Head GISDTDA

ขั้นตอนการเตรียมแผ่นผนังรังผึ้ง หรือ Honey comb sandwich panel เพื่อใช้เป็นโครงสร้างภายนอก

ฝนตกพรำๆ แต่แอดมินยังคงขยันนำสาระดีๆ จากจิสด้ามาเล่าสู่กันฟังครับ สาระที่ว่านั้นคือ ความคืบหน้าของ THEOS-2 ในต่างแดนนั่นเอง...

วันนี้เราจะพามาดูขั้นตอนการเตรียมแผ่นผนังรังผึ้ง หรือ Honey comb sandwich panel เพื่อใช้เป็นโครงสร้างภายนอก ของดาวเทียม Theos-2 SmallSAT ครับ
ก่อนอื่นต้องขออธิบายว่า เราไม่ได้ใช้รังผึ้งจริงๆมาทำนะครับ และไม่มีผึ้งตัวไหนที่จะถูกทารุณอย่างแน่นอน จริงๆแล้วชื่อแผ่นผนังรังผึ้งมีที่มาจากไส้กลางของแผ่น ซึ่งทำมาจากวัสดุพรุนรูปทรงแปดเหลี่ยมคล้ายรังผึ้ง อย่างในดาวเทียม Theos-2 SmallSAT จะทำมาจากอลูมิเนียม เพราะราคากับคุณสมบัติเหมาะสมกับการใช้งานในอวกาศ การเลือกใช้วัสดุแผ่นผนังรังผึ้งจะช่วยลดน้ำหนักของดาวเทียมได้เป็นอย่างดี แต่ยังคงไว้ซึ่งความแข็งแรง ซึ่งเป็นหัวใจหลักของการออกแบบโครงสร้างในดาวเทียม ครับ

วิศวกรทั้ง 3 คนของเรา ได้มาเรียนรู้และลงมือปฏิบัติงานร่วมกับวิศวกรพี่เลี้ยง (mentor) ในกระบวนการผลิตชิ้นงานจริง ที่จะถูกส่งขึ้นไปโคจรในอวกาศในอีกไม่ช้านี้

โดยเริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการตัดแผ่นผนังรังผึ้งตามที่ได้ออกแบบไว้ด้วยเครื่องตัดชิ้นงานควบคุมอัตโนมัติด้วยคอมพิวเตอร์ (CNC machining) ผ่านการตรวจสอบคุณภาพและขนาดของชิ้นงาน ด้วยอุปกรณ์วัดหลายแกนความละเอียดสูง (CMM inspection) หลังจากนั้น เราจะนำแผ่นผนังรังผึ้งดังกล่าวมาทำการตัดแต่งขอบ และทำความสะอาด เพื่อป้องกันไม่ให้เศษวัสดุหลุดเข้าไปปะปนในดาวเทียม แล้วจึงทำการติดตั้งวัสดุ insert ลงในแผ่นผนังรังผึ้ง เพื่อใช้เป็นจุดเชื่อมต่อเข้ากับชิ้นส่วนอื่นๆของดาวเทียม

ทั้งนี้ ทุกขั้นตอนต้องมีการควบคุมคุณภาพอย่างเคร่งครัด เนื่องจากทุกชิ้นส่วนต้องประกอบเข้าด้วยกันได้พอดีตามที่ออกแบบไว้เท่านั้น ไม่มีการออกแบบเผื่อสำหรับความผิดพลาด นับเป็นความท้าทายพิเศษของภารกิจอวกาศจริงๆ เลยครับ..

cr.ชิดชนก ชัยชื่นชอบ วิศวกรดาวเทียมของโครงการระบบดาวเทียมTHEOS-2
 

Admin 5/8/2020 1210 0
Share :