Head GISDTDA

ความก้าวหน้าโครงการพัฒนาดาวเทียมเล็ก (THEOS-2 SmallSAT)

สวัสดีครับ..!! แอดมินมาแล้ว มาพร้อมกับสาระความรู้อีกเช่นเคย เรายังคงตามติดกับเรื่องราวของโครงการธีออส 2 ซึ่งก่อนหน้านี้แอดมินได้นำเสนอองค์ความรู้ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการสร้างดาวเทียมและได้รับความสนใจจากลูกเพจเป็นจำนวนมาก สอบถามเข้ามาทางอินบ๊อกกันมากมาย วันนี้ก็เป็นอีกเรื่องราวหนึ่งที่น่าสนใจ เราจะไปตามติดความก้าวหน้าของการพัฒนาดาวเทียมเล็กไปด้วยกันครับ

ด้านความก้าวหน้าในการประกอบและทดสอบดาวเทียม THEOS-2 SmallSAT นั้น ณ ตอนนี้ได้ติดตั้งอุปกรณ์ Power Distribution Module (PDM), Core Data Handling System (CDHS), Magnetometer, Gyro, Sun sensor และ Magnetorquer Rod บน Flat-sat แล้ว หลังจากนั้นได้ติดตั้งอุปกรณ์เพิ่มเติมดังนี้ คือ

  • Star Tracker ที่ใช้ในการในการอ้างอิงตำแหน่งดวงดาวเพื่อการควบคุมการทรงตัวที่แม่นยำมากขึ้น
  • Reaction wheel ที่ใช้ในการให้กำลังในการขยับตัวเพื่อการทรงตัวของดาวเทียม โดยในดาวเทียม THEOS-2 SmallSAT ติดตั้งทั้งหมด 4 ตัว และจัดวางแบบพิรามิดที่สมมาตรกัน
  • เซตอัพระบบ S-band Transceiver บน Electrical Ground Support Equipment (EGSE) ในส่วนของ Amergint system ให้สามารถใช้งานรับส่งคำสั่งควบคุมดาวเทียม และข้อมูลสุขภาพดาวเทียม กับ CDHS ได้
  • เซตอัพระบบ Global Navigation Satellite System (GNSS) บน CDHS ให้สามารถรับสัญญาณจากดาวเทียม GNSS ได้
  • Data Handling Unit (DHU) ที่ใช้ในการจัดการและจัดเก็บข้อมูลที่เป็นภาพถ่ายดาวเทียม และข้อมูลจากเพย์โหลดที่ 2 และ 3 ต่อมา
  • X-band transmitter ที่ใช้ในการเข้ารหัสข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียม และข้อมูลจากเพย์โหลดที่ 2 และ 3 เป็น Digital และแปลงเป็นอนาล็อกพร้อมขยายสัญญาณ ก่อนส่งต่อให้สายอากาศเพื่อดาวน์ลิ้งข้อมูลมายังพื้นโลก

 
ขั้นตอนต่อไปจากนี้จะติดตั้ง Battery Charge Module (BCM) ที่ควบคุมการชาร์จแบตเตอรี่, Payload Interface Board (PIB) ที่ใช้ควบคุมการสลับการทำงานของเพย์โหลดที่ 2 และ 3 และเป็นส่วนที่วิศวกรไทยออกแบบเองทั้งหมด, แบตเตอรี่ และก็ Automatic Identification System (AIS) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเพย์โหลดที่ 2 เพื่อใช้ในการตรวจสัญญาณเรือที่ส่งสัญญาณเพื่อ identify ตัวเองบนน่านน้ำต่างๆ ทั้งนี้ระหว่างประกอบและติดตั้งทางวิศวกรต้องแก้ปัญหาทั้งทาง software และ Hardware อยู่ตลอดซึ่งเป็นเรื่องปกติกับอุปกรณ์ที่ไม่เคย interface กันมาก่อน แต่ทุกอย่างต้องทำด้วยความระมัดระวัง ซึ่งผู้เชี่ยวชาญของ SSTL ก็จะย้ำอยู่ตลอดว่า “Don’t rush!” หมายถึง ไม่ต้องรีบนั่นเอง

ในส่วนของเพย์โหลดที่ 3 ดำเนินการทดสอบในแต่ละอุปกรณ์เบื้องต้นผ่านเรียบร้อยแล้ว โดยในครั้งนี้ทางวิศวกรไทย เริ่มนำซอฟแวร์ที่พัฒนามาทดลองบน Engineering Model (EM) ที่ใช้ทดสอบซอฟแวร์ ทั้งแบบรายอุปกรณ์ และสั่งงานผ่าน Raspberry Pi ตามที่ได้กล่าวไปแล้วว่าเพย์โหลดที่ 3 เป็นการนำอุปกรณ์ Commercial off-the-shelf (COTS) ทั้ง Raspberry PI, Gyro, Magnetometer, GNSS, sun sensor เป็นต้น ที่ใช้บนพื้นโลกเป็นส่วนใหญ่มาทดลองใช้บนอวกาศ ซึ่งปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายในการทดสอบซอฟแวร์ คือการทดลองสั่งงานตาม CONOPS หรือ Concept of Operations ซึ่งมีทั้งหมด 6 โหมด คือ ถ่ายภาพแบบ single shot, strip shot, video, selfie, โหมดการทดลองเปรียบเทียบค่าการทรงตัวดาวเทียมจากอุปกรณ์หลักของดาวเทียมกับเพย์โหลดที่ 3 และการอัพเดทค่า configuration เผื่อใช้ในการอัพเดทโค๊ดกรณีที่ดาวเทียมขึ้นสู่วงโคจรแล้ว เมื่อทดสอบเสร็จก็จะนำโค๊ดไปลงในเพย์โหลดที่ 3 อีกชุดนึงที่เป็น Engineering Qualification Model (EQM) ที่จะใช้ในการทดสอบ Thermal Ambient และ Vibration ต่อไป และในส่วน Customer Engineer (CE) sun sensor ที่วิศวกรไทยออกแบบเองนั้น ดำเนินการแล้วเสร็จ ซึ่งอยู่ระหว่างการทดสอบการสั่งงานผ่าน Raspberry PI และเตรียมทำการ Calibration ที่ University of Surrey เร็วๆนี้

อีกกิจกรรมที่สำคัญและน่าสนใจเป็นอย่างยิ่ง คือ In-Country Manufacturing โดยจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมผู้ประกอบการไทยให้มีส่วนร่วมในการผลิตชิ้นส่วนดาวเทียม ซึ่งได้ดำเนินการมาแล้วหลายเดือน โดยได้คัดเลือกชิ้นส่วนที่มีความเป็นไปได้ระหว่างวิศวกรไทยในอังกฤษ กับเจ้าหน้าที่ SSTL และได้รับการสนับสนุนจากทีมงานเจ้าหน้าที่ GISTDA ที่ประเทศไทยในการติดต่อประสานงานกับบริษัทในประเทศไทย ซึ่งเป็นการเรียนรู้ร่วมกันว่าการสั่งผลิตชิ้นส่วนดาวเทียมในอุตสาหกรรมของการผลิตดาวเทียมจริงๆ แล้วนั้นเขาทำกันอย่างไร จนปัจจุบันความคืบหน้าในเฟสแรกนั้น SSTL ได้สั่งผลิตชิ้นส่วนไปแล้ว จำนวน 34 ชิ้น จาก 4 บริษัท และส่งมาตรวจสอบที่ประเทศอังกฤษ จำนวน 10 ชิ้น ซึ่งได้ผลเป็นที่น่าพอใจ และพิจารณานำไปประกอบเข้ากับดาวเทียมเพื่อใช้บนอวกาศจริงแล้วอย่างน้อย 1 ชิ้น ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างการตรวจสอบขั้นสุดท้าย จึงถือเป็นก้าวที่สำคัญที่ประเทศไทยจะได้มีมาตรฐานในการผลิตชิ้นส่วนดาวเทียม ซึ่งเป็นความจำเป็นและมีความสำคัญต่อวงการที่จะพัฒนาอุตสาหกรรมอวกาศในประเทศในอนาคตต่อไป

ขอบคุณข้อมูลจาก
นายลิขิต วรานนท์  ผู้จัดการโครงการพัฒนาดาวเทียมเล็ก (THEOS-2 SmallSAT)

Admin 14/12/2563 1232 0
Share :