลประจำวันซึ่งจะได้รับข้อมูลแบบทันทีที่มีการติดตั้งอุปกรณ์เรียบร้อยแล้ว คาดว่าผลิตภัณฑ์ดังกล่าวจะเสร็จสมบูรณ์และสามารถพร้อมให้บริการเต็มรูปแบบภายในปี 2565 ได้อย่างแน่นอน
ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าวต่อว่า ผลจากความร่วมมือนี้จะทำให้ประชาชนคนไทยมีความปลอดภัยและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นจากการป้องกันมลพิษทางอากาศ ทั้งนี้ GISTDA เครือข่ายพันธมิตร และ NIER ยังมีแผนต่อยอดความร่วมมือไปสู่การหาสาเหตุ แนวทางการป้องกัน และการลดผลกระทบจากมลพิษทางอากาศต่อประชาชน นอกจากนี้ จะช่วยให้เครือข่ายนักวิจัยด้านสิ่งแวดล้อมและมลพิษของไทยได้มีโอกาสในการขยายความร่วมมือวิจัยและพัฒนาด้านสิ่งแวดล้อมและมลพิษไปสู่ระดับภูมิภาค และนานาชาติต่อไป ซึ่งจะเป็นการยกระดับงานวิจัยให้เป็นที่ยอมรับในเวทีระดับโลกอีกด้วย
ส่วนแผนการดำเนินการนั้น จะเริ่มมีการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดทางพื้นดินที่กรุงเทพฯ ปทุมธานี เชียงใหม่ และสงขลาในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2564 และเริ่มทดสอบข้อมูลตั้งแต่เดือนเมษายนเป็นต้นไป เพื่อร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถติดตามตรวจวัดมลภาวะทางอากาศได้อย่างถูกต้อง แม่นยำ และมีประสิทธิภาพ สูงสุดต่อไป และความร่วมมือในครั้งนี้ถือเป็น 1 ในภารกิจสำคัญภายใต้ความร่วมมือระหว่างไทยกับสาธารณรัฐเกาหลีอย่างเป็นทางการ ซึ่งทั้ง 2 ประเทศต่างเห็นพ้องต้องกันที่จะขยายความสำเร็จจากความร่วมมือนี้ไปสู่ประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อความเจริญรุ่งเรืองอย่างยั่งยืนและปลอดภัยของประชาชนในภูมิภาคในอนาคต ผู้อำนวยการ GISTDA กล่าว
This website uses cookies. Our website creates and utilizes cookie data in order for your visit to be smooth, efficient, and private. Please read our cookie policy and GISTDA's personal data protection policy for further detail.
This website uses cookies. Our website creates and utilizes cookie data in order for your visit to be smooth, efficient, and private. Please read our cookie policy and GISTDA's personal data protection policy for further detail.